บริติช เคานซิล นำทีมดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านอาหารแห่งอนาคต

10 เม.ย. 2565 | 05:34 น.

บริติช เคานซิล ร่วมกับ เมืองนวัตกรรมอาหาร ดึงผู้เชี่ยวชาญสหราชอาณาจักร ร่วมวงสรุป 5 ตัวแปรสำคัญอุตสาหกรรม BCG ด้านอาหารและเกษตร พร้อมร่างกรอบวิสัยทัศน์ ผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านอาหารแห่งอนาคต

บริติช เคานซิล ประเทศไทย ร่วมกับ เมืองนวัตกรรมอาหาร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ต่อยอดโครงการการใช้ศาสตร์คาดการณ์อนาคตในอุตสาหกรรมบีซีจี (Foresight into the BCG Economy) ดึงผู้เชี่ยวชาญด้านการคาดการณ์อนาคต (Foresight) จากสหราชอาณาจักร ร่วมเวิร์คช็อปกับนักวิจัย ผู้ประกอบการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้กำหนดนโยบายชาวไทยในอุตสาหกรรมบีซีจีด้านอาหารและการเกษตร

บริติช เคานซิล นำทีมดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านอาหารแห่งอนาคต

โดยผลของการโครงการนี้จะถูกส่งต่อไปยัง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการการกำหนดนโยบายและกรอบงานวิจัยและนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจบีซีจีของประเทศไทย ในขณะเดียวกันผลของโครงการยังจะถูกแชร์ในระดับอาเซียนเพื่อเป็นกรณีตัวอย่างการทำงานร่วมกันระหว่างผู้กำหนดนโยบายในประเทศ ภาคอุดมศึกษา ภาคเอกชน และผู้เชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักรอีกด้วย

นางเฮลก้า สเตลมาเกอร์ ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีทรัพยากรที่หลากหลายที่สามารถนำพาประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เมื่อประกอบกับทิศทางของรัฐบาลที่ได้สนับสนุนการใช้โมเดลบีซีจี (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) ให้เกิดการเติบโตที่ยั่งยืน

 

แต่การที่จะไปสู่จุดนั้นได้ บุคลากรจำเป็นต้องมีความเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับตัวแปรต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของอุตสาหกรรม เพื่อที่จะสามารถดำเนินงานไปอย่างถูกทิศทาง ซึ่งในฝั่งของสหราชอาณาจักรเองนั้น ได้มีการนำเอาทักษะการคาดการณ์อนาคต (Foresight) มาเป็นเครื่องมือหลัก เพื่อวิเคราะห์ถึงเทรนด์ และตัวแปรต่าง ๆ ก่อนที่จะทำการกำหนดวิสัยทัศน์และสร้างแผนงานโรดแมปของประเทศ

ในปี 2561 – 2563 ที่ผ่านมา บริติช เคานซิล ได้ร่วมมือกับเมืองนวัตกรรม (Food Innopolis) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัย Cranfield University จากสหราชอาณาจักร เพื่อดำเนินโครงการ Foresight for Food และได้ข้อมูลเพื่อจัดทำเป็นโรดแม็ปการจัดการอาหารของประเทศไทยไปแล้วนั้น ปัจจุบันได้ต่อยอดมาเป็นโครงการ Foresight into the BCG Economy เพื่อขยายผลไปสู่ 4 ภาคส่วน ได้แก่

1) อาหารและการเกษตร

2) สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

3) สิ่งแวดล้อม 

4) การท่องเที่ยว

 

เพื่อสร้างขีดความสามารถด้านทักษะการคาดการณ์อนาคต พัฒนากรอบการทำงาน และแผนกลยุทธ์สำหรับผู้กำหนดนโยบาย มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยของไทย ใน 4 อุตสาหกรรม นางเฮลก้า กล่าวเพิ่มเติม

 

ด้าน ศ.โรนัลด์ คอร์สตานจ์ หัวหน้าศูนย์สารสนเทศการเกษตรและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแครนฟิลด์ กล่าวว่า ในครั้งนี้เราได้ผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 60 คนที่เป็นนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบการ และผู้กำหนดนโยบาย ที่ทำงานในอุตสาหกรรมบีซีจีในประเทศไทย โดยการเวิร์คช็อปเริ่มต้นด้วยการแนะนำ 3 กระบวนการหลักของการคาดการณ์อนาคตจากสหราชอาณาจักร ได้แก่ การสำรวจสภาพแวดล้อม (Horizon scanning) การกำหนดวิสัยทัศน์ และการสร้างโรดแมป

