‘สยามไบโอไซเอนซ์’ Shortcut ความก้าวหน้า วงการแพทย์ไทย

09 ต.ค. 2564 | 08:15 น.

บริษัท “สยามไบโอไซเอนซ์” ชื่อที่คนไทยรู้จักในนามของผู้ได้รับเลือกจาก แอสตร้าเซเนก้า ให้เป็นฐานการผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ตามมาตรฐานระดับโลก ความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มาจากศักยภาพของมดงานผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์และการวิจัยไทยหลายท่าน

โดยหนึ่งในนั้น คือ “ดร.ทรงพล ดีจงกิจ” กรรมการผู้จัดการ ของสยามไบโอไซเอนซ์ ผู้ทำหน้าที่บริหารและดำเนินการ จนทุกอย่างลุล่วงตามเป้าหมาย และได้มาตรฐานตรงตามที่แอสตร้าเซเนก้าต้องการ

สยามไบโอไซเอนซ์ ผู้ผลิตยาชีววัตถุแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2552 ตามพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพของคนไทย และเล็งเห็นการณ์ไกลอันเป็นประโยชน์ ที่จะทำให้คนไทยไม่ต้องพึ่งพาแต่ยาจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว 
 
“ดร.ทรงพล” เล่าว่า ก่อนที่เกิดโควิด-19 ไทยทำงานวิจัยพัฒนาวัคซีนอยู่แล้ว ซึ่งมีทั้งที่ประสบความสำเร็จและไม่สำเร็จ แต่ที่แน่ๆ คือ ใช้เวลานานเป็นสิบปีกว่าจะพัฒนางานได้ออกมาแต่ละชิ้น จนเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด ทุกอย่างต้องทำอย่างเร่งด่วน ประสบการณ์และความรู้ที่สั่งสม ถูกนำมาปรับใช้ให้เกิดประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น หลายกิจกรรมสามารถทำซ้อนๆ กันได้ แทนที่จะทำเป็นขั้นเป็นตอน และต้องใช้เวลานาน 
 
สยามไบโอไซเอนซ์ได้นำโรงงานผลิตชีววัตถุมาปรับโดยใช้ Mammalian Cells ที่สร้างเสร็จกลางปี 2562 มาปรับใช้ เพื่อการผลิตวัคซีนโควิดประเภท Viral Vector โดยมีกำลังการผลิตหลักจาก Biorector ขนาด 2,000 ลิตร จำนวน 2 สายการผลิต ซึ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สยามไบโอไซเอนซ์ใช้เวลา 5 เดือนครึ่ง โดย 2 มิ.ย.2564 ก็เริ่มส่งวัคซีนให้แอสตร้าเซเนก้าได้

“มันเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เหนือความคาดหมาย” นั่นคือสิ่งที่ “ดร.ทรงพล” กล่าวไว้ เทคโนโลยีทั้งหมด เริ่มถ่ายทอดตั้งแต่ 7 ต.ค.2563 โดย 4 อย่างที่สยามไบโอไซเอนซ์ต้องทำก่อนเริ่มผลิตคือ 4 M คือ Method, MAn, Materails และ Machine  
 

Method คือ สูตรการผลิตและกระบวนการทั้งหลาย ซึ่งแอสตร้าเซเนก้าส่งเอกสารมา แล้วทางสยามไบโอไซเอนซ์ต้องปรับทุกอย่างให้เข้ากับสูตรและมาตรฐานที่แอสตร้าเซเนก้ากำหนด ส่วนของ Man หรือ คน เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด 
 
“จุดนี้ผมค่อนข้างเซอร์ไพร์สมาก เพราะเดิมคิดว่าการถ่ายทอดเทคโนโลยี ต้องมีปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัว สุดท้ายจริงๆ กระบวนการถ่ายทอดมันอยู่ที่คน ไม่ได้อยู่ที่วิธีการ เราสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีได้แบบ Virtual ซึ่งในที่สุดแล้ว ผมมองว่ามันดีขึ้น เพราะแอสตร้าฯ เป็นบริษัทระดับโลก เขามีฟรุ๊คพริ้นทุกไทม์โซนของโลก ในขณะที่กระบวนการผลิตต้อง 24 ชม. 7 วัน ทางแอสตร้าฯ มีคนแสตนบายเพื่อให้ข้อมูลเราตลอดเวลา เหมือนเซเว่นอีเลฟเว่น ยกเว้นช่วงล็อกดาวน์นะ  เราสอบถามได้ทุกอย่าง หรือถ้าอยากแชร์ข้อมูลเขาก็มีคนพร้อมตลอด 24 ชม. มันทำให้เราทำงานได้เร็วขึ้น” 

