กสทช. เดินหน้าซักซ้อมแผนภัยพิบัติฯในพื้นที่ภาคใต้

28 มี.ค. 2559 | 04:27 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว และคลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ที่ผ่านมา ทำให้ 6 จังหวัดในพื้นที่ทางฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ จังหวัดระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง และสตูล ที่ได้รับผลกระทบ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติมากกว่า 5,395 คน ผู้สูญหายมากกว่า 2,000 คน และบาดเจ็บประมาณ 8,000 คน ส่วนอาคารบ้านเรือน โรงแรมที่พัก พื้นที่ชายฝั่งทะเลไทยได้รับผลกระทบมากกว่า 475,000 ไร่ ถึงแม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะผ่านมา ถึง 12 ปีแล้วก็ตาม แต่เหตุการณ์นี้ ยังคงเป็นฝันร้ายของประชากรในบริเวณนั้นจวบจนทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม “แผ่นดินไหว – สึนามิ” เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า และภัยดังกล่าวเป็นภัยที่สร้างความเสียหายมหาศาล ทั้งทรัพย์สิน และชีวิตของมนุษย์ ซึ่งหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องตื่นตัว ปรับปรุงระบบเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะระบบการสื่อสารโทรคมนาคม ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ประชาชนใช้บริการอย่างกว้างขวาง ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินที่เกิดจากภัยธรรมชาติในพื้นที่ต่างๆ จนส่งผลให้การติดต่อสื่อสารในพื้นที่ที่ประสบเหตุ เกิดความไม่ครอบคลุมของสัญญาณ ซึ่งประชาชนผู้ประสบภัย มีความต้องการใช้ในการติดต่อสื่อสารกับหน่วยงาน หรือบุคคลต่าง ๆ นอกพื้นที่ เพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารหรือขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ที่ผ่านมาถึงแม้ว่าจะมีหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมมือดำเนินงานช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ในกรณีภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ แต่พบว่าการดำเนินการดังกล่าวมีปัญหาและอุปสรรคสำคัญ ทำให้การดำเนินการไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร อาทิ แนวทางการปฏิบัติไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ขาดแผนปฏิบัติที่ชัดเจน ขาดความเข้าใจในบทบาทของตนเอง อีกทั้งการประชาสัมพันธ์สื่อสารข้อมูลระหว่างหน่วยงานไม่เพียงพอ และขาดการสนับสนุนด้านนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาล เป็นต้น

ดังนั้น เพื่อให้การประสานงานระหว่างสำนักงาน กสทช. และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และลดขั้นตอนในสภาวการณ์ที่ไม่ปกติ จึงควรมีการกำหนดการดำเนินงาน ดังนี้ คือ การกำหนดผู้ประสานงานของสำนักงาน กสทช. และผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อการประสานงานที่มีประสิทธิผลสูงสุด พร้อมรายงานแลกเปลี่ยนข้อเท็จจริงระหว่างสำนักงาน กสทช. และผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด พร้อมสร้างความร่วมมือเพื่อทำให้ระบบการสื่อสารโทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถใช้งานในพื้นที่ประสบเหตุ ทั้งอุปกรณ์เคลื่อนที่ หรือสำรองติดตั้งเพื่อให้มีสัญญาณโทรศัพท์ พร้อมกำหนดมาตรการควบคุมช่องทางการสื่อสารทางเสียง รวมถึงการกู้ระบบสื่อสารให้คืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

นอกจากนี้ ยังมีการวางระดับความเสียหาย และแนวทางการแก้ไข คือ ความเสียหาย ระดับที่ 1 ต้องนำรถ Mobile unit เข้าให้บริการเสริม และเพิ่มจำนวนช่องสัญญาณ ให้เพียงพอต่อความต้องการ ปรับสัดส่วนทราฟฟิคขาเข้า และขาออกให้เหมาะสม พร้อมกำหนดระยะเวลาการใช้งานในแต่ละสายสนทนาเพื่อให้ใช้งานเท่าที่จำเป็น ช่องสัญญาณการสื่อสารทางเสียงต้องเป็นหลัก และแจ้งหมายเลขเพื่อกำหนดเลขหมายที่สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา รายงานการดำเนินการกับสำนักงาน กสทช. ตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในคู่มือ ระดับที่ 2 ซ่อมแซมโครงข่ายที่เสียหาย ภายใน 24 ชม. ผู้ให้บริการต้องส่งข้อความสั้น (SMS) ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลเลขหมายที่ใช้ในการติดต่อหรือแจ้งเตือนผลกระทบจากภัยพิบัติ ระดับที่ 3 เข้าซ่อมแซมโครงข่ายส่วนที่เสียหายให้พร้อมใช้งานโดยเร็ว ดำเนินการตามที่กำหนดในขั้นตอนที่ประสบเหตุในระดับที่ 1 และ 2 รายงานการดำเนินการกับสำนักงาน กสทช. ตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในคู่มือ และให้มีหนังสือแจ้งรายงานเหตุพร้อมการดำเนินการตามประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้อง

นายก่อกิจ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “เพื่อให้การดำเนินการของสำนักงาน กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐมีหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับการเตือนภัย และการช่วยเหลือผู้ประสบภัย หลายภาคส่วนต้องให้ความร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อลดความเสียหายทั้งชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน เวลา 3 - 5 นาที อาจหมายถึง 1 ชีวิต เราจะไม่เขียนแผนเป็นเล่ม แล้ววางอยู่บนโต๊ะอย่างเดียว ต่อไปนี้ เราจะย่อเหลือเพียง 2 หน้า และต้องได้ปฏิบัติ เราต้องเดินไปข้างหน้าทุกวัน