 

ซึ่งหลังจากการทำเวิร์คช็อปนั้นได้ระบุออกมาเป็น 5 ตัวแปรสำคัญที่กำลังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมด้านอาหารและการเกษตร ซึ่งเป็นตัวที่เชื่อมโยงธุรกิจภายใต้ BCG ทุกสาขาเข้าไว้ด้วยกัน คือ

1) การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

2) ความสนใจเรื่องสุขภาพของผู้บริโภค

3) ทิศทางและนโยบายระดับประเทศ

4) เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอาหาร

5) ความมั่นคงทางอาหาร

นอกจากนี้ผู้ที่เข้าร่วมเวิร์คช็อปยังได้นำองค์ความรู้ด้านศาสตร์การคาดกาณณ์อนาคต มาเป็นหลักในการกำหนดวิสัยทัศน์ (vision) ของอุตสาหกรรมบีซีจีในประเทศไทย

  1. การกำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางระดับโลกด้านอาหารแห่งอนาคต
  2. ภายใต้เศรษฐกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม งดการปล่อยคาร์บอน
  3. มุ่งหน้าสร้างตลาดผู้บริโภคใหม่ ๆ ที่สนใจผลิตภัณฑ์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
  4. ในขณะเดียวกันก็เพิ่มสมรรถนะในการแข่งขันด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของผู้บริโภค 
  5. ดำเนินการผ่านการใช้ประโยชน์สูงสุดของผลิตภัณฑ์ด้านอาหารและเกษตรกรรมท้องถิ่นในระบบอาหารที่ยั่งยืน 

 

ด้าน ผศ.ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหาร กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบัน และความท้าทายต่าง ๆ ของประเทศไทยที่นำไปสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี มาจากการที่ประเทศไทยยังคงติดอยู่ในกับดับรายได้ปานกลาง และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ผ่านมาอาศัยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพที่ปราศจากความยั่งยืน

 

ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ และสร้างความเหลื่อมล้ำ จึงทำให้การเติบโตที่ยั่งยืน กลายเป็นเป้าหมายที่สำคัญของแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี พ.ศ. 2564 – 2570

 

สำหรับการต่อยอดโครงการ Foresight for Food ไปสู่ Foresight into the BCG Economy ในครั้งนี้ หากพิจารณาถึงผลของโครงการในระดับผู้กำหนดนโยบาย ผลสรุปที่ได้จากโครงการนี้ จะถูกนำไปเรียบเรียงเป็นเอกสารเพื่อส่งมอบให้กับ สกสว. ดำเนินการต่อในการผลิตงานวิจัย และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศไทย รวมถึงใช้เป็นกรอบทิศทางสำหรับหน่วยหนุนทุนวิจัย (พีเอ็มยู) ในการพิจารณาให้ทุนสนับสนุนวิจัยที่ตอบโจทย์กับทิศทางของประเทศอีกด้วย 

 

นางเฮลก้า กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการ Foresight into the BCG economy นี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญที่บริติช เคานซิล ในฐานะองค์กรเพื่อความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมจากสหราชอาณาจักร ได้ดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ระดับนานาชาติ Going Global Partnerships ที่เน้นสร้างความสัมพันธ์ระดับนานาชาติที่เข้มแข็งและเท่าเทียมของภาคการศึกษาระดับอุดมศึกษา และเน้นสร้างระบบอุดมศึกษาที่แข็งแรง สามารถสร้างงานวิจัยที่นำไปประยุกต์ใช้ได้จริงทั้งในการวางกรอบการทำงานระดับประเทศ และการต่อยอดเป็นธุรกิจสำหรับภาคเอกชน

 

โดยผลของโครงการในครั้งนี้จะถูกนำไปแชร์เป็นกรณีศึกษาในระดับอาเซียน ถึงการทำงานระหว่างผู้กำหนดนโยบายในประเทศ ภาคอุดมศึกษา ภาคเอกชน และผู้เชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักรต่อไป