กระทรวงพลังงาน เฝ้าระวังใช้ไฟหน้าร้อน

21 มี.ค. 2559 | 10:48 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมรณรงค์ “รวมพลังคนไทย ลดพีคไฟฟ้า” ซึ่งจัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ว่า ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ของประเทศในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นปีละ 600 เมกะวัตต์  โดยความต้องการไฟฟ้าสูงสุดเฉลี่ยอยู่ในช่วงเวลา 14.00 - 15.00 น. ทั้งนี้ ในฤดูร้อนของแต่ละปี (ปลายเดือนมีนาคม – พฤษภาคม) มีปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงมาก เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่บรรเทาอากาศร้อนด้วยการเปิดเครื่องปรับอากาศโดยลดระดับอุณหภูมิทำให้ Compressor ของเครื่องปรับอากาศทำงานหนัก ซึ่งมีสถิติว่าอุณหภูมิที่เพิ่มทุก 1 องศา จะมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 350 เมกะวัตต์ โดยปี 2559 กระทรวงพลังงาน ได้คาดว่าจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) อยู่ที่ระดับ 29,018 เมกะวัตต์ และมีระดับเฝ้าระวังวิกฤตอยู่ที่ 28,500 เมกะวัตต์ สูงกว่าที่เกิดขึ้นจริงของปีที่แล้ว (ปี 2558) ซึ่งอยู่ที่ระดับ 27,346 เมกะวัตต์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 6) สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวมากขึ้น โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานว่าในช่วงฤดูร้อนนี้อุณหภูมิสูงสุดแตะ 44 องศาเซลเซียส ทำให้ยังมีการใช้เครื่องปรับอากาศและปรับลดระดับอุณหภูมิมากขึ้น และอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานยาวนานขึ้น

ดังนั้นเพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าโดยรวม และเพื่อไม่ให้เป็นภาระค่าไฟฟ้าที่จะสูงขึ้นจากการใช้เชื้อเพลิงต้นทุนสูงมาผลิตไฟฟ้า กระทรวงพลังงานจึงเตรียมมาตรการรองรับและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากการผลิตกระแสไฟฟ้า ต้องผลิตให้มากและเพียงพอที่จะป้อนสำหรับใช้ในช่วง Peak Load (พีคไฟฟ้า) หากไม่เพียงพอ จะต้องเลือกใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนสูงขึ้นเรื่อยๆ หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน จึงได้ร่วมกันเฝ้าระวังและรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักในการประหยัดพลังงานและขอความร่วมมือจากภาคประชาชน อุตสาหกรรม และเอกชน ช่วยกันลดใช้ไฟฟ้าอย่างจริงจัง ผ่านกิจกรรมรณรงค์ “รวมพลังคนไทย

ลดพีคไฟฟ้า” โดยร่วมปฏิบัติการ ‘ปิด-ปรับ-ปลด-เปลี่ยน’ การใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้า ทุกๆ วัน วันละ 1 ชม. ช่วงเวลา 14.00 น. – 15.00 น. เป็นระยะเวลา 2  เดือน 20 มีนาคม – 20 พฤษภาคม 2559 เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (Peak)

ทั้งนี้เพื่อช่วยลดพีคไฟฟ้าไม่ให้สูงขึ้นจนทำสถิติรอบใหม่ อันจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ มาตรการลดพีค (Demand-Side Management) เป็นการปรับเปลี่ยนปริมาณและลักษณะการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ เพื่อให้สมดุลกับการผลิตไฟฟ้า เพราะฉะนั้นทางเลือกที่เราทำได้แน่ๆ และทำได้ทันทีคือ การประหยัดพลังงาน ไม่ว่าจะเป็น การปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็น ปรับแอร์เพิ่ม 1 องศา  ปลดปลั๊กเมื่อเลิกใช้ หรือเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีฉลากเบอร์ 5 ซึ่งหากร่วมมือกันก็เชื่อว่าประเทศไทยจะผ่านวิกฤต    ทุกอย่างได้ ไม่เฉพาะแต่เรื่องพลังงาน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานยังมีภาคความร่วมมือเพื่อลดการใช้ไฟฟ้าในอีกหลายด้าน เช่น การช่วยเหลืออุดหนุนด้านการเงินเพื่อเร่งให้มีการตัดสินใจลงทุนเปลี่ยนอุปกรณ์และเกิดการบริหารจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งมีกลไกภาคบังคับ เช่น การกำกับอาคารควบคุมและโรงงานควบคุมตาม พ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 การกำหนดมาตรฐานการใช้พลังงานในอาคารใหม่ (Building Energy Code) การกำหนดติดฉลากแสดงประสิทธิภาพการใช้พลังงานกับอุปกรณ์ไฟฟ้า

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กิจกรรม “รวมพลังคนไทย ลดพีคไฟฟ้า” ได้เริ่มรณรงค์ไปแล้วกับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ โดยจัดกิจกรรมร่วมกับสมาคมโรงแรมไทยที่พัทยา และจะรณรงค์ต่อเนื่องกับกลุ่มอาคารสำนักงาน และกลุ่มอุตสาหกรรม โดยร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลอดจนในภาคประชาชนจะมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ และมีกลไกของพลังงานจังหวัดร่วมรณรงค์ในพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักในการร่วมมือกันลดใช้ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม   ทั้งนี้คาดว่าผลจากการรณรงค์ตลอดระยะเวลา 2 เดือนนี้ จะทำให้ประชาชน ภาคอุตสาหกรรม และเอกชน เกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญที่ต้องใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า ทำให้ Peak ปี 2559 ในช่วงฤดูร้อนอยู่ที่ระดับ 28,500 เมกะวัตต์ ต่ำกว่า 29,018 เมกะวัตต์