ททท.ถอดรหัส ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ดึงต่างชาติเที่ยวไทย 1 ล้านคน

23 ส.ค. 2564 | 02:35 น.

การส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยท่ามกลางวิกฤติโควิดที่ยืดเยื้อ โดยเฉพาะเมื่อยอดติดเชื้อในประเทศทะลุ 2 หมื่นคน หลายประเทศยกระดับเตือนมาไทย ททท.จะเดินอย่างไรในช่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้า นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีคำตอบ

จากสถานการณ์ในขณะนี้ ททท.คาดการณ์ว่าในปี 2564 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 1.2 ล้านคน ก่อให้เกิดรายได้ราว 85,000 ล้านบาท ฝากความหวังไว้ที่การเปิดประเทศในพื้นที่นำร่องแบบไม่กักตัว โดยเฉพาะความสำเร็จของ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ในมิติการสร้างความมั่นใจว่าไม่มีการติดเชื้อจากนักท่องเที่ยวต่างชาติไปยังคนท้องถิ่นในพื้นที่นำร่อง และจากคนท้องถิ่นในพื้นที่นำร่องไปยังนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ยุทธศักดิ์ สุภสร

 

โดยเราพบว่าหลังจากการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ มีอัตราผู้ติดเชื้อที่คัดกรองพบจากการตรวจครั้งที่ 1-3 เพียง 55 คน จากนักท่องเที่ยวทั้งหมด 19,619 คน ( 1 กรกฎาคม ถึง 12 สิงหาคม 2564) คิดเป็น 0.28 % ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เดินทางเข้า “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” จึงทำให้เพิ่มโอกาสความเป็นไปได้ตามแผนการเปิดประเทศในพื้นที่ที่มีความพร้อม ซึ่งจะส่งผลทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้ ต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสแรกของปี 2565

 

ขยายผลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

 

ตั้งแต่ม.ค.-ส.ค.64 ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 7 หมื่นคน โดย 6 เดือนแรกมีเพียง 49,700 คน แต่เมื่อเปิด “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์”1 ก.ค.-16 ส.ค.64 มีนักท่องเที่ยวเข้ามา21,610 คนในช่วงเวลา 47 วันก็ถือว่าไปได้ดีระดับหนึ่ง แต่ด้วยข้อจำกัดของกลุ่มตลาดหลักที่ยังไม่อนุญาติให้เดินทางออกนอกประเทศ อย่างจีน และการแพร่ระบาดในเอเชีย ก็ทำให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์จะเป็นตลาดระยะไกลเป็นหลัก

 

ประกอบกับการติดเชื้อในประเทศที่เพิ่มขึ้นทะลุ 2 หมื่นคนต่อวัน และบางประเทศเริ่มยกระดับการเตือนนักท่องเที่ยวแล้วอย่างอิสราเอล ที่จะมีผลเมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางกลับประเทศต้นทางต้องมีการกักตัว การตั้งเป้าหมายภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง3เดือน(ก.ค.-ก.ย.64)ที่ 1 แสนคน ขณะนี้เราเดินมาเกือบครึ่งทางก็ยอมรับว่าอาจจะยากในสถานการณ์ปัจจัยลบต่างๆ

แต่เรามั่นใจว่าททท.สามารถขยายโอกาสทางการตลาดใหม่ได้ และล่าสุดเราสามารถเปิดการท่องเที่ยวเชื่อมโยงภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์หรือเส้นทาง7+7 ซึ่งหลังนักท่องเที่ยวอยู่ในภูเก็ต 7 วันอีก 7วันหลังสามารถเดินทางไปพักและท่องเที่ยวกับ 3 จังหวัด คือ เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า จ.สุราษฏร์ธานี และไร่เลย์ เกาะพีพี เกาะไหง จ.กระบี่ ตลอดจนเขาหลัก เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ จ.พังงา

 

ททท.เตรียมถอดรหัสความสำเร็จของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ไปยังพื้นที่อื่นๆที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยว อย่าง พื้นที่เกาะ อาทิ เกาะช้าง เกาะกูด เกาะล้าน เป็นต้น รวมถึงเปิดให้ต่างประเทศที่ได้รับวัคซีนสปุตนิก วี (Sputnik V) ที่มีการฉีดไปแล้ว 69 ประเทศมาเที่ยวได้ ทำให้มีช่องทางในการทำตลาดเพิ่มขึ้น และเมื่อควบคุมการติดเชื้อในประเทศไต่ระดับลดลงได้ในไตรมาส4 สถานการณ์ท่องเที่ยวน่าจะคลี่คลายลง ทำให้ไตรมาส4 ต่อเนื่องไตรมาส 1 ปีหน้าก็น่าจะดีขึ้น เราจะพยายามเต็มที่ในการผลักดันให้ต่างชาติมาเที่ยวไทยในปีนี้ 1 ล้านคน

