เตือน 11 จังหวัด เสี่ยงท่วมฉับพลัน

19 ต.ค. 2563 | 09:57 น.

กอนช.เตือนภัย 11 จังหวัด  เฝ้าระวังน้ำหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง เสี่ยงท่วมฉับพลัน ระหว่างวันที่ 16-18 ต.ค. จากอิทธิพล ร่องมรสุม

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินฝนจากแผนที่คาดการณ์ปริมาณฝน (One Map) พบว่า ในช่วงวันที่ 21 - 24 ตุลาคม 2563 จะมีฝนเพิ่มขึ้นในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี ขัยนาท นครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี สระแก้ว ปราจีนบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ อาจส่งผลให้ปริมาณน้ำท่าและปริมาณน้ำในแหล่งน้ำเพิ่มสูงขึ้น โดยจากการติดตามปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีมากกว่าร้อยละ 95 หรือเกินเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) มีความเสี่ยงปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเกินความจุ ดังรายละเอียดที่แนบท้ายประกาศ ประกอบด้วย

 

อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา อ่างฯ ลำตะคอง อ่างฯ ลำพระเพลิง อ่างฯ มูลบน จังหวัดนครนายก อ่างฯ ขุนด่านปราการชล และจังหวัดระยอง อ่างฯ หนองปลาไหล  2. อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 77 แห่ง แบ่งเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 45 แห่ง ภาคกลาง จำนวน 3 แห่ง ภาคตะวันออก จำนวน 21 แห่ง ภาคตะวันตก จำนวน ๗ แห่ง และภาคใต้ จำนวน 1  แห่ง

 

เตือน 11 จังหวัด เสี่ยงท่วมฉับพลัน

 

 

ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ ดังนี้  พิจารณาบริหารจัดการน้ำแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 95 หรือเกินเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายอ่างฯ รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก

 

 

 

 

เตือน 11 จังหวัด เสี่ยงท่วมฉับพลัน

พร้อมกับตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำทุกขนาด โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่ถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบดูแล รวมทั้งอาคารบังคับน้ำ ระบบชลประทานต่าง ๆ ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลา ตลอดจนสำรวจและกำจัดสิ่งกีดขวางที่เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ หากมีการชำรุดเสื่อมสภาพ ขอให้เร่งซ่อมแซมบำรุงรักษา และรายงานให้ กอนช.ทราบทันที

 

ในกรณีที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ หรืออาจกระทบต่อความมั่นคงโครงสร้างเขื่อน ขอให้หน่วยงานเตรียมแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน บุคลากร รวมถึงเครื่องจักรเครื่องมือ เพื่อรับมือสถานการณ์ได้ทันที พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบให้ทราบล่วงหน้า  จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ในการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พร้อมด้วยเครื่องจักรเครื่องมือ และดูแลบำรุงรักษาระบบสื่อสารหลักให้สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงจัดเตรียมระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน