‘กัญชา’ ดันไทยสู่ Wellness Tourism ต้นแบบ Green medicine

19 พ.ย. 2564 | 10:14 น.

“กัญชา” บูมรับเปิดประเทศ “ภาครัฐ” ปัดฝุ่นเส้นทางท่องเที่ยวสายกัญชา ปักหมุดภาคอีสานพื้นที่นำร่อง “เอกชน” เร่งต่อยอดกัญชง กัญชา สมุนไพรไทย จาก Product Champions สู่ wellness destination ดึงดูดทัวริสต์ พร้อมยกไทยต้นแบบ Green medicine

ตลาดกัญชา” ในประเทศไทยถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตจนมีมูลค่ากว่า 2.1 หมื่นล้านบาทภายในปี 2567 จากปัจจุบันที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและผลักดันให้ กัญชาและกัญชง รวมทั้งสมุนไพรไทย อาทิ ฟ้าทะลายโจร ขิง และกระชายขาว ที่น่าจับตามองอย่างมากในช่วงการระบาดโควิด-19 ให้เป็น Product Champions เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับยาแผนไทย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism

 

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว ในงาน The Global Medical Cannabis and Herbs Forum ครั้งที่ 1 ว่า ปัจจุบันเทรนด์ของโลกกำลังเข้าสู่การลดใช้ยาปฏิชีวนะหรือลดการใช้เคมีไปสู่การสร้างสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนใน Green Medicine ซึ่งประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศที่มีต้นทุนในเรื่องของคลังยาสีเขียว เพราะมีความได้เปรียบของสมุนไพรไทย ขณะเดียวกันรัฐบาลมีนโยบายที่จะส่งเสริมกัญชาทางการแพทย์ กัญชงและกระท่อมเป็น product champions เพื่อสร้างประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ

กัญชา

“เรามีแผนปักหมุดศูนย์กลางสมุนไพรไทย กัญชาและกัญชงในภาคอีสาน โดยใช้เป็นภูมิภาคนำร่องเส้นทางท่องเที่ยวในเชิงสุขภาพและเส้นทางของกัญชา กัญชง ผ่านความร่วมมือกับทุกภาคีเครือข่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนต่างๆ เพื่อทำให้เมื่อคิดถึงประเทศไทยแล้วนึกถึงสมุนไพรไทย และทำให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญในการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ”

 

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญศาสตร์การแพทย์แผนไทยร่วมสมัย “พท.ป.ทรงกลด วัฒนพรชัย” ในฐานะอุปนายกสมาคมแพทย์อายุรเวทแผนไทยประยุกต์แห่งประเทศไทย กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ธุรกิจที่ร้อนแรงในขณะนี้คือ ธุรกิจสุขภาพไม่ว่าจะเป็น wellness การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อาหารผลิตภัณฑ์ และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ รวมไปถึงพืชเศรษฐกิจอย่างกัญชากัญชงและกระท่อม ดังนั้นหากธุรกิจที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยวได้ผนวกกับศาสตร์การแพทย์แผนไทยในมิติใหม่ จะช่วยสร้างจุดขายที่เป็นเอกลักษณ์ ผ่าน Modernize Thai medicine เพื่อเปลี่ยนเกมธุรกิจเดิมสู่ธุรกิจสุขภาพวิถีใหม่ ที่มีจุดขายที่แข็งแกร่งในตลาดโลก

กัญชา

ด้านศักยภาพทางการแข่งขันส่วนตัวมองว่าตลาดกัญชง กัญชา สามารถลงมาจับธุรกิจโลคอลได้ แบรนด์ใหญ่อาจเล่นโปรดักต์ที่จับตลาดคนทั่วไปและจำหน่ายผ่านร้านสะดวกต่างๆ แต่สำหรับนักท่องเที่ยวที่ตั้งใจเข้ามาใช้กัญชง กัญชาจริงๆจะลงไปถึงสินค้าและบริการโลคอลได้ ผ่านเส้นทางท่องเที่ยวสายกัญชา

 

