ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม “ฤดูฝน”  ปี2564

19 พ.ค. 2564 | 07:25 น.

“ประวิตร”  สั่ง กอนช. ผนึกกำลังจัดการน้ำทั่วประเทศรับมือฝน ปี 2564 เลขา สทนช.ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมการ และฝนน้อยกว่าค่าปกติ

วันนี้ (19 พ.ค. 64)  กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564 โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในที่ประชุม เรื่อง “บูรณาการเชื่อมโยงจัดการน้ำทั่วไทยด้วย 10 มาตรการรับมือฝน’64” เพื่อติดตามผลสัมฤทธิ์ในการจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา และการเตรียมความพร้อมในการดำเนินการตาม 10 มาตรการ รับมือ “ช่วงฤดูฝนปี 2564

 

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ

 

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบต่อ 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564 ตามที่ กอนช. เสนอ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์น้ำและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชน ประกอบด้วย 1.คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนทิ้งช่วง 2.บริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก 3.ทบทวนและปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และเขื่อนระบายน้ำ

 

4.ซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ และสถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน 5.ปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ 6.ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา 7.เตรียมความพร้อมและวางแผนเครื่องจักรเครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ 8.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ 9.การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเตรียมความพร้อม ตลอดระยะเวลาฤดูฝน และ 10.ติดตามประเมินผลและปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย ตลอดระยะเวลาฤดูฝน สำหรับการประชุมครั้งนี้จึงเป็นการติดตามความพร้อมของแต่ละหน่วยงานตามมาตรการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การรองรับน้ำในฤดูฝนนี้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

สถานการณ์แหล่งน้ำทั่วประเทศ

 

รวมถึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลักเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงพื้นที่เพื่อขับเคลื่อน 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ให้เกิดการเชื่อมโยงผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงกำชับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำ การใช้น้ำ เพื่อลดการสูญเสียน้ำให้มากที่สุด โดยเน้นบริหารจัดการใช้น้ำฝนเป็นหลัก พร้อมเร่งเก็บกักน้ำบนดินและใต้ดิน ภายในเดือน มิ.ย. นี้ สำรองไว้ใช้ในช่วงฝนน้อย

 

อีกทั้งเน้นย้ำกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ติดตาม เฝ้าระวัง แจ้งเตือน น้ำหลากดินถล่ม พร้อมทบทวนแผนเผชิญเหตุให้สอดคล้องกับสถานการณ์ นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานตรวจสอบความพร้อมของระบบระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ อาคารบังคับน้ำ และแนวคันป้องกันน้ำโดยเฉพาะบริเวณจุดเสี่ยงต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที รวมถึงให้มีการสร้างการรับรู้ทั้ง 10 มาตรการ อย่างทั่วถึง เพื่อให้ประชาชนพร้อมรับมือและให้การสนับสนุนร่วมไปกับภาครัฐ โดยให้ สทนช. ทำหน้าที่ติดตาม กำกับให้หน่วยงานดำเนินการตามแผนปฏิบัติการอย่างใกล้ชิด และรายงานให้ กอนช. ทราบทุกเดือน

 

สมเกียรติ ประจำวงษ์

 

ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำหรับการประชุมในวันนี้ ที่ประชุมได้ติดตามความก้าวหน้าในสองประเด็นหลัก ได้แก่ ผลการดำเนินงานตามงบกลาง ปี 63 บรรเทาผลกระทบภัยแล้ง กักเก็บน้ำฤดูฝนและป้องกันน้ำท่วม รวม 23,286 รายการ โดยมี 15 หน่วยงาน ร่วมดำเนินการ พบว่า ด้านแหล่งน้ำ 23,257 แห่ง ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 14,966 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 6,304 แห่ง ยกเลิก 1,987 แห่ง และด้านครุภัณฑ์ 29 รายการ

 

ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ 10 รายการ อยู่ระหว่างดำเนินการ 18 รายการ และยกเลิก 1 รายการ โดยสำหรับส่วนที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการจะมีการเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งหากโครงการด้านแหล่งน้ำดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด จะมีปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้นถึง 702 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำบาดาล 47 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำดิบผลิตประปา 61 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์กว่า 7 ล้านไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 3 ล้านครัวเรือน พื้นที่ได้รับการป้องกัน 2 ล้านไร่ ผู้ใช้น้ำประปาเพิ่มขึ้น 5 แสนราย มีการจ้างแรงงานเกือบ 2 แสนราย และกำจัดปริมาณวัชพืชได้ 7 ล้านตัน

 

พร้อมกันนี้ ได้ติดตามในส่วนของการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รับมือสถานการณ์ฤดูฝน ปี 2564 ซึ่งขณะนี้แต่ละหน่วยงานได้ปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีตัวอย่างความก้าวหน้าที่สำคัญ อาทิ การคาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และฝนน้อยกว่าค่าปกติ พบว่า เดือน ก.ย. มีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมมากที่สุด จำนวน 1,012 ตำบล 290 อำเภอ 56 จังหวัด ส่วนพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งเนื่องจากฝนน้อยกว่าค่าปกติ ในเดือน ก.ค. มีพื้นที่เสี่ยงมากที่สุด จำนวน 1,504 ตำบล 239 อำเภอ 29 จังหวัด  การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อรองรับน้ำหลาก พื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ 0.265 ล้านไร่ เริ่มเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 64 ปัจจุบันเพาะปลูกไปแล้ว 0.245 ล้านไร่ และมีการดำเนินการเตรียมแก้มลิงเพื่อรองรับน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมาตรรวม 13.04 ล้าน ลบ.ม.

 

การซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์/ระบบระบายน้ำ สถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน อาคารชลศาสตร์ แก้ไขแล้ว 2,312 แห่ง คิดเป็น 99% สถานีโทรมาตร แก้ไขแล้ว 4,209 แห่ง คิดเป็น 89% การปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ แก้ไขแล้ว 400 แห่ง คิดเป็น 64% การขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา กำจัดแล้ว 3,779,973 ตัน การเตรียมพร้อม/วางแผนเครื่องจักรเครื่องมือ ประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และพื้นที่ฝนน้อยกว่าค่าปกติ เตรียมความพร้อมแล้ว 40,604 หน่วย การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ และปรับปรุงการส่งน้ำ ขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลพร้อมก่อสร้างระบบกระจายน้ำ 2,498 บ่อ และเติมน้ำใต้ดิน 998 แห่ง เป็นต้น โดย กอนช. จะติดตามในส่วนของงานที่คั่งค้างของทุกหน่วยงานให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปีนี้ ครอบคลุมทั้งการป้องกันปัญหาอุทกภัยและปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ฝนตกน้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด