ชงหนุนกำลังซื้อ "คนชั้นกลาง" ควบคู่ไปกับ "บ้านล้านหลัง" เหตุปัจจัยลบเพียบ

07 ม.ค. 2562 | 05:25 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

"ปีหมู" ปัจจัยลบเพียบ ชงรัฐออกมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ควบคู่ไปกับ "บ้านล้านหลัง" หนุนคนชั้นกลาง
มีบ้าน เหตุกลุ่มตลาดใหญ่มีกำลังซื้อจริง

จากความคึกคัก "โครงการบ้านล้านหลัง" ของรัฐบาล คสช. ที่สนับสนุนทั้งในด้านซัพพลาย เอื้อกลุ่มดีเวลอปเปอร์ ควบคู่กับดีมานด์ ประชาชนที่มีรายได้น้อยและต้องการมีบ้านเป็นของตัวเอง ตัวเลขทะลุ 1.3 แสนล้านบาท กระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงท้ายของปี 2561 ที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม ตลาดใหญ่ ระดับกลาง ที่มีประชากรกลุ่มใหญ่ของกรุงเทพฯ และปริมณฑลรองรับ ก็เป็นดีมานด์ที่ควรได้รับการสนับสนุนจากรัฐเช่นกัน

โดยนางสุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท พฤกษา โฮล ดิ้ง จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบัน ภาคอสังหาฯ ที่แต่ละปีมีมูลค่านับแสนล้านบาท เป็นภาคใหญ่ที่คอยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ

 

[caption id="attachment_370338" align="aligncenter" width="503"] สุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ สุพัตรา  เป้าเปี่ยมทรัพย์[/caption]

ทั้งยังช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนด้วยจากการมีบ้านเป็นของตนเอง แต่อย่างไรก็ตาม กังวลว่า ตลาดที่อยู่อาศัยในปีนี้อาจต้องเผชิญกับหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง ทั้งปัจจัยภายนอกที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย เรื่องสงครามการค้าของจีนและสหรัฐฯ

ขณะเดียวกัน มาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมาเพื่อหวังลดความเสี่ยงของการเก็งกำไรในกลุ่มคอนโดมิเนียม โดยการปรับเกณฑ์แอลทีวีใหม่ (กำหนดอัตราเงินดาวน์ขั้นตํ่า 20% ของหลักประกัน) 
และดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอีกจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอย และกำลังซื้อในการซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศ

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่คอยสนับสนุนตลาด จากเรื่องการเลือกตั้ง รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ น่าจะส่งผลในทิศทางบวก จึงคาดว่า ตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2562 จะยังคงขยายตัว แต่ไม่ได้หวือหวาเหมือนปีที่ผ่านมา เพราะยังมีดีมานด์ด้านที่อยู่อาศัยในกลุ่มคนชนชั้นกลางอีกมาก น่าจะทำให้ตลาดคึกคักได้ แต่ที่ผ่านมา ดีมานด์กลุ่มนี้ไม่ค่อยได้รับมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าไหร่นัก จึงอยากให้รัฐบาลมีมาตรการมากระตุ้น ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยให้ตลาดเติบโตได้

 

[caption id="attachment_370337" align="aligncenter" width="335"] อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ อาภา  อรรถบูรณ์วงศ์[/caption]

"ปีที่ผ่านมา ภาคอสังหาฯ ถูกแตะเบรกพร้อมกันหลายเรื่อง จะออกมาตรการอะไรก็แล้วแต่ อยากให้ประเมินผลกระทบ ไม่อยากให้กระทบต่อความเป็นอยู่และความต้องการมีบ้านของประชาชน โดยเฉพาะตลาดบ้านที่มีการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง ที่ผ่านมายังไม่มีมาตรการมาเอื้อทั้งคนซื้อและผู้ประกอบการ อยากให้รัฐบาลพิจารณามาตรการออกมาช่วยสนับสนุนส่วนนี้บ้าง" นางสุพัตรา กล่าว

ทั้งนี้ ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา พบราคาที่อยู่อาศัยทำเลใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ราคาถูก ปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ตํ่ากว่า 5-7% ต่อปี ซึ่งมาจากต้นทุนราคาที่ดินที่แพงขึ้นมาก ราคาขายตํ่ากว่า 2 ล้านบาท หาได้ยากในปัจจุบัน ขณะที่ ปัญหาหนี้ครัวเรือนส่งผลให้สัดส่วนลูกค้าถูกปฏิเสธสินเชื่อสูง ประกอบกับการเข้ามาของกลุ่มทุนต่างชาติขนาดใหญ่ ทำให้ที่ผ่านมา หน่วยใหม่ที่เข้ามาในตลาดส่วนใหญ่หวังจับตลาดบน-ลูกค้าต่างชาติเป็นหลัก เพื่อทดแทนกำลังซื้อกลุ่มกลางที่หดหายไป โดยแต่ละบริษัทตั้งราคาขายแพงมากกว่า 1 แสนบาทต่อตารางเมตร เป็นต้นไป

เช่นเดียวกับ 3 สมาคมบ้านฯ ประกอบด้วย สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ที่เคยรวมตัวเสนอกระทรวงการคลัง ลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอน เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อต่อเนื่อง นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ริชี่ เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) หรือ RICHY และในฐานนะนายกสมาคมอาคารชุดไทย ระบุว่า หากรัฐออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อจะช่วยให้ตลาดอสังหาฯ คึกคักขึ้น

หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,433 วันที่ 6-9  มกราคม 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว