เอกชนดัน "กระบี่" ท่องเที่ยวโลก! ชงยุทธศาสตร์ 2 ท่า "อากาศ-ทะเล" ดูดทัวริสต์

22 ธ.ค. 2561 | 00:17 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

หอการค้ากระบี่ผลักดันยุทธศาสตร์ "2 ท่า" มั่นใจ! หากสนามบินที่ขยายใหม่แล้วเสร็จ พร้อมมีท่าเรือสำราญที่หาดคลองม่วง จะเปิดประตู "กระบี่" สู่เมืองท่องเที่ยวระดับโลก นำร่อง "เรือท่องเที่ยว" ใช้ "บี20" เกื้อหนุนชาวสวนปาล์ม



chamber3
นายสิริธร จุลชู ประธานหอการค้าจังหวัดกระบี่ เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ตามที่ภาครัฐมีโครงการขยายท่าอากาศยานจังหวัดกระบี่รองรับอนาคต 20 ปี โดยได้วางศิลาฤกษ์เริ่มการก่อสร้างไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ โครงการวงเงิน 3,875 ล้านบาท สร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 3 ปรับปรุงอาคาร 1 และ 2 และลานจอดรถ เพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มอีกเท่าตัว โดยปี 2560 มีนักท่องเที่ยวกว่า 6 ล้านคน ขยายลานจอดให้รองรับโบอิ้งแบบ 737 ได้ 40 ลำพร้อมกัน พร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในสนามบินระดับมาตรฐานสากล มีรถยกสำหรับวีลแชร์ กรณีเครื่องบินไม่สามารถเข้าเทียบสะพานได้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีศักยภาพในการจับจ่ายใช้สอย นับเป็นรถยกระบบไฮดรอลิกคันแรกในภาคใต้

ปัจจุบัน มีสายการบินที่บินตามตารางการบินในประเทศทุกสายการบินและสายการบินต่างประเทศที่บินตามตารางการบินเช่นกันมายัง "สนามบินกระบี่" นอกจากนั้น มีสายการบินแบบเช่าเหมาลำ ทั้งจากประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย ยุโรป จีน รัสเซีย และอีกหลายประเทศ

นายสิริธร กล่าวว่า นอกจากนี้ หอการค้าและคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนฯ (กรอ.) จ.กระบี่ มีนโยบายที่จะสร้าง "ท่าเทียบเรือ" เพื่อรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ โดยที่ผ่านมา "เรือสตาร์ครูซ" แต่ละลำ มีนักท่องเที่ยวตั้งแต่ระดับหลายพันคนเข้ามาเทียบท่าเรือกระบี่ไม่ได้ ต้องลอยลำกลางทะเลอ่าวนาง แล้วเอาเรือเล็กไปรับนักท่องเที่ยวจากเรือสำราญขึ้นฝั่ง ต้องใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง กว่าจะขนถ่ายหมด เสียเวลาและค่าใช้จ่าย หากมีการสร้างท่าเรือสำราญที่หาดคลองม่วง อ.เมืองกระบี่ เพราะมีระดับนํ้าลึก 12-18 เมตร อีกทั้งอยู่บริเวณสถานที่ท่องเที่ยว รายรอบด้วยโรงแรม-รีสอร์ต ระดับ 4-5 ดาว ร้านอาหาร-ร้านค้าจำนวนมาก หากรัฐบาลเห็นความสำคัญจัดงบสร้างท่าเรือแห่งนี้ จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางโดยเรือเพื่อการท่องเที่ยวเพิ่มได้อีกมิติหนึ่ง


MP21-3428-A

นอกจากนั้น รัฐบาลยังมีนโยบายปฏิรูปคมนาคมทั้งระบบ ที่เชื่อมต่อกับการคมนาคมทางรถ เรือ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า เพื่ออำนวยความสะดวก ปลอดภัย ตรงต่อเวลา ที่สร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยว

หาก "สนามบินกระบี่" ขยายแล้วเสร็จตามแผน พร้อมกับมีการสร้าง "ท่าเทียบเรือสำราญ" เพิ่ม จะพลิกประวัติศาสตร์การท่องเที่ยว "เมืองกระบี่" จะเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกรู้จัก และเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มเป็นจำนวนมาก เพราะการคมนาคมทางอากาศสะดวก นักท่องเที่ยวจะบินกับสายการบินในกลุ่มสแกนดิเนเวีย ยุโรป ตรงมากระบี่ได้ในราคาตั๋วโดยสารที่ถูกกว่าลงสนามบินอื่นที่มีดัชนีคาร์บอนไดออกไซด์มาก เช่น กระบี่-โคเปนเฮเกิน ราคาตั๋ว 481 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ สุวรรณภูมิ-โคเปนเฮเกิน ราคา 743 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่างกันถึง 262 ดอลลาร์สหรัฐฯ จึงส่งผลให้นักท่องเที่ยวบินมาลงกระบี่เป็นจำนวนมาก หากสนามบินพร้อม คาดว่าจะ "มากกว่านี้"

ประธานหอการค้ากระบี่ ยังกล่าวอีกว่า กระบี่ไม่ได้มีดีเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามติดระดับโลกเท่านั้น กระบี่ยังเป็นเมืองเกษตรที่ปลูก "ปาล์มนํ้ามัน-ยางพารา" เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ จึงอยากให้รัฐบาลหันมาขายนํ้ามันไบโอดีเซล (บี20) ในทุก ๆ ปั๊ม เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้รถ ใช้เรือ และผลักดันราคารับซื้อปาล์มจากชาวสวนเพิ่มสูงขึ้น

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,428 วันที่ 20-22 ธันวาคม 2561

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก