ช่องว่างในธุรกิจครอบครัว

22 เม.ย. 2563 | 07:20 น.

ข่าวเศรษฐกิจ อัพเดทข่าววันนี้ ราคาทอง น้ำมัน ข่าวตลาดหุ้น การเงิน ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การตลาด เจาะลึกแบบตรงประเด็น | ฐานเศรษฐกิจ

บิสิเนส แบ็กสเตจ

รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล

คณบดีคณะวิทยพัฒน์  และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

([email protected])

 

ปัจจุบันครอบครัวจำนวนมากกำลังเตรียมความพร้อมสำหรับช่วงเวลาสำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของธุรกิจครอบครัวนั่นคือการถ่ายโอนกิจการ ซึ่งธุรกิจครอบครัวเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากในการกำหนดวิธีการถ่ายโอนความเป็นเจ้าของ การบริหารและความรับผิดชอบในการกำกับดูแลกิจการให้คนรุ่นต่อไป และสิ่งที่พบได้เสมอในระหว่างกระบวนการเหล่านี้คือ ความขัดแย้งระหว่างรุ่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเนื่องจากคนในแต่ละรุ่นมักจะมองโลกด้วยมุมมองที่แตกต่างกันอยู่แล้ว

 

อย่างไรก็ตามจากการสำรวจผู้บริหารธุรกิจครอบครัวกว่า 1,613 รายจาก 27 ประเทศในยุโรปของ KPMG ที่พบว่าธุรกิจครอบครัวในยุโรปกลับไม่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งเหล่านี้ เนื่องจากครอบครัวที่ถูกสำรวจดูเหมือนจะมีความคิดเห็นคล้ายกันในหลายๆ ด้าน โดยรวมแล้วผู้ถูกสำรวจส่วนใหญ่มีความรู้สึกไปในมีทิศทางที่สอดคล้องกันอย่างมากหรือมากที่สุดเกี่ยวกับทิศทางธุรกิจในอนาคต

ช่องว่างในธุรกิจครอบครัว

 

นอกจากนี้ยังพบว่าคนรุ่นอาวุโสมีแนวโน้มที่จะมีความรู้สึกในแง่ดีเกี่ยวกับความสอดคล้องระหว่างรุ่นมากกว่าคนรุ่นใหม่ และเป็นที่น่าสังเกตว่ายิ่งธุรกิจครอบครัวมีขนาดใหญ่เท่าใดก็ยิ่งมีแนวโน้มมากที่ผู้ถูกสำรวจจะรายงานความสอดคล้องกันอย่างยิ่งระหว่างรุ่น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความขัดแย้งระหว่างรุ่นเกิดขึ้นเลย มีข้อสังเกตว่าคนรุ่นอาวุโสอาจเป็นผลจากประสบการณ์ที่ได้พบเห็นมาตลอดชีวิตและการเฝ้าดูธุรกิจของตนผ่านวัฏจักรธุรกิจมานับไม่ถ้วน ทั้งในยุคความรุ่งเรืองและตกตํ่าทางเศรษฐกิจ หรืออีกในแง่หนึ่งคือคนรุ่นอาวุโสอาจมองโลกในแง่ดีเพราะไม่ได้ตระหนักอย่างแท้จริงว่าสิ่งต่างๆอาจจะไม่สามารถก้าวข้ามไปได้เช่นในอดีตอย่างที่คิด

 

นอกจากนี้คนรุ่นอาวุโสในธุรกิจครอบครัวจำนวนมากมักเมินเฉยต่อมุมมองของคนรุ่นใหม่ ซึ่งนำไปสู่การสื่อสารที่ผิดพลาด ความคับข้องใจและความขัดแย้งขึ้นได้ ในขณะที่คนรุ่นใหม่ก็อาจมีความกดดันจากความคาดหวังให้สร้างความสำเร็จทางธุรกิจให้เทียบเท่าหรือมากกว่าที่รุ่นอาวุโสเคยทำไว้ และอาจสงสัยว่าจะทำให้สำเร็จได้อย่างไรในโลกที่ดูเหมือนจะไม่แน่นอนอย่างนี้

 

ผู้เชี่ยวชาญของ KPMG Enterprise และ EFB ต่างมองว่าการสืบทอดกิจการเป็นกระบวนการ ไม่ใช่เหตุการณ์ ดังนั้นไม่ว่าครอบครัวจะคิดว่าสิ่งต่างๆกำลังดำเนินไปได้ดีเพียงใด คนรุ่นอาวุโสก็ควรใช้ความพยายามร่วมกันที่จะนำคนรุ่นใหม่เข้าสู่ธุรกิจเสียแต่เนิ่นๆ โดยคนรุ่นอาวุโสจำเป็นต้องยกเลิกการควบคุมในบางเรื่องและปล่อยให้คนรุ่นใหม่ได้ค้นหาบทบาทหรือหน้าที่ของตนภายในบริษัท ซึ่งจะทำให้คนรุ่นใหม่สามารถสร้างรากฐานของตนเองได้

 

 

ในขณะที่คนรุ่นอาวุโสยังคงให้การสนับสนุน ให้คำปรึกษาและชี้แนะพวกเขาไปด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่าคนรุ่นอาวุโสควรใส่ใจที่จะรับฟังไอเดียและข้อกังวลของคนรุ่นใหม่ด้วยใจที่เปิดกว้าง และไม่เผลอทิ้งไอเดียและข้อกังวลเหล่านั้นไปอย่างไม่ตั้งใจ โดยหาทางประสานเข้ากับคนรุ่นใหม่ เชื่อมต่อช่องว่างและทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขและบรรเทาข้อกังวลของคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับธุรกิจและหน้าที่ของพวกเขาในบริษัทด้วย เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่นโดยไม่มีการหยุดชะงัก ซึ่งย่อมเป็นผลดีต่อธุรกิจแน่นอน 

 

ที่มา:  KPMG Enterprise. 2019. European family business barometer: Succession top of mind as business families eye their legacy. 8th edition. Available: https://assets.kpmg/content/dam/kpmg/xx/pdf/2019/11/european-family-business-barometer.pdf

ข้อมูลเพิ่มเติม: www.famz.co.th

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,567 วันที่ 19-22 เมษายน 2563