 

ตลาดในประเทศก็เช่นกันที่ผ่านมาซึ่งครึ่งแรกของปีนี้ก็ลดลง จากมาตรการจำกัดการเดินทาง แต่ถ้าโควิดคลี่คลายลงเราก็พร้อมกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 และโครงการทัวร์เที่ยวไทยและโครงการอื่นๆในช่วงปลายปี ซึ่งททท. คาดว่าในปี 2564 ทั้งปี จะมีผู้เยี่ยมเยือนคนไทย 100 ล้านคน/ครั้ง รายได้ 540,700 ล้านบาท

 

โควิดแม้จะกระทบการท่องเที่ยวอย่างมาก แต่วันนี้เราไม่ยอมแพ้ ต้องคิดบวกในการสร้างโอกาสทางการตลาดให้เกิดขึ้น เพราะเราเป็นห่วงผู้ประกอบการท่องเที่ยว สิ่งใดที่ทำแล้วสามารถต่อลมหายใจให้เขาได้เราก็จะพยายามทำ เราต้องบาลานซ์ให้เกิดการท่องเที่ยวควบคู่กับการควบคุมการแพร่ระบาด เปิดพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีความพร้อมให้ได้ตามแผน ทำให้อย่างน้อยธุรกิจก็พอจะลุกขึ้นมาได้บ้างท่ามกลางวิกฤติเช่นนี้

ททท.

 

5 จุดเน้นฟื้นตลาดปีหน้า

 

ส่วนในปี 2565 ททท. ตั้งเป้าหมายการสร้างรายได้ 2 ล้านล้านบาท (Best Scenario) จากแนวโน้มการเติบโตทางการท่องเที่ยวของประเทศไทย) ซึ่งคิดเป็น 2/3 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดในปี 2562 โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์และเน้นคุณภาพ ไม่เน้นจำนวน ให้น้ำหนักกับการเพิ่ม Spending per Trip และการสร้างสมดุลระหว่างรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติกับผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย

 

แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการกระจายวัคซีนในประเทศที่หวังว่าจะคุมการระบาดได้ต้นไตรมาส 4 ปีนี้ การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัว มี SOP เอื้อต่อการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ พร้อมยอมรับวัคซีนที่หลากหลายและครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทางการตลาด ตลอดจนนโยบายอนุญาตให้เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของประเทศต้นทาง

 

ผมมองว่าสภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลังวิกฤติโควิดคลี่คลายลง จะรุนแรงยิ่งกว่าเดิม เพราะทุกประเทศต้องทำทุกวิถีทางที่จะฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของตนอย่างเร็วที่สุด ซึ่งประเทศไทยจากความถดถอยอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เผยให้เห็นปัญหาเรื้อรังด้านโครงสร้างที่เติบโตแบบขาดสมดุล โดยเฉพาะปัญหาเรื่องอุปทานห้องพักส่วนเกินและการพึ่งพาตลาดต่างประเทศเป็นหลักควรใช้โอกาสนี้เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสนี้ เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ (Reboot)

 

ททท.ถอดรหัส ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ดึงต่างชาติเที่ยวไทย 1 ล้านคน

 

โดยททท.จะเน้นส่งเสริมและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิด การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อให้การเติบโตด้านการท่องเที่ยวมีความยั่งยืน และสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว ที่จะเน้นดำเนินการใน 5 เรื่องหลัก คือ The 5 Highs หรือ 5 สูง ประกอบด้วย

 

  • High Quality ขยายตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพสูงที่มุ่งเน้นคุณค่าของประสบการณ์เหนือราคา แก้ปัญหาการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวหลักและวันหยุดสุดสัปดาห์

 

  • High Value พัฒนาสินค้ามูลค่าสูงและมีเอกลักษณ์ที่สอดคล้องกับสินค้าหลักทางการท่องเที่ยวที่กำหนดในยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวแห่งชาติ

 

  • High Impacts สนับสนุนการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวและธุรกิจต่าง ๆ ในห่วงโซ่อุปทานด้านการท่องเที่ยวที่ช่วยลดการสร้างมลภาวะและมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงการใช้เรื่อง Carrying Capacity เป็นเงื่อนไขในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างเหมาะสม ทั้งด้านการพัฒนาและการตลาดการท่องเที่ยว

 

  • High Skills เพิ่มสมรรถนะของกลุ่มผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้มีความยืดหยุ่นและสร้างสรรค์ในการปรับตัวได้อย่างรวดเร็วและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงทั้งในภาวะวิกฤติและภาวะปกติ

 

  • High Tech ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำตลาดการท่องเที่ยวเชิงรุกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจและชุมชน  เพื่อให้การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก้าวไปสู่เส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,707 วันที่ 22 - 25 สิงหาคม พ.ศ. 2564