‘เครื่องใช้ไฟฟ้า’ ติดลบ 10% ลุ้น‘ช้อปดีมีคืน’ ปลุกตลาดฟื้น

16 ต.ค. 2564 | 21:10 น.

ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าสุดแรงต้าน พิษโควิดฉุดยอดขายร่วงระนาว เผย 8 เดือนติดลบ 10% จากกลุ่มทีวี แอร์ เครื่องซักผ้า ขณะที่โน๊ตบุ๊ค คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนโตแรง ลุ้นภาครัฐคลอด “ช้อปดีมีคืน” กระตุ้นเศรษฐกิจ ดันกำลังซื้อไตรมาส 4 คึกคัก คาดหลังวิกฤติซา ปี 65 อาจเติบโตได้ 10-15%

นับตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่เกิดการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าถือเป็นอีกธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทั้งด้านการผลิต การจัดจำหน่าย รวมถึงการส่งออก โดยพบว่าในปี 2563 มูลค่าลดลง 5-10% เหลือเพียง 6.9 หมื่นล้านบาท ขณะที่กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็ก มีการเติบโตสูงขึ้นจากมาตรการล็อกดาวน์และ Work from Home แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นใหญ่อย่างเครื่องปรับอากาศ

 

รวมถึงเครื่องซักผ้ากลับมีการเติบโตที่ลดลง แม้ในช่วงปลายปีจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นตามสถานการณ์โควิด แต่เมื่อข้ามปีได้เพียงไม่กี่วัน การแพร่ระบาดระลอกใหม่ก็สร้างผลกระทบหนักให้กลับมาอีกครั้ง ทำให้ “ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า” ส่งสัญญาณติดลบต่อเนื่องอีกเป็นปี

 

นายจักรกฤษณ์ กีรติโชคชัยกุล Chief Executive Officer-TR บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ผู้บริหารศูนย์ค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้า “เพาเวอร์ มอลล์” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เดิมประเมินว่าภาพรวมตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าจะติดลบหนัก แต่ผ่านไป 8 เดือนพบว่าติดลบไม่ถึง 10% ถือว่าดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยสาเหตุหลักเกิดจากการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวม แต่ขณะเดียวกันมาตรการป้องกันต่างๆ เช่น WFH หรือการเรียนออนไลน์ ส่งผลให้เครื่องใช้ไฟฟ้าในหลายเซ็กเม้นต์มีการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นแท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค โทรศัพท์สมาร์ทโฟน ฯลฯ

จักรกฤษณ์ กีรติโชคชัยกุล

“ในหลายเซกเม้นท์ เช่น แท็บเล็ต/คอมพิวเตอร์ พบว่ามีการเติบโตกว่า 30% เพราะคนต้อง WFH ขณะที่เด็กนักเรียน ต้องเรียนออนไลน์ ขณะที่โน๊ตบุ๊ค สมาร์ทโฟน มียอดขายเติบโต 12-13% เพราะนอกจากจะมีสินค้ารุ่นใหม่ออกวางจำหน่าย ผู้ที่ชื่นชอบก็จะนิยมเปลี่ยนให้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ”

 

 

ขณะที่กลุ่มที่มียอดขายลดลง เช่น ทีวี ซึ่งติดลบราว 10% ส่วนหนึ่งเพราะผู้บริโภคหันไปดูผ่านดีไวซ์อื่นๆ นอกจากนี้ยังมีเครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศที่ยอดขายลดลง 2-3% จากปัจจัยเรื่องของสภาพอากาศ ส่วนกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็ก พบว่าในปีก่อนที่เกิดการระบาดของโควิด ทำให้คนต้องอยู่บ้านและนิยมทำอาหารมากขึ้น จึงมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ทำให้ตัวเลขปีนี้แม้จะเติบโตแต่เมื่อเทียบกับปีก่อนยังติดลบ 9%

 

อย่างไรก็ดี หลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายและมาตรการเปิดประเทศ ทำให้เชื่อว่าไตรมาส 4 จะเริ่มดีขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการเองก็เตรียมความพร้อมในการนำเสนอสินค้าใหม่ เทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงทำกิจกรรมการตลาดเพื่อรุกตลาดหลังจากที่อั้นมาตั้งแต่ต้นปี

 

“หลังคลายล็อกดาวน์ (1 ก.ย.) ให้ธุรกิจกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง พบว่าลูกค้าเข้ามาใช้บริการที่สโตร์จำนวนมาก เพราะสร้างประสบการณ์ทำให้ลูกค้าได้สัมผัสสินค้า ดีไซน์ และตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น โดยพบว่าจนถึงปัจจุบันมีจำนวนทราฟฟิคเฉลี่ย 90% จากช่วงเวลาปกติ”

 

