ถูกเลิกจ้างเพราะติดโควิด ต้องได้รับค่าชดเชย

02 พ.ค. 2565 | 12:35 น.

กสร. แจงลูกจ้างเข้าข่ายเป็นโควิด นายจ้างมีสิทธิสั่งตรวจหาเชื้อ หากเลิกจ้างด้วยเหตุโควิด ลูกจ้างต้องได้รับค่าชดเชย

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานชี้แจงกรณีลูกจ้างที่เข้าข่ายติดเชื้อไวรัส COVID-19 นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างตรวจหาเชื้อได้ ถือเป็นเหตุอันสมควร แต่หากจะเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุนี้ ไม่ถือเป็นความผิดร้ายแรงที่เกิดจากการกระทำของลูกจ้าง ลูกจ้างต้องได้รับค่าชดเชย

 

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ชี้แจงว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID–19 ที่ขยายตัวเป็นวงกว้าง และจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังไม่ลดจำนวนลง  หากนายจ้างมีข้อสงสัยว่าลูกจ้างเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น ลูกจ้างสัมผัสกับผู้ป่วยหรือลูกจ้างอยู่ในครอบครัวเดียวกับผู้ป่วย จึงมีคำสั่งไม่ให้ลูกจ้างมาทำงานและให้กักตัว ณ ที่พักอาศัยเพื่อเฝ้าดูอาการ นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง เพราะคำสั่งให้ลูกจ้างกักตัวเป็นคำสั่งให้หยุดงานเพื่อประโยชน์ของนายจ้าง จะถือว่าการปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างดังกล่าวเป็นการขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่ของลูกจ้างไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตามนายจ้างอาจตกลงกับลูกจ้างให้ใช้สิทธิการลาป่วย หรือหยุดพักผ่อนประจำปีได้ รวมไปถึงนายจ้างสามารถสั่งให้ลูกจ้างเข้ารับการตรวจจากแพทย์ ด้วยเหตุที่ลูกจ้างอยู่ในข่ายเป็นผู้ติดเชื้อ COVID–19 ถือว่านายจ้างมีเหตุผลอันสมควรที่จะมีคำสั่งให้ลูกจ้างเข้ารับการตรวจได้

 

เพราะหากไม่ดำเนินการอาจเป็นอันตรายและกระทบต่อสุขภาพอนามัยของลูกจ้างคนอื่น หรือกระทบต่อกิจการของนายจ้างได้ สอดคล้องกับมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด

 

 

ฉะนั้น คำสั่งของนายจ้างดังกล่าว ถือเป็นคำสั่งเพื่อป้องกัน เฝ้าระวัง รักษา ควบคุมมิให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID–19 เกี่ยวกับการทำงานที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม โดยนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างตามปกติ หากลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร นายจ้างก็อาจปฏิเสธไม่ให้ลูกจ้างเข้าสถานที่ทำงาน และไม่จ่ายค่าจ้างให้ หรืออาจลงโทษทางวินัย เช่น ตักเตือนลูกจ้างด้วยวาจาหรือตักเตือนเป็นหนังสือ เป็นต้น

 

หากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุลูกจ้างติดเชื้อไวรัส COVID-19
ถือว่าไม่ได้เป็นความผิดร้ายแรงที่เกิดจากการกระทำของลูกจ้าง ไม่ใช่การกระทำผิดวินัย ลูกจ้างมีสิทธิ
ได้รับค่าชดเชย