SNNP โชว์ความพร้อมเสนอขาย IPO แก่นักลงทุนรายย่อย 7 - 9 ก.ค. นี้

06 ก.ค. 2564 | 08:51 น.

SNNP เตรียมเสนอขาย IPO แก่นักลงทุนรายย่อย 7 - 9 ก.ค. เติมศักยภาพไลน์ผลิตภัณฑ์ ฐานการผลิตและระบบจัดจำหน่ายสินค้า กรุยทางสู่ผู้นำตลาดเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยวอาเซียน

นายวิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SNNP ผู้นำผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยวของประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจุบันศรีนานาพร เป็นผู้นำตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยวในประเทศไทย มีแบรนด์พอร์ตโฟลิโอที่แข็งแกร่ง 2 ประเภท ได้แก่ 1.กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ประกอบด้วย เจเล่ คูลลี่คูล ไดยาโมโตะ ฮีโร่บอยส์ และอควาวิตซ์ 2.กลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว ประกอบด้วย เบนโตะ ทาโกะ โลตัส ช๊อคกี้ และเบเกอรี่เฮาส์ 

 

นอกจากทีมวิจัยและพัฒนาที่มีความมุ่งมั่นสร้างสรรค์สินค้าใหม่ที่มีความหลากหลาย ตลอดจนมีระบบการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมSNNPยังมีฐานการผลิตและการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ โดยตั้งเป้าหมายสร้างรายได้แตะ 8,000 ล้านบาท ภายในปี 2569  

 

เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายนั้น SNNPเตรียมเตรียมเสนอขาย IPO แก่นักลงทุนรายย่อย ซึ่ง การระดมทุนครั้งนี้จะทำให้ SNNP เพิ่มขีดความสามารถในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยต่อยอดแบรนด์สินค้าและ   แบรนด์พอร์ตโฟลิโอให้หลากหลายเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในแต่ละประเทศ  (Localization) รวมถึงสร้างความได้เปรียบจากการมีฐานการผลิตและระบบกระจายสินค้าที่ครอบคลุมในภูมิภาค CLMV  ซึ่งจะช่วยผลักดันการขยายธุรกิจของ SNNP ให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยวแห่งอาเซียน

 

ด้านนายวิโรจน์ วชิรเดชกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานธุรกิจในประเทศ กล่าวว่า กลยุทธ์ทางการตลาด บริษัทฯ จะต่อยอดแบรนด์ที่เป็นผู้นำตลาดและมีศักยภาพให้เหมาะกับเทรนด์การบริโภคและกำลังซื้อในแต่ละประเทศ (Localization) ซึ่งจะสามารถยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูงขึ้น 

ควบคู่ไปกับกลยุทธ์การกระจายสินค้าตามช่องทางหลัก ได้แก่ ค้าส่ง ค้าปลีก ช่องทางโมเดิร์นเทรด ออนไลน์ และเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) รวมถึงบริหารและพัฒนาสินค้าให้เหมาะสมกับแต่ละช่องทางการจัดจำหน่าย  ส่งเสริมกลยุทธ์การขายและบริหารพื้นที่จัดจำหน่ายในแต่ละช่องทาง 

 

ปัจจุบัน SNNPมีศูนย์กระจายสินค้า 11 แห่ง ทั่วประเทศ สามารถกระจายสินค้าถึงกลุ่มร้านค้าทั้งค้าปลีกกว่า 70,000 ร้านค้า และร้านค้าส่งกว่า 3,600 ร้านค้า

นายฐากร ชัยสถาพร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานธุรกิจต่างประเทศ กล่าวว่า ธุรกิจของ SNNP มีศักยภาพที่จะเติบโตในภูมิภาค CLMV ได้อีกมาก บริษัทฯ ได้จัดตั้งบริษัทย่อยในกัมพูชา ได้แก่ S.C Food Products Co., Ltd. STVV Development Co., Ltd. และ S.C Food Trading Co., Ltd. ปัจจุบันโรงงานก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อย 

ขณะที่ประเทศเวียดนาม บริษัทฯ มีแผนเข้าลงทุนผ่าน S.T. Food Marketing Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เพื่อผลิตขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มเยลลี่สำเร็จรูปและจัดจำหน่ายในประเทศเวียดนาม โดยได้เริ่มก่อสร้างโรงงานแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จและผลิตสินค้าในปี 2565 ในเฟสแรก ซึ่งเฟสสองจะแล้วเสร็จในปี 2566 