นายจักรกฤษณ์ กล่าวว่า ในช่วงล็อกดาวน์ยอดขาย “เพาเวอร์ มอลล์” ในช่องทางออนไลน์เติบโตกว่า 100% แต่ขณะเดียวกันลูกค้ายังต้องการสัมผัสสินค้า และเลือกชมสินค้าของจริงทำให้การผสมผสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ หรือ ออมนิ แชนนอลยังมีความจำเป็นอยู่มาก

 

สำหรับภาพรวมของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาส 4 นี้ แม้กำลังซื้อจะยังไม่กลับมาเต็มที่แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าในบางเซกเม้นท์ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เช่นกลุ่มเทคโนโลยี อาทิ ไอที สมาร์ทโฟน ฯลฯ ขณะที่การประกาศเปิดประเทศของรัฐบาล ถือเป็นจิตวิทยาที่ปลุกมูด สร้างความมั่นใจให้กับคนไทย และผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี

 

โดยเพาเวอร์ มอลล์ เตรียมแผนทำกิจกรรมต่อเนื่องในไตรมาส 4 นี้ โดยไฮไลท์เป็นการจัดงาน POWER MALL ELECTRONICA 2022 ที่จะจับมือกับพันธมิตรเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ดัง นำเสนอสินค้านวัตกรรม พร้อมโปรโมชั่นพิเศษแบบจุใจ ตลอดเดือนธันวาคม ต่อเนื่องถึงเดือนมกราคมปีหน้า เพื่อให้ลูกค้าได้เลือกซื้อสินค้าที่ต้องการ นอกจากนี้อยากให้ภาครัฐ มีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภค อาทิ ช้อปดีมีคืน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจกลับมาคึกคักขึ้น ทั้งนี้หากภาพรวมในไตรมาส 4 มียอดขายดีขึ้น จะช่วยทำให้ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งปีขยับตัวดีขึ้น และมีการเติบโตติดลบเหลือเพียง 4-5% เท่านั้น

‘เครื่องใช้ไฟฟ้า’ ติดลบ 10% ลุ้น‘ช้อปดีมีคืน’ ปลุกตลาดฟื้น

“ภาพรวมของเพาเวอร์ มอลล์ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมายังติดลบราว 8% แต่หากในไตรมาส 4 มียอดขายดีขึ้นจะทำให้พลิกกลับมาแต่ยังคงติดลบเล็กน้อย แต่ในปีหน้าเชื่อว่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น จากภาพรวมเศรษฐกิจที่กลับมาเติบโต ซึ่งจะทำให้ภาพรวมของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเมืองไทยมีการเติบโตได้ 10-15% ด้วย แต่ทั้งหมดนี้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า ไม่มีการระบาดของโควิดระลอกใหม่ ไม่มีการล็อกดาวน์ และแผนเปิดประเทศเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้”

 

นางภัทรภร สุภัทราธรรมที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท ท็อปแวลู คอร์ปอเรท จำกัด กล่าวว่า ตลาดรวมเครื่องใช้ไฟฟ้าครึ่งปีแรกทั้งออนไลน์และออฟไลน์สถานการณ์ยังไม่ค่อยดีเท่าไรนัก เนื่องจากสถานการณ์โควิด ทำให้ต้องล็อกดาวน์และธุรกิจบางประเภทต้องปิดตัวลง ในขณะที่ไตรมาส 4 มองว่าตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยรวมน่าจะดีขึ้น จากโควิดที่เริ่มเบาบาง ประกอบกับเป็นช่วงของเทศกาลปีใหม่ซึ่งหากเปรียบเทียบปีที่แล้วที่มีการล็อกดาวน์ช่วงปลายไตรมาส 4 ทำให้ตัวเลขโดยรวมลดลง ต่างจากปีนี้ที่มีการฉีดวัคซีนและโควิดเบาบางลง

 

นอกจากนี้ในส่วนของ เวิร์คฟอร์มโฮมปีนี้มีผลดีต่อดีมานด์ของเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่องทางออนไลน์อย่างมากเนื่องจากพฤติกรรมลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลง หันไปซื้อของในออนไลน์มากขึ้นโดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก ไอที โมบาย เก็ตเจ็ต ไปจนถึงอุปกรณ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานที่บ้าน เป็นต้น

 

ทั้งนี้พฤติกรรมผู้บริโภคยังหันมาใส่ใจในเรื่องสุขภาพมากขึ้น เพราะฉะนั้นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพไม่ว่าจะเป็น หม้อทอด เครื่องฟอกอากาศ เครื่องปรับอากาศต่างมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น ซัพพลายเออร์แต่ละแบรนด์เองก็มีการผลิตสินค้าเหล่านี้ออกมาเพื่อรองรับตลาดด้วย

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,723 วันที่ 17 -20 ตุลาคม พ.ศ. 2564