เจาะอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอน คืบหน้ากว่า 32% คาดเปิดใช้กลางปี 64

23 ก.พ. 2562 | 09:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (23 ก.พ.62) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีสูบน้ำบางอ้อ เขตบางนา ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ยุทธศาสตร์ “มหานครปลอดภัย” ที่มีเป้าหมายให้กรุงเทพมหานครปลอดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยวางมาตรการบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสม ปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำ ลดความเสี่ยงและฟื้นคืนจากภัยพิบัติ โดยมีนายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขตในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่

52876807_1707442926021988_4277771380818182144_n

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการระบายน้ำดำเนินโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอุโมงค์ดังกล่าวมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 ม. ความยาว 9.4 กม. ความลึก 30 ม. โดยแนวอุโมงค์เริ่มจากอาคารรับน้ำบริเวณบึงหนองบอน ลอดใต้แนวคลองหนองบอน แนวคลองตาช้าง ถนนศรีนครินทร์ ถนนอุดมสุข ซอยอุดมสุข 29 ถนนสุขุมวิท 101/1 ลอดใต้แนวคลองบางอ้อ ผ่านสถานีสูบน้ำและออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางอ้อ ในระหว่างพื้นที่ที่อุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอนลอดผ่าน จะมีการก่อสร้างปล่องรับน้ำและอาคารรับน้ำ เพื่อรวบรวมน้ำในคลองต่างๆ ให้ระบายลงสู่อุโมงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สำหรับอาคารรับน้ำ 7 แห่ง ได้แก่ อาคารรับน้ำบึงหนองบอน อาคารรับน้ำคลองหนองบอน อาคารรับน้ำคลองเคล็ด อาคารรับน้ำคลองหลอด กม.3 (อุดมสุข 56) อาคารรับน้ำคลองหลอด กม.2 (อุดมสุข 42) อาคารรับน้ำถนนสุขุมวิท 66/1 อาคารรับน้ำซอยสุขุมวิท 101/1 สถานีสูบน้ำอุโมงค์บางอ้อ ขนาดกำลังสูบ 60 ลบ.ม./วินาที และอาคารทิ้งน้ำ 1 แห่ง ขณะนี้ผลงานการก่อสร้างที่ทำได้ 32.46% คาดว่าอุโมงค์ระบายน้ำดังกล่าวจะสามารถเปิดใช้งานได้ประมาณกลางปี 64

bkk2
ทั้งนี้ได้มอบหมายให้สำนักการระบายน้ำและผู้รับจ้างหารือร่วมกันในการปรับแผนการทำงานเป็นระยะ รวมทั้งให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อโครงการ อย่างไรก็ตามการก่อสร้างอุโมงค์เกิดความล่าช้า เนื่องจากการก่อสร้างต้องขออนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ก่อน จึงจะสามารถเข้าพื้นที่ทำงานได้ อีกทั้งการขุดเจาะอุโมงค์บางช่วงจะลอดผ่านคลอง ทำให้ดินด้านบนทรุดตัวส่งผลให้น้ำและทรายรั่วเข้ามาภายในอุโมงค์ ที่ผ่านมาผู้รับจ้างได้ก่อสร้างปล่องรับน้ำบึงหนองบอน ปล่องรับน้ำคลองหนองบอน ปล่องรับน้ำซอยสุขุมวิท 101/1 ปล่องรับน้ำคลองหลอด กม.2 (อุดมสุข 42) ปล่องรับน้ำคลองหลอด กม.3 (อุดมสุข 56) เสร็จแล้ว

ส่วนพื้นที่ก่อสร้างอาคารรับน้ำ 2 แห่ง คือ อาคารรับน้ำคลองเคล็ด และอาคารรับน้ำถนนสุขุมวิท 66/1 ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างตามรูปแบบในสัญญาได้ จึงจำเป็นต้องปรับรูปแบบการก่อสร้างอาคารทั้ง 2 แห่ง นอกจากนี้งานเจาะอุโมงค์ที่บึงหนองบอน เกิดปัญหาน้ำใต้ดินทะลักเข้าปล่องอุโมงค์ แล้วเกิดรอยรั่วขนาดใหญ่ด้านซ้าย ทำให้ทรายรั่วเข้ามากับน้ำ และดินด้านบนเกิดการทรุดตัว ผู้รับจ้างได้ดำเนินการแก้ไขโดยการสูบน้ำเข้าปล่องอีกครั้ง เพื่อให้ความดันสมดุลกันและเฝ้าระวังจนกว่าดินจะหยุดการทรุดตัว ซึ่งส่งผลทำให้การขุดเจาะอุโมงค์ที่ปล่องรับน้ำบึงหนองบอนเกิดความล่าช้า เมื่อโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาแล้วเสร็จ จะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 85 ตร.กม. ในพื้นที่เขตประเวศ เขตสวนหลวง เขตพระโขนง เขตบางนา และพื้นที่ใกล้เคียง