ทำให้บริษัทฯ มีฐานการผลิตทั้งในประเทศไทย กัมพูชา และเวียดนาม จำนวน 6 แห่ง ครอบคลุมประชากรกลุ่มประเทศ CLMV+T รองรับกับความต้องการของตลาดที่มีประชากรกว่า 250 ล้านคน และยังเป็นฐานการผลิตส่งออกสินค้าไปตลาดอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ ส่งออกไปยัง 5 ทวีป รวมกว่า 35 ประเทศทั่วโลก  

นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังจัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อจัดจำหน่ายสินค้าในประเทศจีนและกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ลงทุนในการสร้างการรับรู้ในผลิตภัณฑ์ของกลุ่มผู้บริโภค และขยายประสิทธิภาพในช่องทางการจัดจำหน่าย เสาะหาแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพดี และเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการผลิตให้แก่กลุ่มบริษัทฯ 

 

นายชยุตม์ หลีหเจริญกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานบัญชีและการเงิน กล่าวว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีการลงทุนมากกว่า 1,500 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต สร้างฐานการผลิตและกระจายสินค้าทั้งในและต่างประเทศ  ลงทุนระบบไอทีและนำ Data เข้ามาช่วยวิเคราะห์ตลาด ทั้งหมดนี้จะผลักดัน SNNP  เติบโต 2 เท่าในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2564-2569)  

 

สำหรับการดำเนินงานในไตรมาส 1/2564 (มกราคม-มีนาคม) บริษัทฯ ประสบความสำเร็จอย่างสูง แม้เผชิญปัจจัยลบจาก Covid-19 โดยมีรายได้รวม 1,239 ล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วยรายได้จากการขาย 1,102 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กำไรสุทธิทำได้ 172 ล้านบาท เป็นการทำกำไรเติบโตติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 นับจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 

 

 ซึ่งมีปัจจัยสำคัญมาจากการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตและการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่ปี 2563 โดยต้นทุนขายต่อรายได้อยู่ที่ 73.7% ลดลง 0.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริการต่อรายได้อยู่ที่ 20% หรือลดลง 4.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ กำไรสุทธิดังกล่าวมีรายการพิเศษจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของเงินลงทุนในบริษัทย่อยรวมอยู่ด้วยทั้งสิ้น 128 ล้านบาท

นางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ตัวแทนบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้อนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบไฟลิ่ง) ของ บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

โดยกำหนดช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้นที่ 8.70 – 9.20 บาทต่อหุ้น และเปิดให้นักลงทุนรายย่อยจองซื้อในวันที่ 7 – 9 กรกฎาคม ที่ราคา 9.20 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น   

 

พร้อมกับทำการสำรวจความต้องการจองซื้อของนักลงทุนสถาบัน (Bookbuilding) เพื่อกำหนดราคาเสนอขายสุดท้าย (Final Price) ซึ่งคาดว่าจะประกาศให้ทราบได้ภายในวันที่ 12 กรกฎาคม อย่างไรก็ตาม หากราคาเสนอขายสุดท้ายต่ำกว่าราคาจองซื้อ จะดำเนินการคืนเงินจองซื้อแก่นักลงทุนรายย่อยต่อไป

 

โดยบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย พร้อมแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ 5 ราย เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ประกอบด้วย  บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่กรุ๊ป จำกัด  และบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ส่วนนักลงทุนสถาบันจะจองซื้อในวันที่ 12 – 14 กรกฎาคม ที่ราคาเสนอขายสุดท้าย   

 

ปัจจุบัน บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง มีทุนจดทะเบียน 480 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 960 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท  โดยเป็นทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 360 ล้านบาท และจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 240 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายในครั้งนี้

 

ซึ่งเงินที่ได้จากการระดมทุนจะส่วนหนึ่งจะนำไปลงทุนในบริษัทย่อย เพื่อดำเนินธุรกิจในประเทศเวียดนาม อีกส่วนหนึ่ง จะนำไปชำระเงินกู้ยืมแก่สถาบันการเงิน และส่วนสุดท้าย ก็จะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