ส่งออกรถยนต์ ปี 62 หืดจับ ... ยุโรปหดตัว-ลุ้นตลาดเวียดนาม

07 ม.ค. 2562 | 04:30 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ประเมินตลาดส่งออกปี 62 ทรงตัว ที่ยอด 1.1 ล้านคัน ชี้! สงครามการค้า-เศรษฐกิจยุโรปส่งผลกระทบ ด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังเชื่อมั่นตลาดโต เพราะส่งออกเวียดนาม-โอเชียเนียและเอเชียขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ตลาดรถยนต์ในปี 2562 จะไม่ตํ่ากว่า 1 ล้านคัน หรือประมาณ 1.05 ล้านคัน ขณะที่ ตลาดส่งออกยังคงอยู่ในระดับเดิมกับปี 2561 คือ 1.1 ล้านคัน ส่งผลให้ในปี 2562 ยอดผลิตรถยนต์ในไทยจะอยู่ที่ 2.150 ล้านคัน

ส่วนปัจจัยที่จะมีผลกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยนั้น ประกอบไปด้วย ราคาน้ำมันที่จะส่งผลกับตลาดตะวันออกกลาง, สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน, เศรษฐกิจของยุโรปที่คาดว่าจะตกตํ่า, การตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าไทย ส่วนปัจจัยในประเทศนั้น ภาพรวมเศรษฐกิจดี มีการประกาศเลือกตั้ง มีมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยก็จะช่วยให้เม็ดเงินหมุนเวียนในภาคเศรษฐกิจ ด้านบริษัทผู้ผลิตค่ายต่าง ๆ จะมีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ ทำโปรโมชัน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อ


Honda-Export-2015_02_Lo-Res

ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การส่งออกรถยนต์ของไทยปี 2562 มีโอกาสที่จะขยายตัวเล็กน้อยที่ประมาณ 1-4 % เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นจำนวนรถยนต์ส่งออกประมาณ 1.150-1.180 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากที่คาดว่าจะส่งออกได้ประมาณ 1.135 ล้านคัน ในปี 2561 ซึ่งตลาดหลักที่มีแนวโน้มเติบโตยังคงเป็นตลาดโอเชียเนีย โดยเฉพาะเวียดนาม ส่วนตลาดที่คาดว่าจะหดตัวยังคงเป็นตลาดยุโรปและอเมริกาเหนือ

สำหรับตลาดเวียดนาม แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรการ Decree 116 ที่มีการควบคุมการนำเข้ารถยนต์ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2561 ทำให้ในช่วงเริ่มต้นการส่งออกรถยนต์จากไทยเข้าไปต้องใช้เวลาในการตรวจสอบนานขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปแก้ไขปัญหาและทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มคลี่คลาย และส่งผลให้รถยนต์ที่ผลิตจากไทยสามารถส่งออกไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การส่งออกรถยนต์ไทยไปยังเวียดนามในปี 2562 คาดว่า น่าจะได้รับปัจจัยบวกจากความต้องการรถยนต์ในเวียดนามที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยคาดว่า การส่งออกไปยังเวียดนามน่าจะมีโอกาสขยายตัว 14-22% หรือคิดเป็นจำนวนรถยนต์ที่ส่งออกไปเวียดนาม 6.1-6.5 หมื่นคัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่ประเมินว่าจะส่งออกไปประมาณ 5.34 หมื่นคัน หรือขยายตัว 44% จากปี 2560

โดยรถยนต์ในกลุ่มรถเล็กประหยัดพลังงานเครื่องยนต์ไม่เกิน 1,500 ซีซี จะเป็นตัวหลักที่ส่งออกไป เพราะมีราคาจับต้องได้ และผลจากการที่ไทยส่งออกรถยนต์ไปเวียดนามที่เพิ่มขึ้นนี้ ทำให้เวียดนามมีโอกาสขยับอันดับแซงนิวซีแลนด์ขึ้นมาสู่ประเทศที่มีมูลค่าการนำเข้ารถยนต์จากไทยสูงเป็นอันดับ 3 ในปี 2562


