THG เดินหน้าทรานฟอร์เมชั่น ปั้นโทเคนดิจิทัล ยกระดับ ‘เฮลท์แคร์’ ไทย

03 ก.ค. 2564 | 09:57 น.

เปิดยุทธศาสตร์ THG เดินหน้า Health Care Transformation ดึงดิจิทัล เข้าเสริมแกร่ง เชื่อมโยงระบบ วิเคราะห์ ประเมิน ยกระดับการแพทย์ไทยก่อนต่อยอดสู่ธุรกิจอื่น เล็งเปิดตัว “โทเทคดิจิทัล” หลังศึกษานาน 2 ปี

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เครือโรงพยาบาลธนบุรีให้ความสำคัญกับการทรานฟอร์มธุรกิจเฮลท์แคร์ต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

โดยเฉพาะการนำระบบเทคโนโลยี ดิจิทัลต่างๆ เข้ามาใช้ซึ่งเป็นการยกระดับการรักษาพยาบาลและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วย รวมทั้งการเชื่อมโยงสู่ดิจิทัล บิสิเนส แพลตฟอร์ม ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน ทำให้คุณภาพการรักษาพยาบาลดีขึ้น และโรงพยาบาลเองยังเดินหน้าต่อได้

 

โดยเฮลท์แคร์ทรานส์ฟอร์เมชั่นนี้ มีทั้งการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) เข้ามาใช้ อาทิ การเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ที่สามรถใช้ AI ในการอ่านซึ่งได้ผลที่แม่นยำกว่า และยังสามารถเปรียบเทียบจุดแตกต่าง วินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ช่วยแบ่งเบาภาระของแพทย์

 

นอกจากนี้การทำดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่น ทำให้สามารถเชื่อมต่อธุรกิจเข้าด้วยกันทั้งเรื่องของโครงสร้าง รีเทล ประกันรวมถึงการเงิน ซึ่งทุกอย่างสามารถเชื่อมต่อกันได้หมดและสามารถนำมาใช้ร่วมกันได้ ผ่านการออกโทเคนดิจิทัล หรือสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมีการศึกษาทั้งในรูปแบบของ Investment Token หรือโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน และ Utility Token โทเคนดิจิทัล เพื่อการใช้ประโยชน์

 

“เครือโรงพยาบาลธนบุรีศึกษาเรื่องนี้มานาน 2 ปี และพร้อมนำแนวคิดการใช้โทเคนนี้ ในระบบเฮลท์แคร์เมืองไทย และยังมีแนวคิดเชื่อมต่อไปยังเรียลเอสเตท รีเทล โรงแรม อินชัวรัน แล้วก็แบงกิ้ง ทุกอย่างเชื่อมกันหมด ซึ่งคาดว่าโคเคนดิจิทัลนี้จะเปิดตัวได้ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า”

นพ.บุญ กล่าวอีกว่า แพลตฟอร์มที่เราทำใหญ่มาก ผมกำลังทำวัคซีนผมก็เอาขาย Token วัคซีน 3,000 บาท คุณจะซื้อเท่าไรก็ได้ พอวัคซีนผมมา คุณก็มีสิทธิ์นำโทเคน นี้มาซื้อ สมมุติผมตรวจภูมิคุ้มกัน 1,500 บาท เมื่อใช้จ่ายผ่าน Token คุณก็สามารถซื้อในราคาถูกกว่าคนอื่น

THG เดินหน้าทรานฟอร์เมชั่น ปั้นโทเคนดิจิทัล ยกระดับ ‘เฮลท์แคร์’ ไทย

วันนี้ประเทศไทยต้องเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ไม่เปลี่ยนไม่ได้ ต้องกล้าเปลี่ยนเพราะทั่วโลกก้าวเข้าสู่อินโนเวชั่น ไอที ดิจิทัลอีโคโนมีแล้ว เมื่อโครงสร้างเศรษฐกิจทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไป แต่ประเทศไทยยังไม่เปลี่ยนมา 20 ปีแล้ว จะแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างไร ทุกวันนี้คนรู้ว่า ดิจิทัลอีโคโนมีเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่

 

“ทุกประเทศเขาเปลี่ยนไปเป็นดิจิทัลอีโคโนมี แต่ประเทศไทยไม่ขยับ โครงสร้างเรายังเป็นอุตสาหกรรม แบบเดิมๆ สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี ชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งเราไม่เปลี่ยนแต่การเติบโตของประเทศไทยจะให้เติบโตแบบ 9% หรือมากกว่า 10% เช่นในอดีต คงไม่ได้แล้ว ทุกวันนี้เหลือการเติบโตเพียง 2-3% เพราะไทยไม่สามารถแข่งขันกับทั่วโลกได้”

 

อย่างไรก็ดีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปีก่อนจนถึงปัจจุบันที่อยู่ในขั้นวิกฤติทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อทุกธุรกิจ รวมถึงโรงพยาบาลด้วย โดยพบว่าในไตรมาส 1 ปี 2564 เครือโรงพยาบาลธนบุรีมีรายได้รวม 1,566 ล้านบาท ลดลง 19.3% ถือเป็นการลดลงครั้งแรก

ขณะที่โรงพยาบาลยังเดินหน้าต่อทั้งเรื่องของการให้บริการฉีดวัคซีนหลักแก่ประชาชนทั่วไป รวมถึงการให้บริการฉีดวัคซีนทางเลือก “โมเดอร์นา” ซึ่งโรงพยาบาลได้สั่งซื้อเพิ่มไปแล้วผ่านสมาคมโรงพยาบาลเอกชนรวมทั้งสิ้น 10 ล้านโดส เพื่อให้บริการกับประชาชนและองค์กรที่สนใจและสั่งจองเข้ามา ซึ่งคาดว่าจะสามารถให้บริการฉีดวัคซีนได้ภายในเดือนตุลาคมนี้หรือช้าที่สุดคือภายในไตรมาส 4 นี้

THG เดินหน้าทรานฟอร์เมชั่น ปั้นโทเคนดิจิทัล ยกระดับ ‘เฮลท์แคร์’ ไทย

ขณะที่แผนธุรกิจในปีนี้เครือโรงพยาบาลธนบุรีมุ่งขยายการให้บริการรักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพในทุกระดับอายุผ่านเครือข่ายโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลธนบุรี จะมุ่งเน้นการรักษาโรคที่ซับซ้อน ซึ่งมีแผนขยายการลงทุนก่อสร้างอาคารใหม่ จัดหาเครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยีใหม่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาคนไข้ ขณะที่โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมืองจะเน้นการตรวจรักษาเฉพาะทางและดูแลสุขภาพในระดับพรีเมี่ยม

 

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและเปิดให้บริการได้แก่ จิณณ์ เวลเนส ศูนย์ดูแลสุขภาพผู้อยู่อาศัย , ธนบุรี เฮลท์ วิลเลจ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ พักฟื้นผู้ป่วย ดูแลผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงศูนย์หัวใจโรงพยาบาลธนบุรี อีกด้วย

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,693 วันที่ 4 - 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2564