โควิดฉุดค้าปลีกสูญ 8 แสนล้าน ชงสูตร 7 S ชี้ช่องรัฐฝ่าช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

28 ต.ค. 2564 | 07:10 น.

สมาคมค้าปลีก เผยพิษโควิด ฉุดมูลค่าตลาดสูญกว่า 8 แสนล้าน เร่งรัฐฟื้นฟูเศรษฐกิจช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ กับสูตร “ 7 S Recovery ”

ประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาต่อเนื่อง ล่าสุด “สมาคมผู้ค้าปลีกไทย” ออกมาเปิดเผยว่า การระบาดของโควิดในช่วงเวลาเกือบ 2 ปี มีคนไทยติดเชื้อรวม 1.85 ล้านราย และยังส่งผลให้มูลค่าค้าปลีกและบริการสูญหายกว่า 8 แสนล้านบาท

 

มีคนว่างงานและผู้เสมือนว่างงาน (ผู้ที่ทำงานไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน) และแรงงานนอกระบบ เพิ่มขึ้นประมาณ 3.2 ล้านคน หนี้ภาคธุรกิจและครัวเรือนเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เงินออมและเงินใช้จ่ายในกระเป๋าทุกภาคส่วนลดน้อยลง ดังนั้นการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน  

 

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศภูมิภาคอาเซียนที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำสุด และยังมีแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่ลึกและกว้าง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่ได้รับผลกระทบจากโควิด รัฐบาลจึงต้องเร่งเครื่องเพื่อผลักดันให้ฟื้นตัวโดยเร็วจากปัจจุบันที่จีดีพีติดลบอย่างต่อเนื่อง การวางกลยุทธ์และแผนรองรับในการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ญนน์ โภคทรัพย์

“แนวทางของการฟื้นฟูจึงควรต้องเริ่มจากการกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนไปจนถึงการวางรากฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืน”     

 

ทั้งนี้ สมาคมขอนำเสนอแนวทาง “ 7 S Recovery ” เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยโดยเร่งด่วน ดังนี้

 

  1. Stimulus Consumption ประเทศไทย ต้องการการฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งระบบไม่ใช่แค่เยียวยา แต่ต้องเป็นการฟื้นฟูให้ลุกขึ้นมาเดินหน้าธุรกิจ ก้าวแรกคงต้องเป็นหน้าที่ภาครัฐที่ต้องอัดฉีดเม็ดเงิน เข้าสู่ระบบอย่างรวดเร็ว ตรงเป้า และมีประสิทธิภาพเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ

 

  • ส่งเสริมให้คนไทย เที่ยวไทย ใช้ของไทยในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงไตรมาสหนึ่งของปีหน้า (พฤจิกายน 2564-มิถุนายน 2565)

 

  • เพิ่มวงเงินโครงการคนละครึ่ง และยิ่งใช้ยิ่งได้ รวมทั้งนำโครงการ ช้อปดีมีคืนกลับมาใช้โดยเพิ่มวงเงินเป็น 2 แสนบาท จากเดือนธันวาคมข้ามปีจนถึงเดือนกุมภาพันธ์

โควิดฉุดค้าปลีกสูญ 8 แสนล้าน ชงสูตร 7 S ชี้ช่องรัฐฝ่าช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

  • รัฐบาลจะต้องมีนโยบายลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เพื่อเพิ่มกำลังซื้อแก่ผู้บริโภค ด้วยการลดค่าสาธารณูปโภค ค่าอินเตอร์เน็ต นับจากเดือนธันวาคม 2564 จนถึงเดือนมิถุนายน 2565

 

โดยรวมแล้ว S แรก จะสามารถสร้างเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จากนี้ไปจนถีงเดือนมิถุนายน 2565 ไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท หรือราว 10% ของ GDP

 

2. Support Employment การแพร่ระบาดของโควิดส่งผลกระทบต่อการจ้างงานโดยเฉพาะภาคการค้าและบริการที่มีการจ้างงานกว่า 11.2 ล้านคนและส่วนใหญ่ก็เป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งคาดว่าแรงงานในกลุ่มนี้จะมีคนว่างงานและผู้เสมือนว่างงาน (ผู้ที่ทำงานไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน) ไม่น้อยกว่า 3.2 ล้านคน ภาครัฐต้องมีนโยบาย

 

  • มาตรการรักษาการจ้างงาน ลดภาระค่าใช้จ่ายด้วยมาตรการภาษี เพื่อไม่ให้มีการลดพนักงานหรือเลิกจ้าง

 

  • ทดลองใช้การจ้างงานแบบรายชั่วโมง เพื่อให้สอดคล้องกับการบริการต่อผู้บริโภคที่มาเป็นช่วงเวลา โดยให้ใช้กับธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารเป็นการเฉพาะก่อน

 

  • มาตรการ Upskill Reskill และ New Skill แก่แรงงานเพื่อให้มีทักษะตรงตามความต้องการ และส่งเสริมการเรียนรู้ทางออนไลน์บนแพลตฟอร์มของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

โควิดฉุดค้าปลีกสูญ 8 แสนล้าน ชงสูตร 7 S ชี้ช่องรัฐฝ่าช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

3. Strengthen SME จากข้อมูลของ สสว. พบว่า จำนวน SME ทั่วประเทศ มีกว่า 3,070,177 ราย ซึ่ง 44.58% อยู่ในภาคการค้าปลีก และ 35.73% อยู่ในภาคบริการ อาหารและเครื่องดื่ม รัฐต้องจัดหาแหล่งเงินทุนอย่างเร่งด่วน เพื่อพยุง SME เหล่านี้ ให้อยู่รอด โดยเฉพาะ SME ขนาดย่อม ควรมีมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ให้กับ SME รายที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพื่อให้ธุรกิจกลับมาฟื้นตัวโดยเร็ว

 

4. Speed Up Digital Economy รัฐบาลต้องมีนโยบายในการลดกฎระเบียบ และพัฒนาระบบ Cloud Computing, AI และ Data Center ให้พร้อมรับเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น รัฐและเอกชนต้องร่วมกันสร้างวงจรบวกในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กับผู้ที่อาจยังไม่คุ้นเคยกับโลกออนไลน์   

 

5. Simplify Regulation ปรับกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่จะช่วยให้การประกอบธุรกิจง่ายและสะดวกมากขึ้น (Ease of Doing Business) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้โดยตรง และลดค่าเสียโอกาสของธุรกิจได้ถึง 1.3 แสนล้านบาทต่อปี หรือ 0.8% ของจีดีพีไทย การแก้ไขกระบวนการดังกล่าวจะเป็นการฟื้นเศรษฐกิจได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม

 

6. Sustainable Public Health ระบบสาธารณสุขเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญและละเลยไม่ได้

 

  • Monitoring ควบคุม และระมัดระวัง การแพร่ระบาดของโควิดอย่างใกล้ชิด สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงทีและตรงจุด อาทิ หากเปิดประเทศแล้วมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ขอให้พิจารณาล็อกดาวน์ในพื้นที่โซนที่เกิดการแพร่กระจายของโรค ไม่จำเป็นต้องล็อกดาวน์   ทั้งประเทศ 

 

  • Protection ผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรการ Covid Free Setting อย่างเคร่งครัดตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อป้องกันการระบาด

 

  • Build Herd Immunity รัฐต้องเร่งการฉีดวัคซีนให้ครบ 2 โดส อย่างน้อย 70% ของประชาชนไทยทั้งประเทศเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หรือเร่งฉีดให้ครบโดสในพื้นที่จังหวัดนำร่องการเปิดประเทศที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา

 

  • Stay Healthy ประชาชนการ์ดต้องไม่ตก และต้องเคร่งครัดมาตรฐานด้านสุขอนามัยแบบ Universal Prevention

 

7. Spike Up Private Investment ภาครัฐต้องมีการสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพราะจะทำให้เกิดการผลิตและการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การบริโภคของประชาชนขยายตัวได้อย่างทันทีและจะนำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

 

“สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เล็งเห็นว่านี่คือช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ เป็นโค้งสุดท้ายของวิกฤตโควิดและเป็นโค้งแรกแห่งความหวังใหม่ของเศรษฐกิจไทย ดังนั้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจในปัจจุบันจึงต้องมองข้ามช็อตถึงอนาคต มากกว่าการพึ่งพาการเยียวยาเพียงอย่างเดียว ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยกลยุทธ์ที่เข้มแข็ง  ลงมือปฏิบัติจริงจังและทันที

 

เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโควิดอย่างไม่ประมาทบนพื้นฐานของมาตรการความปลอดภัย เพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคัก พร้อมสำหรับการเปิดประเทศต้อนรับทุกคนอย่างไร้กังวล”