Honda-Export-2015_01_Lo-Res

ขณะที่ การส่งออกรถยนต์ไปยังตลาดยุโรป คาดว่าจะลดลง และปัจจัยหลักที่จะส่งผลกระทบ ประกอบไปด้วย การเข้าไปตั้งฐานการผลิตรถยนต์ในหลายประเทศในทวีปยุโรปและประเทศใกล้เคียง ซึ่งต่างก็มีการได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีสำหรับการส่งออกรถยนต์ระหว่างกัน

นอกจากนั้นแล้ว บางประเทศในทวีปยุโรป เช่น เยอรมนี ประกาศห้ามรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลในบางเมืองของประเทศ ส่งผลทำให้เกิดความหวาดวิตกของผู้บริโภคถึงแนวโน้มการแบนรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลไปในหลายพื้นที่ ทำให้ความต้องการซื้อรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลลดลงจากอดีต ซึ่งกระทบโดยตรงกับการส่งออกรถปิกอัพจากไทย

เมื่อรวมกับเศรษฐกิจของยุโรปที่มีแนวโน้มชะลอตัว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การส่งออกไปยังตลาดทวีปยุโรปในปี 2562 น่าจะทรงตัว หรือหดตัวลง 4% หรือคิดเป็นจำนวนรถยนต์ส่งออกจากไทยไปทวีปยุโรปที่ 1.18-1.23 แสนคัน จากที่คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 1.23 แสนคัน ในปี 2561

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ไทยอาจยังมีโอกาสส่งออกไปทวีปยุโรปได้สูงกว่าที่คาด หากโครงการอีโคอีวีสามารถผลักดันและทำให้เกิดเป็นรูปธรรม จนมีการลงทุนผลิตและออกวางจำหน่าย รวมถึงส่งออกได้จริงในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 เนื่องจากรถยนต์ในกลุ่มอีโคอีวีน่าจะเป็นประเภทรถยนต์ที่สามารถเข้าไปบุกตลาดทวีปยุโรปที่เน้นหนักเรื่องการควบคุมปริมาณไอเสียจากรถยนต์ รวมถึงสนับสนุนรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าค่อนข้างมาก จึงน่าจะเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกรถยนต์ไทยไปทวีปยุโรปได้ในอนาคตข้างหน้า


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ตลาดส่งออกรถยนต์โดยรวมของไทยในปี 2562 จะต้องเผชิญกับความผันผวนของตลาดหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ภาวะสงครามการค้าโลก, ความผันผวนของอัตราค่าเงินในประเทศคู่ค้า และแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยในหลาย ๆ ประเทศ ไม่เพียงเท่านั้น การย้ายฐานการผลิตรถยนต์เข้าใกล้ตลาดมากขึ้นเพื่อการลดต้นทุนขนส่ง

รวมถึงการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ในบางกรณีอาจส่งผลลบต่อการส่งออกรถยนต์ไทย เช่น ทวีปยุโรป หรือ ทวีปอเมริกาเหนือ ที่จะมีผลในระยะถัดไปด้วย หลังความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (United States-Mexico-Canada Agreement : USMCA) ซึ่งมีการตั้งข้อกำหนดเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้ารถยนต์ที่เข้มงวดขึ้นมาก และมุ่งเน้นให้เกิดการผลิตในกลุ่มประเทศสมาชิก จะถูกนำมาใช้ตั้งแต่ต้นปี 2563 ซึ่งจะกระทบกับการส่งออกไทยตั้งแต่ช่วงปี 2562 จากการลงทุนของค่ายรถในประเทศสมาชิก USMCA มากขึ้น

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,433 วันที่  6 - 9 มกราคม พ.ศ. 2562



ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว