Trihub กอดคอพันธมิตร ชูกลยุทธ์เพิ่มรายได้ยั่งยืน

16 ก.ย. 2562 | 03:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ร้าน “ไตรฮับ” (Trihub) ถือกำเนิดขึ้นมาจากความชอบ จนถึงขั้นหลงใหล ในกีฬาที่เรียกว่า ไตรกีฬา (วิ่ง ว่ายนํ้า ปั่นจักรยาน) จนเข้ากระแสเลือดของ “ศศิทัต  กุลทรัพย์ตระกูล” หนุ่มนักบินจากสายการบินแห่งชาติ  ที่เริ่มต้นเล่นกีฬาประเภทดังกล่าวประมาณปี 2554 โดยที่ในขณะนั้นอุปกรณ์เกี่ยวกับการเล่นไตรกีฬายังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย  ต้องบินไปซื้อจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา  ออสเตรเลีย และอังกฤษ หลังจากนั้นจึงมีผู้แนะนำให้ทดลองหิ้วผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับไตรกีฬาเข้ามาจำหน่าย เส้นทางการทำธุรกิจบนกีฬาที่รักจึงเริ่มเปิดขึ้น

Trihub กอดคอพันธมิตร    ชูกลยุทธ์เพิ่มรายได้ยั่งยืน

 

ความหลงใหลสู่ธุรกิจ

ศศิทัต ในฐานะกรรมการผู้จัดการ  บริษัท บี แอนด์ บี เอาท์ดอร์ สปอร์ต จำกัด บอกกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ความที่ตนเองไม่ชอบหิ้วของจากต่างประเทศมาจำหน่าย เพราะมองว่าไม่น่าจะเป็นการทำธุรกิจที่ยั่งยืน  แต่ต้องการทำให้เป็นระบบมากกว่า ไม่ใช่ว่าพอเหนื่อยแล้วก็ต้องเลิกไป  โดยจะต้องมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงนั้นตนทำธุรกิจเป็นผู้จัดจำหน่ายกระเป๋าแบรนด์หนึ่งจากประเทศอังกฤษในภูมิภาคเอเชีย ต้องมีการเดินทางไปพบกับผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่จากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ญี่ปุ่น, เกาหลี และฮ่องกง

ทั้งนี้  จึงทำให้ตนได้มีโอกาสเห็นตลาดไตรกีฬาของประเทศเหล่านั้น  ซึ่งมีอัตราการเติบโตอย่างมาก  โดยมองว่าหลายแบรนด์ยังไม่มีจำหน่ายในไทย จากที่จำหน่ายกระเป๋าเพียงอย่างเดียว  จึงนำมาซึ่งอุปกรณ์ประเภทรองเท้า แว่นตาว่ายนํ้าและขยายเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อต้องการสร้างแบรนด์  หรือแสดงตัวตนให้ผู้บริโภคในตลาดได้รู้จักจึงต้องมีการออกงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับไตรกีฬาทุกงาน ทำให้ได้รู้จักกับแบรนด์อื่นเพิ่มเติม หรืออุปกรณ์อื่นที่มีจำหน่ายในตลาด  เนื่องจากไตรกีฬาในไทยมีอัตราการเติบโตขึ้นอย่างมาก

Trihub กอดคอพันธมิตร    ชูกลยุทธ์เพิ่มรายได้ยั่งยืน Trihub กอดคอพันธมิตร    ชูกลยุทธ์เพิ่มรายได้ยั่งยืน

“จากที่เคยมีบ้านเป็นออฟฟิศ และทำร่วมกับแฟนพร้อมกับพนักงานอีก 1-2 คนเริ่มจะไม่พอ  โดยต้องการมีพื้นที่ในการโชว์ผลิตภัณฑ์ ซึ่งจากการที่ออกบูธทำให้ได้รู้ว่าผู้ประกอบการรายอื่นก็ยังไม่มีพื้นที่ในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหมือนกัน  ตนจึงนำทั้งผลิตภัณฑ์ที่ตนนำเข้ามาจำหน่าย  รวมถึงของผู้ประกอบการรายอื่นทั้งที่นำเข้า  และแบรนด์ไทยมาจำหน่ายด้วย พร้อมทั้งขายจักรยานให้กลายเป็นร้านจำหน่ายอุปกรณ์เกี่ยวกับไตรกีฬาที่สมบูรณ์แบบอย่างจริงจัง  ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าแรกของไทยที่เป็นร้านเฉพาะของกีฬาประ เภทนี้  และเกิดเป็นร้าน Trihub ขึ้นมาในที่สุดเมื่อปี 2560”


 

ร่วมมือกันสร้างตลาด

สำหรับวิสัยทัศน์ในการทำตลาดของ ศศิทัต นั้นถือว่าไม่ธรรมดา  เพราะเลือกที่จะใช้กลยุทธ์การร่วมมือกับผู้ประกอบการรายอื่นให้เติบโตไปด้วยกัน เนื่องจากมองว่าตลาดมีความกว้างพอสำหรับผู้เล่นทุกราย เพียงแค่จับมือกันทำให้เติบโต ช่วยกันขยายตลาด  โดยหากคิดว่าตลาดมีอยู่เพียงเท่านี้ และต้องมาชิงกันท่าจะลำบาก  เพราะฉะนั้นจึงร่วมมือกันเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกัน น่าจะเป็นอะไรที่ยั่งยืนมากกว่า

Trihub กอดคอพันธมิตร    ชูกลยุทธ์เพิ่มรายได้ยั่งยืน Trihub กอดคอพันธมิตร    ชูกลยุทธ์เพิ่มรายได้ยั่งยืน

“การร่วมมือกันเชื่อว่าเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ เช่น การทำตลาดร่วมกับบัตรเครดิตเคทีซี ไลน์เพลย์ โดยทั้งช่องทางของเราเอง และช่องทางของพาร์ตเนอร์จะช่วยส่งกันทำให้ภาพรวมของตลาดใหญ่ขึ้น เปรียบเสมือนเป็นการช่วยกันโหมตลาด”

ส่วนกลยุทธ์ในการทำตลาดระยะต่อไปของ Trihub นั้น  จะยังไม่มีการขยายหน้าร้าน  แต่จะเน้นการบริหารจัดการ  และการวางระบบให้เป็นระเบียบในรูปแบบองค์กร  หรือทำให้มีเสถียรภาพ  เพื่อให้การเติบโตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  จากเดิมที่การเติบโตจะเป็นเสมือนการหว่านแห โดยร้านจะมีการวางระบบสต๊อก จัดทำระบบบัญชี ซึ่งจะทำให้รู้ได้ทันทีว่าผลิตภัณฑ์ชนิดใดจำหน่ายได้ดี  และจะต้องสั่งมาเพิ่มเติมเมื่อใด  ไม่จำเป็นจะต้องสต๊อกไว้คราวละมากๆ โดยเป็นการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีศักยภาพ  

Trihub กอดคอพันธมิตร    ชูกลยุทธ์เพิ่มรายได้ยั่งยืน

“เดิมทีจะใช้ความรู้สึกว่าควรสั่งผลิตภัณฑ์ใดเข้ามาจำหน่าย  และมักจะสต็อกของไว้ครั้งละมากๆ  ทำให้ต้นทุนจม แต่เมื่อมีการวางระบบแล้วตัวเลขจะบ่งบอกได้ชัดเจนว่าเราควรสั่งอะไร  เมื่อไหร่  ผลิตภัณฑ์ชิ้นไหนที่ลูกค้านิยมซื้อ ตนเองก็จะสามารถวางมือไปทำอย่างอื่นได้มากขึ้น  มีการวางสายงานให้มีผู้รับผิดชอบในแต่ละส่วน โดยที่ทุกบริษัทจะต้องมีเป้าหมาย ซึ่งบริษัทของตนก็คือการสร้างบริษัทที่เกี่ยวกับไตรกีฬา โดยพนักงานทุกคนจะต้องทำงานด้วยความสุข  มีสุขภาพที่ดี  ได้เล่นกีฬาที่ชอบควบคู่ไปกับการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท”

เมื่อสามารถจัดสรรทุกอย่างให้เป็นระบบได้  ก็จะเป็นการปูทางไปสู่การขยายสาขาแห่งที่ 3 ในอนาคต โดยในปีนี้บริษัทวางเป้าหมายเรื่องของรายได้ไว้ที่ 36 ล้านบาท  และจะขยายเพิ่มเป็น 60 ล้านบาทในปี 2563 ซึ่งจะมาจากการหาตัวแทนจำหน่ายเพิ่มเติมในการสร้างยอดขาย โดยเพิ่มเป้าอย่างมีเหตุมีผล เพื่อที่พนักงานจะได้ไม่เหนื่อยจนเกินไปและรู้สึกว่าสามารถทำได้

 

ทำตลาดแบบบูรณาการ

ศศิทัต บอกต่อไปว่า แนวโน้มการเติบโตของตลาดทางด้านไตรกีฬายังมีอีกมาก เพราะผู้เล่นจะไม่เลิกเล่นกีฬาประเภทนี้ แต่จะเสพติดการพัฒนาตัวเองให้แข็งแกร่งมากขึ้น อีกทั้งการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ที่ใส่ใจเรื่องของสุขภาพก็จะเป็นปัจจัยผลักดันที่ทำให้ตลาดขยายได้มากขึ้น นอกจากนี้ร้าน Trihub ยังถือว่ามีความได้เปรียบจากการรวบรวมกีฬาทั้ง 3 ประเภทมาไว้ด้วยกัน โดยสามารถตอบโจทย์ได้ทั้งนักไตรกีฬา และผู้ที่เล่นกีฬาแต่ละประเภทโดยเฉพาะ   

Trihub กอดคอพันธมิตร    ชูกลยุทธ์เพิ่มรายได้ยั่งยืน   

“การทำตลาดในอดีตและปัจจุบันมีความยากง่ายแตกต่างกันไป  โดยในอดีตการทำตลาดจะเป็นแบบการเจาะจง แต่การทำตลาดทุกวันนี้ต้องเป็นแบบบูรณาการ จะต้องมีการให้ความรู้ การให้บริการ การชี้นำเพื่อนำมาสู่ผลิตภัณฑ์ที่จะจำหน่าย  ซึ่งผู้ประกอบการยุคใหม่จะต้องปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยี  และช่องทางการทำตลาดใหม่ๆ  เพราะตลาดมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การซื้อผลิตภัณฑ์บนช่องทางออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้น ผู้บริโภคเริ่มคุ้นเคย  ขณะที่สถาบันการเงินก็พยายามอำนวยความสะดวกให้อย่างเต็มที่  ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด”

หน้า 8 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3505 วันที่ 15-18 กันยายน 2562

Trihub กอดคอพันธมิตร    ชูกลยุทธ์เพิ่มรายได้ยั่งยืน