'เกาหลี' ไม่เชื่อมั่นไทย! ใช้สิทธิ FTA บุกตรวจถิ่นกำเนิดสินค้าถึงระยอง ก่อนไฟเขียว "ผ่าน"

04 ก.พ. 2562 | 11:56 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ศุลกากรแดนกิมจิบุกไทย! ตรวจเข้มถิ่นกำเนิดสินค้าถึงโรงงานระยอง หลังสงสัยทำไม่ได้ตามกฎเอฟทีเอ สุดท้ายถึงบางอ้อ ไฟเขียวผ่านฉลุย คต. ส่งสัญญาณเอกชนทำให้ถูกต้องในทุกกรอบข้อตกลง ช่วยเพิ่มตัวเลขส่งออก ปี 61 ไทยขาดดุลเกาหลี 1.3 แสนล้าน

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เผยว่า ทางกรมการค้าต่างประเทศและศุลกากรสาธารณรัฐเกาหลี (KCS) ได้เดินทางไปตรวจสอบย้อนหลัง (Post Verification) การผลิตสินค้าของผู้ประกอบการที่ จ.ระยอง เมื่อกลางเดือน ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา เป็นระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เนื่องจากศุลกากรสาธารณรัฐเกาหลีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยได้มีการชี้แจงข้อมูลวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตในหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form AK (เอฟทีเออาเซียน-เกาหลี) มีความคลาดเคลื่อนหลายครั้ง จึงทำให้เกิดความสงสัยและขอตรวจสอบ ซึ่งผลการตรวจสอบปรากฎว่า ผู้ประกอบการสามารถแสดงข้อมูลการผลิตสินค้าได้ครบถ้วนตามที่ศุลกากรเกาหลีร้องขอและไม่ติดใจในกระบวนการผลิตของไทย ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยส่งออกไปยังเกาหลีได้สะดวกมากขึ้น

สำหรับกฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี กำหนดให้ผู้ประกอบการส่งออกสามารถใช้ได้ 2 เกณฑ์ คือ (1) เกณฑ์ % RVC ไม่น้อยกว่า 40% คือ มีมูลค่าการผลิตและการใช้วัตถุดิบที่ได้ถิ่นกำเนิดในประเทศไทย หรือในภูมิภาคอาเซียน ไม่น้อยกว่า 40% และ (2) เกณฑ์ CTH คือ มีการใช้วัตถุดิบนำเข้าที่มีพิกัดศุลกากรแตกต่างจากสินค้าที่ส่งออกในระดับ 4 หลัก

 

[caption id="attachment_384357" align="aligncenter" width="503"] นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์[/caption]

อย่างไรก็ดี แนวทางการตรวจสอบย้อนหลังของศุลกากรของเกาหลีจะตรวจตามเกณฑ์ที่ระบุใน Form AK โดยกรณีที่ต้องมาตรวจสอบโรงงานดังกล่าว จากผู้ประกอบการไทยได้ระบุเกณฑ์ % RVC ทำให้ศุลกากรเกาหลีต้องตรวจสอบหลักฐานเอกสารอย่างละเอียด เช่น รายการวัตถุดิบ (Bill of Materials : BOM) ใบเสร็จในการซื้อวัตถุดิบ รายการต้นทุนการผลิต ทั้งวัตถุดิบในประเทศและนำเข้า ใบขนสินค้าขาออก Bill of Lading (B/L) รายชื่อลูกค้า สัญญาซื้อขายสินค้ากับลูกค้า เป็นต้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องจัดเตรียมเอกสารมากและใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบนาน

ในเรื่องนี้ กรมมีข้อแนะนำว่า หากผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้าได้ถิ่นกำเนิดไทย โดยผ่านทั้ง 2 เกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น ก็ควรจะระบุเกณฑ์ CTH ลงใน Form เพื่อให้สะดวกต่อการพิสูจน์ถิ่นกำเนิดสินค้า โดยไม่ต้องคำนวณ % RVC ตามราคา FOB ที่เปลี่ยนแปลงทุกชิปเม้นต์ และต้องเก็บหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการผลิตทั้งหมดไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี เพื่อรองรับการตรวจสอบย้อนหลังจากศุลกากรประเทศปลายทางหรือของกรม


090861-1927-9-335x503

"ผู้ประกอบการที่ต้องการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ ที่ไทยได้ทำความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA เช่น อาเซียน จีน เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น กรมฯ มีระบบอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบคุณสมบัติด้านถิ่นกำเนิดสินค้า หรือ ตรวจต้นทุน ว่า ได้ถิ่นกำเนิดไทยหรือไม่ ซึ่งเป็นเพียงการตรวจต้นทุนเบื้องต้น เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจในการพิจารณาเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละความตกลง"

อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ประกอบการส่งออกสินค้า โดยใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า จะต้องมีการตรวจต้นทุนด้วยตนเองในทุกชิปเม้นต์ และต้องเก็บหลักฐานเอกสารการได้มาของวัตถุดิบ รวมถึงเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไว้ เพื่อรองรับกรณีการขอตรวจสอบในภายหลังจากหน่วยงานของประเทศผู้นำเข้า หรือ จากกรมการค้าต่างประเทศ

อนึ่ง ในปี 2561 การค้าไทย-เกาหลีใต้ มีมูลค่ารวม 4.44 แสนล้านบาท โดยไทยส่งออก 1.56 แสนล้านบาท นำเข้า 2.88 แสนล้านบาท ไทยขาดดุลการค้าเกาหลี 1.31 แสนล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ขาดดุล 1.16 แสนล้านบาท) โดยสินค้า 5 อันดับแรกที่ไทยนำเข้าจากเกาหลี ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์, เคมีภัณฑ์, แผงวงจรไฟฟ้า, เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องจักรและส่วนประกอบ คิดเป็นสัดส่วน 55% ของการนำเข้าโดยรวมของไทยจากเกาหลี

595959859