กรมศุลกากรพัฒนาระบบ ICT สู่ Digital Customs

24 มี.ค. 2559 | 05:58 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม 2559) นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “Digital Customs” เพื่อให้ส่วนราชการ ผู้ประกอบการนำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ เข้าใจในการดำเนินงานและทราบข้อมูลในภาพรวมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของกรมศุลกากร ณ ห้อง Ballroom A ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตต์

นายกุลิศ  สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า กรมศุลกากร กำหนดให้มีการสัมมนา “Digital Customs” เสริมสร้างความรู้ให้ผู้ประกอบการค้าที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ ได้รับทราบข้อมูลในภาพรวมเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินงานของกรมศุลกากร วิสัยทัศน์ พันธกิจ รวมถึงแผนยุทธศาสตร์กรมศุลกากร ในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2559 – 2563) ตลอดจนกระบวนการผ่านพิธีการศุลกากรสำหรับสินค้าต้องห้ามต้องกำกัดด้วยการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลด้วยอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างกรมศุลกากรกับหน่วยงาน     ผู้ออกใบอนุญาต/ใบรับรองผ่านระบบ National Single Window หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าระบบ NSW หรือระบบกลางการเชื่อมโยงข้อมูลของประเทศ ซึ่งระบบ NSW ได้เปิดให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์กับผู้ประกอบการค้า เช่น ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ตัวแทนออกของ ตัวแทนผู้รับขนส่งสินค้า บริษัทเรือ สายการบิน และธนาคารต่างๆ ด้วยอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ NSW ครบถ้วน 100% ตั้งแต่ ตุลาคม 2554 เป็นต้นมา และปัจจุบันให้บริการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลใบอนุญาต/ใบรับรองในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์กับกรมศุลกากรจำนวน 29 หน่วยงาน ส่วนอีก 7 หน่วยงานเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการนำเข้า การส่งออก และโลจิสติกส์ระหว่างผู้ประกอบการกับส่วนราชการอื่น หรือเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบ NSW ไปยังหน่วยงานในต่างประเทศ

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนายังจะได้รับความรู้ความเข้าใจในการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการควบคุมและตรวจสอบสินค้าเกษตรและอาหาร การจัดทำข้อมูลการผ่านพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์บนระบบ NSW หรือระบบพิธีการนำเข้าส่งออกแบบ Single Window Entry การสำแดงและการตรวจสอบข้อมูลใบอนุญาต/ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์กับใบขนสินค้าในขั้นตอนการผ่านพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร และกระบวนการขออนุมัติหลักการลดอัตราอากรและยกเว้นอากรตามมาตรา 12 เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดความพร้อมก้าวไปสู่การเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ตามนโยบาย Digital Economy ให้ประสบความสำเร็จอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม กรมศุลกากร จะมุ่งมั่นพัฒนาระบบงานศุลกากร โดยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้ามาปรับใช้อย่างไม่หยุดนิ่ง ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจการค้าระหว่างประเทศให้ทันกับโลกในยุคปัจจุบัน