‘เวนดิ้ง แมชีน’บูม ซีพีแจ้งเกิด ตู้อัตโนมัติ7-11

23 ก.ค. 2562 | 12:27 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

จับตาธุรกิจ “เวนดิ้ง แมชีน” คึกคัก รับไลฟ์สไตล์คนไทยยุค 4.0 บิ๊กเนมโดดพัฒนาสินค้าตอบโจทย์ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ ฯลฯ ด้าน “ซีพี รีเทลลิงค์” นำร่องตั้ง 120 จุด ทั้งตู้อัตโนมัติ 7-11 กาแฟยันข้าวหน้าเป็ด ชูจุดขายจ่ายผ่านอี-วอลเล็ต ไร้เงินสดก็ซื้อได้

กลายเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่ต้องจับตาสำหรับ “เวนดิ้ง แมชีน” หรือเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ที่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดในปีที่ผ่านมา หลังจากการเข้ามาของบิ๊กเนมอย่างเครือซีพี ผนวกกับการก้าวสู่ยุคดิจิทัล เปลี่ยนให้วิถีคนเมืองก้าวสู่สมาร์ทไลฟ์ ความสะดวก รวดเร็ว ทันสมัยจึงแทรกเข้ามาในชีวิตได้ง่ายขึ้น เปลี่ยนตลาดที่เคยเงียบเหงา ให้กลับกลายมาคึกคัก และเป็นช่วงเวลาทองของ“เวนดิ้ง แมชีน” เลยทีเดียว

วันนี้มีเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติกระจายอยู่ทั่วประเทศแล้วกว่า 2 หมื่นตู้ และจากการประเมินของผู้รู้ในวงการเวนดิ้ง แมชีนเชื่อว่า ด้วยศักยภาพของประเทศไทยสามารถมีตู้เวนดิ้ง แมชีนได้มากถึง 1 ล้านตู้ แม้ปัจจุบันจะมีสินค้าถูกนำมาวางจำหน่ายในตู้อัตโนมัติหลากหลายขึ้นทั้งกาแฟ สแน็ค เบเกอรี่ เครื่องดื่ม สินค้าในชีวิตประจำวัน เป็นต้น ก็เชื่อว่าจะสามารถนำสินค้าอื่นๆมาวางจำหน่ายผ่านตู้อัตโนมัติได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นของกลุ่มฟู้ดและนอนฟู้ด ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ตลาดโตเร็วยิ่งขึ้น

‘เวนดิ้ง แมชีน’บูม ซีพีแจ้งเกิด ตู้อัตโนมัติ7-11

ขณะเดียวกันอีกปัจจัยที่ผลักดันให้ตลาดมีการขับเคลื่อนและเติบโตคือ ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ต้องการความสะดวก รวดเร็ว รวมถึงระบบการจ่ายเงินก็ถูกพัฒนาให้สามารถชำระผ่านระบบอี-เพย์เมนต์ หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งการชำระด้วยอี-วอลเล็ต หรือ QR Code ทำให้แม้ไม่มีเงินสดก็สามารถซื้อสินค้าได้ตามต้องการ

ไม่เพียงแต่กลุ่มสินค้าที่ตอบโจทย์การอุปโภคบริโภคของคนทั่วไปเท่านั้น หากแต่ปัจจุบันเวนดิ้ง แมชีน ก็ขยายเข้าสู่บริการไปยังสัตว์เลี้ยงแสนรัก ด้วยการเปิดตัวตู้จำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยงอัตโนมัติ และชั้นวางจำหน่ายสินค้าอัจฉริยะ ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เพ็ทฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่าย อาหารสุนัขภายใต้แบรนด์ “เจอร์ไฮ” บริษัทในเครือซีพี ด้วยต้องการตอบโจทย์ผู้เลี้ยงยุคใหม่ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว สามารถสั่งซื้อสินค้าและจัดส่งผ่านระบบออนไลน์หน้าตู้ และชั้นวางได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยวางเป้าติดตั้งจุดจำหน่ายดังกล่าวร่วมกับคู่ค้าให้ได้ 80 จุดในสิ้นปีนี้

นายนริศ ธรรมเกื้อกูล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด ผู้จำหน่ายอุปกรณ์อาหารและเครื่องดื่ม และผู้บริหารร้านกาแฟ “กาแฟมวลชน” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แผนการดำเนินงานและยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนธุรกิจในปีนี้ บริษัทจะให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อรองรับการทำธุรกิจยุค 4.0 ซึ่งเป็นยุคของการใช้ความเร็ว ใช้เทคโนโลยีและการใช้ทรัพยากรบนโลกให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และพร้อมปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะการสื่อสารผ่านโซเชียล มีเดียมากขึ้น เพื่อการเข้าถึงข้อมูลหรือสินค้าในวงกว้าง

‘เวนดิ้ง แมชีน’บูม ซีพีแจ้งเกิด ตู้อัตโนมัติ7-11

                                 นริศ ธรรมเกื้อกูล

ล่าสุดจึงได้เปิดตัวเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ด้วยแนวคิด “สินค้าหลากหลาย ใช้ง่าย จ่ายสะดวก เพียงปลายนิ้วสัมผัส” เพื่อตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ โดยทดลองวางตู้ไปแล้ว 120 ตู้ทั่วประเทศ ทำเลโรงเรียน โรงพยาบาล อาคารสำนักงานต่างๆ โดยมีทั้งหมด 5 โมเดล ได้แก่ ตู้ 7-Eleven ขายสินค้าทั่วไป, Duck Land อาหารที่เกี่ยวกับเป็ด เช่น ข้าว บะหมี่, Farm Mee ขายอาหารเพื่อสุขภาพ, Araebtia ขายกาแฟ ทั้งกาแฟมวลชน หรือ All Cafe และ Bear Box เป็นของใช้ทั่วไป

สำหรับแผนการดำเนินงานในส่วนของตัวเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ประกอบไปด้วย 3 รูปแบบธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.ให้ผู้ลงทุนเลือกเป็นเจ้าของได้ตามความต้องการ 2.การเช่าเครื่องตั้งบริการ 3. การบริหารร่วมกัน โดยเน้นการจัดหาสินค้าเพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและสถานที่ของลูกค้าเป็นหลัก นำสินค้าจากธุรกิจผู้ประกอบการ SMEs รายย่อยมาดึงดูดความน่าสนใจ เพื่อช่วยส่งเสริมธุรกิจ SMEs ของไทยควบคู่ไปกับธุรกิจ โดยจะให้ความสำคัญกับการนำจุดแข็งบริการ 3C ด้วยทีมช่าง Multi Skills, การจัดส่ง-เติมสินค้า by Dairy Runner ตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมง ครอบคลุมทั่วประเทศ เข้ามาเป็นจุดแข็งหลักในการสื่อสารแบรนด์กับลูกค้า

‘เวนดิ้ง แมชีน’บูม ซีพีแจ้งเกิด ตู้อัตโนมัติ7-11

“การทำธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ ทำให้แบรนด์กับผู้บริโภคอยู่ใกล้แค่เอื้อม นั่นคือ ห่างกันแค่หน้าจอมือถือกั้น ไม่เหมือนในสมัยก่อนที่ผู้บริโภคเดินมาหาเราหรือเราเดินทางไปหาผู้บริโภค แต่ปัจจุบันผู้บริโภคอยู่ข้างๆ อยู่ติดตัวตลอดเวลาด้วยการสื่อสารผ่านแอพ พลิเคชันต่างๆ ดังนั้น ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ การใช้เทคโนโลยี ให้เกิดประโยชน์ ให้สะดวกและรวดเร็ว สามารถเข้าถึงได้ตลอด 24 ชม.”

ด้านนายกวิน กิตติบุญญา กรรมการผู้จัดการ บริษัท กวิน อินเตอร์เทรด จำกัด กล่าวว่า กระแสของการทำธุรกิจนั้นจะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนความนิยมเป็นช่วงๆ ซึ่งหากย้อนไปเมื่อ 5-7 ปีที่แล้วในเมืองไทยจะได้เห็นแฟรนไชส์ร้านกาแฟได้รับความนิยมสูงมาก จนเมื่อช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็เป็นปรากฏการณ์การขยายสาขาของชานมไข่มุกที่มีผู้เล่นทั้งที่มีทั้งโลคัลแบรนด์และอิมพอร์ตแบรนด์จำนวนมาก จนปัจจุบันเริ่มเข้าสู่ยุคของเวนดิ้ง แมชีน ที่กำลังเป็นกระแสและได้รับความนิยมอย่างสูง

ทั้งนี้คลื่นความนิยมในธุรกิจเวนดิ้ง แมชีน นี้ไม่ใช่ครั้งแรกของกระแสในไทย แต่หากย้อนเมื่อ 7-8 ปีที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจนี้เคยบูมมาแล้ว ทั้งตู้นํํ้ายอดเหรียญ ตู้นํ้ามันหยอดเหรียญ ตู้บัตรเติมเงินมือถือ แต่แล้วก็ล้มหายตายจากไปปล่อยให้กระแสอื่นเข้ามาแทนที่ จนถึงปัจจุบันยุคสมัยเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยนไปมีความทันสมัยมากขึ้น ตู้เวนดิ้ง แมชีน หวนกลับมาเติบโตอีกครั้ง แต่รูปแบบสินค้าภายในเปลี่ยนไป เข้าสู่ยุคของตู้จำหน่ายกาแฟอัตโนมัติ เครื่องดื่ม สแน็ก เบเกอรี่ อาหารพร้อมทานและสินค้าในชีวิตประจำวันเล็กๆน้อยๆ โดยอยู่ในย่านโรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ชุมชน และ อาคารสำนักงานต่างๆที่สถานที่ยอดนิยมในการตั้งจุดจำหน่าย

‘เวนดิ้ง แมชีน’บูม ซีพีแจ้งเกิด ตู้อัตโนมัติ7-11

อย่างไรก็ตามปัจจัยหลักอีกส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้ธุรกิจเวนดิ้ง แมชีนกลับมาเติบโตอีกครั้ง คือเรื่องของแรงงานที่เริ่มขาดแคลนหรือการจ้างงานที่มีราคาแพงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบต่างมองหาธุรกิจที่ตอบโจทย์และใช้แรงงานคนน้อยลง เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ ขณะที่เรื่องของไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่หันมาอยู่คอนโดฯมากขึ้น เร่งรีบมากขึ้น ไม่มีเวลาในการเข้าถึงบริการที่ยุ่งยาก ทำให้คนเหล่านี้หันมาใช้บริการสินค้าที่ตอบโจทย์ความสะดวกสบายในชีวิตด้วยเช่นกัน

“เวนดิ้งแมชีนถือเป็นเทรนด์ใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมสูง ซึ่งนอกเหนือจากกลุ่มสินค้าข้างต้นแล้ว ตู้ซักผ้าหยอดเหรียญ คืออีกหนึ่งเซ็กเมนต์ที่กำลังได้รับความนิยมมาก เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องสถานที่ ขอให้เป็นย่านชุมชน สามารถเสียบปลั๊กทำงานต่อยอดงานระบบได้ก็ถือว่าจบกระบวนการ ซึ่งใช้คนดูแลมากสุดเพียง 1 คน” 

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3489 ระหว่างวันที่ 21 - 24 กรกฎาคม 2562