บิ๊ก ‘ไทยวา’ ติดปีกธุรกิจ  อัด ‘สปีด-นวัตกรรม’ สู่โกลบอลลีดเดอร์ 

02 มี.ค. 2565 | 20:03 น.

ในขณะที่วิกฤติโควิด-19 มีทีท่าจะคลี่คลายลง “บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน)” ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ แป้งมันสำปะหลัง และอาหารจากแป้ง รายใหญ่ของไทย ก็เตรียมจัดทัพ เพิ่มศักยภาพการทำธุรกิจให้เข้มแข็งเต็มที่ เพื่อลุยต่อยอดและขยายธุรกิจทั้งตลาดในประเทศและระดับโกลบอล

ด้วยการนำทีมของ “โฮ เรน ฮวา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) เจนที่ 3 ที่เข้ามาสานต่อธุรกิจได้ประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา


“คุณโฮเรน” ตั้งเป้าหมายไทยวาไว้อย่างชัดเจน ในการเป็นองค์กรที่ดำเนินธุรกิจยั่งยืน ด้วยการเริ่มลงทุนในธุรกิจไบโอพลาสติก มีการทำ Digital Transformation ทรานส์ฟอร์มไอเดียใหม่ๆ และโปรเจคใหม่ๆ ออกสู่ตลาด โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับ “Speed” จากปัจจุบันที่ไทยวาส่งออกสินค้าไปใน 30 กว่าประเทศทั่วโลก มีออฟฟิศใน 15 โลเคชั่น 5 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย และจีน เขามีเป้าที่จะขยายธุรกิจให้เติบโตต่อเนื่อง เพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจ

“โฮ เรน ฮวา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน)

ผู้บริหารหนุ่มคนนี้ เข้ามารับหน้าที่แม่ทัพไทยวา ตั้งแต่ปี 2559 นับจากที่เข้ามานั่งบริหาร เขาสามารถขับเคลื่อนทำให้ไทยวาสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และในปี 2565 คาดว่ายอดขายน่าไปถึง 10,000 ล้านบาท จาก 5 ปีที่แล้วที่มียอดขายราว 5,000 ล้านบาท 
  ผลิตภัณฑ์จากไบโอพลาสติก

“เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ไทยวา มีออฟฟิศที่ไทย และเวียดนาม ตอนนี้มี 15 โลเคชั่น 5 ประเทศ ช่วงโควิดแม้เราจะเดินทางไปจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย ไม่ได้ แต่เรามีทีมค่อนข้างเก่ง เป็นเซลและมาร์เก็ตติ้ง ดิสทริบิวชั่น ทำให้สามารถสร้างยอดขายได้ดี”

จุดแข็งของไทยวา คือ การเป็น Developing Agent Supply Chain การทำธุรกิจของไทยวา มี 3 ด้าน คือ

  1. กลุ่มธุรกิจแป้ง คิดเป็น 80% ของรายได้บริษัท ลักษณะธุรกิจเป็น B2B เป็นแป้งมันสำปะหลัง แบรนด์ ROSE
  2. กลุ่มธุรกิจอาหาร คิดเป็น 20% ของรายได้บริษัท ลักษณะ B2C ไทยวาเป็นผู้ผลิตก๋วยเตี๋ยวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยกำลังการผลิตมากกว่า 2,000 ตันต่อปี
  3. ผลิตภัณฑ์จากไบโอพลาสติก ลักษณะแบบ B2B ด้วยธุรกิจส่วนใหญ่ที่เป็น B2B

 

เรื่องเน็ตเวิร์คจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ในช่วงโควิด มีการพูดคุยกับเอเย่นต์ซัพพลายเชนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในช่วงโควิด...เป้าหมายเราต้องการเป็น agent supply chain เราต้อง Move Fast to Market และต้องใกล้ชิดกับลูกค้า ทำให้ขณะนี้ มีเทรดดิ้งคัมปานีและมีทีมงานเป็นโกลบอลทีม ที่ประเทศจีน 20 คน เวียดนามมีมากกว่า 100 คนและ 5 คนที่อินโดนีเซีย
  บิ๊ก ‘ไทยวา’ ติดปีกธุรกิจ  อัด ‘สปีด-นวัตกรรม’ สู่โกลบอลลีดเดอร์ 

ภาพรวมของไทยวา ถ้าเปรียบเทียบกับ 2 ปีที่ผ่านมา ขณะนี้ Speed ดีมาก ธุรกิจอาหารทุกๆ ปีมีการเติมโต ปีที่แล้วโตประมาณ 10% ส่วนของ
แป้งมันสำปะหลัง โตต่อเนื่องทุกปี ปีที่แล้วโตกว่า 30% โดยไทยวาเป็นผู้นำในธุรกิจแป้งในประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังรายใหญ่
ที่สุดในโลก และไทยวาเป็นท็อป 5 ของตลาดโลก


“เราต้องการเป็นโกลบอลลีดเดอร์ ในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา เราเคลื่อนไหวค่อนข้างเร็ว มีเทรดดิ้งออฟฟิศที่เซี่ยงไฮ้ มีการขยายดิสทริบิวเตอร์ และตอนนี้เริ่มขายโซลูชั่นให้กับลูกค้า ลูกค้าต้องการอะไร ต้องการให้ทำแบบไหน เราจะมีทีม อาร์แอนด์ดีประกบ ปีที่แล้วเราขยายไปที่อินโดนีเซีย ตอนนี้มีเทรดดิ้งออฟฟิศแล้วที่ เวียดนาม กัมพูชา”

บิ๊ก ‘ไทยวา’ ติดปีกธุรกิจ  อัด ‘สปีด-นวัตกรรม’ สู่โกลบอลลีดเดอร์ 
นอกจากจุดแข็งเรื่อง Agent Supply Chain แล้ว ไทยวายังมี Technical Service Solution เป็น Technical Sale ทั้งที่จีน อินโดนีเซีย ทำให้ไทยวาสามารถมีความแตกต่าง ที่เหนือไปกว่าคู่แข่ง และเมื่อผนวกเข้ากับทีมเซลและการตลาดที่แข็งแกรง การเป็น Digital Innovation Company ที่พัฒนาคิดค้นโปรดักส์นวัตกรรมตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า การเชื่อมต่อกระบวนการทำงานตลอดซัพพลายเชนด้วยดิจิทัล ก็ยิ่งเพิ่มขีดความสามารถ และสปีดการก้าวเดินของไทยวา ได้ตามที่ผู้นำคนนี้กำหนดทิศทางไว้


“คุณโฮเรน” บอกว่า ปีนี้การเดินไปเวียดนาม หรืออินโดนีเซีย น่าจะได้เริ่มขึ้น และเมื่อสามารถเดินทางได้เขาพร้อมที่จะออกไปพบกับทีมงานและลูกค้าในแต่ละประเทศทันที โดยเริ่มต้นขณะนี้ เขาได้เดินทางแล้วในไทยทั้ง อีสาน และตะวันออก รวมถึงจังหวัดในภาคอื่นๆ เพราะการเจรจาธุรกิจ หรือการพูดคุยงาน การเจอหน้ากันยังถือเป็นเรื่องจำเป็น โดยมีการสื่อสารดิจิทัลมาช่วยเสริม ให้งานทุกอย่างเดินหน้าได้เร็วขึ้น  ซึ่งปกติซีอีโอท่านนี้ ก็มักจะออกตลาด พบปะลูกค้าและทีมงานด้วยตัวเองแทบทุกอาทิตย์ 
 

ด้วยรูปแบบการทำงานที่แอคทีฟของผู้นำ ทำให้ไทยวา ขยับตัวเองได้อย่างรวดเร็ว ในช่วง 5 ปี เขาลงทุนไปกว่า 2,000 ล้านบาท ทั้งด้านงานวิจัย การควบรวมกิจการ (M&A) ซื้อบริษัทใหม่ถึง 3 บริษัท รวมไปถึงการลงทุนในโปรเจคใหม่ๆ อย่าง ไบโอพลาสติก ภายใต้แบรนด์ ROSECO ที่ตั้งเป้าว่าจะมีรายได้ 1-2 พันล้านบาทใน 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งในเฟสแรก ผลิตภัณฑ์หลักธุรกิจนี้ คือ เม็ดไบโอพลาสติก โดยลูกค้าสามารถนำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เองได้ เช่น ภาชนะย่อยสลายได้ ถุงพลาสติก ฟิล์มคลุมดิน ฯลฯ


และในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เขาเตรียมงบลงทุนไว้อีกกว่า 2,000 ล้านบาท ในเรื่องของนวัตกรรม ไบโอพลาสติก ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกี่ยวกับอาหารและแป้งมันสำปะหลัง รวมถึงการควบรวมกิจการ (M&A)


“คุณโฮเรน” กำลังติดสปีดให้กับไทยวาเต็มที่ เขาบอกว่า เป้าหมายของไทยวา เมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา ไทยวาเป็นเทรดดิ้งคัมปานี ประมาณ 20 ปีต่อมา ไทยวาเป็นแมนูแฟคเจอริ่ง คัมปานี และประมาณ 5 ปีก่อนหน้านี้ ไทยวาเป็นโกลบอล คัมปานี ส่วน 5 ปีข้างหน้า ไทยวา จะนำเรื่องของอินโนเวชั่นและเทคโนโลยี มาเป็นธงหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อการก้าวสู่ ดิจิทัล อินโนเวทีฟ คัมปานี โดยโฟกัสในเรื่องของความยั่งยืน 
  บิ๊ก ‘ไทยวา’ ติดปีกธุรกิจ  อัด ‘สปีด-นวัตกรรม’ สู่โกลบอลลีดเดอร์ 

“การที่ต้องปรับไปสู่อินโนเวชั่น คัมปานี เพราะไทยวาทำธุรกิจ B2B ลูกค้าเป็นต่างชาติ ประมาณ 80-85% เราคิดว่า ช่วง 5 ปี ลูกค้าเราเปลี่ยนเร็ว เราก็ต้องเปลี่ยนเร็ว เป็น นิวโปรดักต์ เป็นนิวเซอร์วิส เราต้องเปลี่ยนบิซิเนสโมเดล ตอบรับความต้องการของลูกค้า เราพยายามสร้างสรรค์นิวโปรดักต์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคจริงๆ”


นี่คือวิชั่น และธุรกิจของ “ไทยวา” เพื่อการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง โกลบอลลีดเดอร์ ด้านนวัตกรรมโปรดักต์อาหารจากแป้งมันสำปะหลัง ที่ซีอีโอ “โฮ เรน ฮวา” ตั้งใจ 

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,762 วันที่ 3 - 5 มีนาคม พ.ศ. 2565