อีกส่วนที่สำคัญ คือ Materails ที่ต้องวางแผนการนำเข้าวัตถุดิบ และการใช้วัตถุดิบให้ดีมากๆ สำหรับการผลิตในสเกลใหญ่ สยามไบโอไซเอนซ์ต้องผลิตวัคซีน 1 หมื่นล้านโดสต่อปี ถ้าเตรียมการไม่ดี จะขาดแคลนวัตถุดิบและเกิดปัญหาทันที ส่วนเรื่องของ Machine หรือเครื่องจักร ก็ต้องทดสอบความพร้อมเต็มที่ 
 
“กระบวนการเหล่านี้ ใช้เวลา 2 เดือนครึ่ง จนเราเริ่มผลิตจริง 16 ธันวาคม 2563 แต่หลังจากนั้น ก็ยังถ่ายทอดเทคโนโลยีโนวฮาวด์ต่างๆ กันตลอด ซึ่งกระบวนการจะจบจริงน่าจะประมาณตุลาคม 2564 เพราะระหว่างการผลิตก็ต้องเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ”
 
การเป็นผู้ผลิตวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าของสยามไบโอไซเอนซ์ครั้งนี้ “ดร.ทรงพล” สรุปว่า สิ่งที่ประเทศไทยได้นอกจากวัคซีน คือ การเสริมความรู้ความสามารถให้กับบุคลากรไทย และยังทำให้บุคลากรเหล่านั้นได้ประสบการณ์จริงในการลงมือทำ ซึ่งสยามไบโอไซเอนซ์ พร้อมที่จะนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาถ่ายทอดให้กับองค์กรธุรกิจต่างๆ ที่ต้องการพัฒนาตัวเองสู่มาตรฐานระดับโลก 
 
องค์ความรู้ที่ได้นั้น ไม่ใช่แค่การผลิตวัคซีน Viral Vector มันมีองค์ความรู้หลายๆ อย่างที่นำไปพัฒนาต่อยอดผลิตวัคซีนอื่นๆ หรือนำมาผสานกับดีเอ็นเอของสยามไบโอไซเอนซ์ เพื่อต่อยอดสู่การผลิตยาชีววัตถุสำหรับการรักษาโรคทั้งของบริษัทและของประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนและยาให้กับประเทศไทยต่อไป 
 
“ดร.ทรงพล” ได้หยิบยกแนวคิดของ อัลเบิร์ต ไอสไตล์ ที่เป็นภาพสะท้อนความพยายามของทุกภาคส่วน สำหรับวิกฤตการณ์โควิด -19 ครั้งนี้ ว่า Information is not knowledge. The only source of knowledge is experience Yon need experience to gain wisdom...อินฟอร์เมชั่นไม่ใช่ความรู้ สิ่งที่จะทำให้เราได้ความรู้จริงๆ คือ ประสบการณ์ตรง ทีมสยามไบโอไซเอนซ์ได้ประสบการณ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ๆ หนึ่งที่ต้องแข่งกับเวลาและมีความซับซ้อน ซึ่งจะนำมาพัฒนาต่อยอดเพิ่มเติมต่อไป 
 

สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดห่วงโซ่คุณค่า และห่วงโซ่อุปทานแบบใหม่ 4 ประเด็นหลักที่ทำให้เราไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป คือ 

1. คนทั่วไป ให้ความสนใจข้อมูลเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพด้านสุขภาพมากขึ้น นี่คือพลังบวกที่สำคัญ 2.Open Innovation จาก โควิด-19 ซึ่งเป็นปัญหาของโลก ทำให้เกิดความร่วมมือแบบไร้พรมแดนทั้งในและต่างประเทศ 3. เปลี่ยนแนวทางการทำงาน ที่ใช้ Virtual Technology มาเป็นเครื่องมือสำคัญ การถ่ายทอดเทคโนโลยีไม่จำเป็นต้องส่งคนมาอีกต่อไป ไม่ต้องใช้คนมากเท่าเดิมในการถ่ายทอด แถมยังได้ประสิทธิภาพที่มากขึ้น 
 
และ 4. Decentralized Manufacturin การผลิตยาอีกหน่อย เจ้าของผลิตภัณฑ์ไม่จำเป็นต้องมีโรงงานเองอีกต่อไป อาจเหมือน Airbnb โดยใช้ทั้ง Open Innovation และการสื่อสารแบบ Virtual เป็นเครื่องมือ
 
กระบวนการต่างๆ และองค์ความรู้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างพลังบวก และผลักดันให้ไทยมีโอกาสในการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมยาและวัคซีนได้มากขึ้น โดยส่วนของสยามไบโอไซเอนซ์ “ดร.ทรงพล” บอกว่า เราไม่หยุดที่จุดนี้แน่นอน เราจะทำอีกเยอะ ทั้งส่งมอบวัคซีน และทีมงานของที่บริษัทก็จะต้องพัฒนาองค์ความรู้ต่อไป

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,720 วันที่ 7 - 9 ตุลาคม พ.ศ. 2564