เปิดแนวรบบริการส่งด่วนหน้าใหม่แห่แจ้งเกิดรับอี-คอมเมิร์ซโต

07 ก.ย. 2562 | 08:05 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

1-2 ปีที่แล้วเป็นการแข่งขันของธุรกิจอี-มาร์เก็ตเพลส และจากการเติบโตของอี-คอมเมิร์ซที่โตต่อเนื่องกว่า 8-10% ต่อปี โดยมีมูลค่าตลาดสูงถึง 3.2 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะ B2C (Business to Consumer) ที่เติบโตสูงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน ทำให้ปีนี้ธุรกิจโลจิสติกส์ หรือ บริการส่งด่วน ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบนิเวศอี-คอมเมิร์ซ มีการเคลื่อนไหวมากสุด โดยเฉพาะการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ๆ จนทำให้ธุรกิจดังกล่าวกำลังกลายเป็นทะเลเดือด มีช่วงชิงอัดโปร ส่งเร็ว รับถึงหน้าบ้าน ลดค่าส่ง ข้อดี คือผู้บริโภค ผู้ค้าออนไลน์มีทางเลือกบริการมากขึ้น

 

นายบรูซ หลิว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เจแอนด์ที เอ็กซ์เพรส ไทยแลนด์ เปิดเผยว่า เจแอนด์ที เอ็กซ์เพรส (J&T Express) เริ่มให้บริการในไทยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา ด้วยงบลงทุนกว่า 2,500 ล้านบาท ปัจจุบันมีสาขาให้บริการครอบคลุม 928 อำเภอ ใน 77 จังหวัด มีศูนย์กระจายสินค้า 14 แห่งทั่วประเทศ และมีจำนวนพัสดุที่ขนส่งต่อวันกว่า 100,000 ชิ้น ทั้งนี้เจแอนด์ที ตั้งเป้าสิ้นปีนี้จะขยายสาขาในไทยเพิ่มเป็นกว่า 1,000 สาขา ซึ่งเป็นสาขาที่บริหารงานเองทั้งหมด นอกจากนี้คาดว่าจะเพิ่มศูนย์กระจายสินค้าให้ครบ 15 แห่ง จำนวนรถขนส่งกว่า 1,000 คัน พนักงานให้บริการกว่า 1 หมื่นคน และเพิ่มยอดจำนวนพัสดุต่อวันให้ได้อยู่ที่ 300,000 ชิ้น ซึ่งจุดแข็งที่เจแอนด์ทีเหนือกว่าคู่แข่ง คือ การเปิดให้บริการ 365 วันไม่มีวันหยุด และบริการคอลล์เซ็นเตอร์ 24 ชั่วโมง

“เจแอนด์ที เริ่มต้นที่ประเทศอินโดนีเซีย หลังจากเป็นเบอร์ 1 ในอินโดนีเซียแล้ว จึงต้องการที่จะขยายฐานธุรกิจไปยังประเทศต่างๆ ให้ครอบคลุมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งเวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ซึ่งเป็นอีกกลุ่มเป้าหมาย ที่มีการเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่สูงและมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอีกในอนาคต”

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเจแอนด์ที เอ็กซ์เพรสใช้ระยะเวลาในการทำตลาดที่ประเทศอินโดนีเซียกว่า 4 ปี เพื่อก้าวสู่การเป็นเบอร์ 1 ซึ่งปัจจุบันมีสาขาทั้งสิ้นกว่า 4,000 สาขาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์กระจายสินค้า 200 แห่ง และพนักงานกว่า 5 หมื่นคน โดยมีจำนวนพัสดุที่ส่งกับเจแอนด์ทีกว่า 2 ล้านชิ้นต่อวัน และบริการส่งพัสดุที่กว่า 70% สามารถจัดส่งได้ภายในวันถัดไป นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีที่ใช้ในการติดตามพัสดุ (Tracking) ผ่าน 3 ช่องทาง คือ แอพพลิเคชัน เว็บไซต์ และคอลล์เซ็นเตอร์ สำหรับเรื่องของเป้ารายได้ในไทยนั้นยังไม่ขอเปิดเผย เนื่องจากเพิ่งเข้ามาทำตลาดในไทยได้เพียงแค่ปีเดียว อยู่ในช่วงของการศึกษาตลาด ในระหว่างนี้ก็จะเรียนรู้การดำเนินธุรกิจจากกลยุทธ์ของคู่แข่งเช่นกัน ซึ่งกลยุทธ์ด้านราคานั้น เจแอนด์ทีอ้างอิงราคาในการให้บริการจากคู่แข่งที่มีในตลาด โดยมีราคาค่าขนส่งที่ใกล้เคียงกับมาตรฐานอยู่ที่ประมาณ 35 บาท

เปิดแนวรบบริการส่งด่วนหน้าใหม่แห่แจ้งเกิดรับอี-คอมเมิร์ซโต

ขณะที่ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เบสท์ เอ็กซ์เพรส ในเครือเบสท์ กรุ๊ป มีบริษัทร่วมทุนยักษ์ใหญ่อย่าง อาลีบาบา และไช่เหนี่ยว ได้มีการเปิดให้บริการธุรกิจขนส่งในประเทศไทย โดยทุ่มงบลงทุนกว่า 5 พันล้านบาท ชูจุดแข็งบริการส่งด่วน next day service ส่งวันนี้ถึงพรุ่งนี้ ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ ที่ตั้งเป้าภายในปี 2563 จะเพิ่มจำนวนการรับส่งพัสดุจาก 100,000 ชิ้นต่อวัน เป็น 150,000 ชิ้นต่อวัน และตั้งเป้าที่จะขยายสาขาแฟรนไชส์เพิ่มเป็น 100-120 แห่งภายในสิ้นปีนี้โดยโฟกัสการทำตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีอัตราการเติบโตอี-คอมเมิร์ซค่อนข้างสูง

 

นอกจากนี้ แฟลช เอ็กซ์ เพรส บริษัทร่วมทุนไทยจีน ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากอาลีบาบาและนักลงทุนทางด้าน อี-คอมเมิร์ซ จากสหรัฐฯกว่า 2,500 ล้านบาท เพื่อรุกตลาดไทย ล่าสุดได้เปิดตัวธุรกิจ Flash Home ช่องทางสำหรับการส่งสินค้าในชุมชนให้ผู้ประกอบการรายย่อย และกลุ่มร้านค้าออนไลน์ที่สนใจเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งมีการเติบโตสูงถึง 100% มีสาขามากกว่า 1,700 สาขาทั่วประเทศ และคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีจำนวนสาขาเพิ่มเป็น 2,000 สาขา โดยมียอดจัดส่งพัสดุไปแล้วกว่า 1.4 ล้านชิ้น สร้างกำไรให้แก่สมาชิกโครงการ ราว 8.5 ล้านบาท พร้อมกับทุ่มงบ 800 ล้านบาท เพิ่มรถขนส่งทั่วประเทศเป็น 6,000 คัน ตั้งเป้าสิ้นปีนี้สามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจขนส่งด่วนเพิ่มขึ้น 10% อีกทั้งยังได้ร่วมกับนิ่มซี่เส็งโลจิสติกส์ทุ่มงบลงทุนกว่า 200 ล้านบาท ก่อตั้ง “บริษัท แฟลช โลจิสติกส์ จำกัด” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในธุรกิจโลจิสติกส์ ตั้งเป้าสู่การเป็นอูเบอร์ด้านธุรกิจขนส่งที่เชื่อมผู้ประกอบการขนส่งและผู้ประกอบการร้านค้าทั่วประเทศเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์ม

 

อย่างไรก็ตามตลาดขนส่งในไทยถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มาก โดยยังมีช่องว่างและโอกาสในการเติบโตของตลาดได้อีก แต่การแข่งขันในธุรกิจนี้ก็ค่อนข้างดุเดือดเช่นกัน ทั้งการใช้กลยุทธ์ด้านราคา ระยะเวลาการจัดส่งที่รวดเร็ว สาขาหรือจุดบริการที่ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ รวมถึงการผนึกพันธมิตร หรือการขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์เพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจ 

 

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3502 ระหว่างวันที่ 5 - 7  กันยายน 2562