เพิ่ม thansettakij
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
บิสิเนส แบ็กสเตจ
รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล
คณบดีคณะวิทยพัฒน์
และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
การตั้งพันธกิจหรือปณิธานใหม่ๆ ไม่ได้มีไว้สำหรับบุคคลทั่วไปเท่านั้น แต่ยังใช้ได้กับธุรกิจด้วย ในปีค.ศ. 2020 ที่ยากลำบากเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ตัวเลขผลประกอบการของบริษัทหลายแห่งมีความสำคัญเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับวัฒนธรรมในการทำธุรกิจก็มีความสำคัญมากเช่นกัน การตั้งปณิธานใดๆ ที่ผู้นำบริษัทจะทำขึ้นเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ Mark McClain ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง SailPoint และ ForbesBooks แนะนำว่าการบรรลุเป้าหมายของบุคคล ทีมและบริษัท เริ่มต้นด้วยการที่พนักงานและผู้บริหารทำงานร่วมกันได้ดีในสภาพแวดล้อมที่กระตือรือร้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในช่วงเวลาวิกฤติแบบนี้ McClain เสนอวิธีการตั้งพันธกิจของธุรกิจครอบครัว หรือ Family Mission ไว้ดังนี้
เน้นค่านิยมร่วม มักมีคำพูดที่ชวนเข้าใจผิดที่ว่าบริษัทมี “บรรยากาศแบบครอบครัว” เนื่องจากยิ่งบริษัทใหญ่ขึ้นหรือเติบโตด้านความสามารถและมูลค่ามากขึ้นเท่าใด ก็จะรู้สึกเหมือนเป็นครอบครัวน้อยลงเท่านั้น และจะพบว่าความขัดแย้งเชิงสร้างสรรค์และความไม่เห็นด้วยในกระบวนการและแนวคิดเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ บริษัทที่ชาญฉลาดจะใช้ประโยชน์จากค่านิยมร่วมที่กว้างขึ้นเป็นพื้นฐานที่พนักงานสามารถเชื่อมต่อได้ ทั้งนี้หากมีวัฒนธรรมส่งเสริมให้คนทำงานร่วมกันเพื่อสิ่งที่ดีกว่า พวกเขาจะยังคงชื่นชมซึ่งกันและกันในฐานะเพื่อนมนุษย์และเพื่อนร่วมงาน
หลีกเลี่ยงการเชิดชูคนใดคนหนึ่งให้โดดเด่น คนเก่งสำคัญสำหรับธุรกิจที่ประสบความสำเร็จก็จริง แต่อย่าหลงเชิดชูแต่คนที่มีพรสวรรค์ไม่ว่าพวกเขาจะบอกอยู่เสมอว่าตนพิเศษแค่ไหน การดูคนเก่งทำงานอาจเป็นเรื่องที่น่าทึ่ง แต่ไม่ควรให้พวกเขาโชว์ความสามารถข่มคนอื่นอยู่ฝ่ายเดียว เพราะอย่างไรก็แล้วแต่บริษัทก็ยังคงขับเคลื่อนด้วยคนทุกคน
เพิ่มความซื่อสัตย์เป็นสองเท่า บริษัทเก่าแก่ขนาดใหญ่มักจะเต็มไปด้วยคนที่เข้ามาทำงานและกอบโกยผลตอบแทนกลับไป ซึ่งนับเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องอาศัยความซื่อสัตย์อย่างมากจัดการควบคู่ไปด้วย พนักงานที่มีประสิทธิผลจะรู้ถึงความแตกต่างระหว่างการทำงานยุ่งกับการสร้างมูลค่า ทุกคนในองค์กรต้องเข้าใจชัดเจนว่าความสำเร็จคืออะไร บทบาทของผู้บริหารคือต้องมีวัตถุประสงค์ชัดเจนแล้วปล่อยให้พนักงานดำเนินการไปตามนั้น
อย่าหยุดสร้างนวัตกรรม หลายบริษัทมุ่งมั่นในสิ่งที่ตนเชี่ยวชาญและควรเรียนรู้วิธีการขยายนวัตกรรมของตนพร้อมกับสนับสนุนการบ่มเพาะไอเดียคิดใหม่ๆ ไปด้วย นวัตกรรมเป็นการผสมผสานระหว่างทักษะการตลาดผลิตภัณฑ์และการจัดการผลิตภัณฑ์ การรับฟังตลาด และบุคลากรด้านวิศวกรรมที่สามารถแก้ปัญหาและคิดหาวิธีแก้ไขได้
เป็นคนแรกที่ยอมรับความผิดพลาด ใครก็ตามที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งโดยตรงจะรู้ดีว่าทั้งสองฝ่ายล้วนต้องมีความรับผิดชอบเสมอ โดยยิ่งแสดงความรับผิดชอบในส่วนของตนเร็วเท่าไร อีกฝ่ายก็ยิ่งมีแนวโน้มจะแสดงความรับผิดชอบในส่วนของเขามากเท่านั้น และโครงการก็จะเดินหน้าต่อไปได้
อย่างไรก็ตามการตั้ง Family Business Mission มักจะถูกทิ้งอย่างง่ายดายเพราะคนที่ขาดความมุ่งมั่น สำหรับผู้นำธุรกิจและพนักงานในบริษัท Family Business Mission จะสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมหลักของบริษัท และสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับพนักงานในการร่วมแรงร่วมใจกันฝ่าฟันวิกฤติ
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,651 วันที่ 7 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564