ส่วนภาคเอกชนก็มีความสำคัญไม่น้อย เพราะเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจจากผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชง กระท่อม รวมถึงพืชสมุนไพร โดยเฉพาะในธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น โดยนางศิริญา เทพเจริญ ประธานบริหาร บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ WMA กล่าวว่า หลังจากไทยเริ่มมีการเปิดประเทศและโควิดเริ่มคลี่คลายแล้ว นักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่จะเข้ามาในประเทศคือกลุ่มคนที่ต้องการเข้ามารักษาตัว และจุดแข็งของประเทศไทยก็คือ “กัญชา” ที่เพิ่งประกาศปลดล็อกเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นเราจะต้องสื่อสารออกไปให้คนในเอเชียหรือคนในโลกรับรู้เรื่องนี้และกัญชาน่าจะเป็นตัวที่เข้ามาช่วยเศรษฐกิจของไทยในช่วงนี้

 

“เชื่อว่าการลดการเกิดโรค ต้องใช้เวชศาสตร์ชะลอวัยและประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสามารถในการปลูกพืชเศรษฐกิจและสมุนไพร ทำให้เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ คิดทำ Green medicine เพราะวันนี้ประเทศไทยจะก้าวสู่เมืองที่เป็น medical hub เต็มรูปแบบโดยใช้ CBD ทั้งนี้บริษัทไม่ได้คิดถึงเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ แต่หมายรวมไปถึงสุขภาพของคนไทย ถ้าคนไทยได้ใช้ยาราคาถูก ดังนั้นเราจึงต้องรีบปักหมุดประเทศไทยแล้วส่งเสริม GI ทุกจังหวัด เอาพืชทุกหน่วยออกมาเป็นรายได้ จุดนี้เรามองว่าจะทำให้เกษตรกรพ้นจากกับดักความยากจนได้ดี”

ศิริญา เทพเจริญ

สำหรับแผนงานของเวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ ใน 3 ปีนี้ เฟสที่ 1 ในปีแรกบริษัทตั้งเป้าส่งสาร CBD ไปยังประเทศเป้าหมายคือญี่ปุ่นและเยอรมนีก่อนจะขยายต่อไปที่อเมริกาในอนาคต รวมทั้งการส่งออก Green Medicine ให้กับโรงพยาบาลในประเทศญี่ปุ่น และการส่งออกวัตถุดิบและสารสกัดจากขมิ้นเพื่อนำไปผลิตวิตามิน และIV Drip หรือ Vitamin Drip (IV) ในเยอรมนี พร้อมกับการส่งเสริมให้ผลิตในประเทศด้วย นอกจากนี้ยังส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้วยสมุนไพรและกัญชา ส่วนเฟสที่ 2 บริษัทจะขับเคลื่อนและผลักดันให้ Green Medicine เป็นยาสามัญประจำบ้าน รวมถึงส่งเสริมให้ใช้ในโรงพยาบาลรัฐทั้งหมด รวมทั้งขยายตลาดส่งออกไปในหลายๆ ประเทศด้วย

 

แผนงานต่อไปเราจะลงไปสำรวจว่าแต่ละจังหวัดมีสมุนไพร GI อะไรที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ลงไปในแต่ละชุมชน และเปิดแพลตฟอร์มใหม่ที่เป็น package สู่ชุมชน และไม่ใช่แค่ส่งเสริมปลูกแต่จะเอานักท่องเที่ยวไปเที่ยวเหมือนคนไปดื่มไวน์ที่ฝรั่งเศส ทำให้เกิดเศรษฐกิจไปถึงชาวบ้าน และเรายังเข้าไปสนับสนุนการจัดประกวด Miss tourism พร้อมกับตั้งโจทย์นางงามทั้ง 77 จังหวัดวางแผนหาพืช GI ของจังหวัดตัวเองอย่างน้อย 1 อย่างเพื่อสร้างรูทท่องเที่ยว 77 จังหวัดด้วยสมุนไพรกับกัญชา

 

สุดท้ายกำหนดเป้าหมาย 3 ปี คนไทยจะต้องได้ใช้ยา Green Medicineทุกครัวเรือนคล้ายกับยาสามัญประจำบ้าน และผลักดันให้โรงพยาบาลรัฐทุกแห่งใช้Green Medicineรักษาคนไข้ ถ้าสามารถทำ Green Medcine สำเร็จจะทดแทนยานำเข้าได้ 90%

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,732 วันที่ 18 - 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564