รัสเซียพร้อมลงนามร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ฯกับไทย

02 มี.ค. 2559 | 09:56 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

“ดร.พิเชฐ” เผย รัสเซียพร้อมลงนามร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม กับประเทศไทย ถือฤกษ์ช่วง“ประยุทธ” นำผู้ประกอบการไทย 67 บริษัท จับคู่ธุรกิจ พ.ค.นี้

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ในการเยือนสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการของคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายความร่วมมือด้านการค้า การลงทุนระหว่างกัน ในเวทีการพบปะหารือคณะธุรกิจระหว่างดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย ประธานสภาอุตสาหกรรม ประธานสภาหอการค้า ประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับการขับเคลื่อนนวัตกรรมและโอกาสของความร่วมมือไทย-รัสเซีย ในที่ประชุมโต๊ะกลมไทยนี้ด้วย โดยเนื้อหาสาระคือการเน้นย้ำเป้าหมายของการเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่รัฐบาลได้จัดทำมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งมีทั้งการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับบริษัทเอกชน การจัดโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม อาทิ โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร "ฟู้ดอินโนโพลิส" ระบบคุณภาพและมาตรฐานที่เรียกว่า MSTQ คือมาตรวิทยา การมาตรฐาน การทดสอบในห้องปฏิบัติการและระบบคุณภาพ เพื่ออุตสาหกรรม และที่สำคัญคือการสนับสนุนด้านกำลังคนที่มีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมที่มีอยู่จำนวนมากในภาครัฐให้ไปเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคเอกชน หรือโครงการทาเลนท์โมบิลิตี้ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ยังมีกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและรัสเซียในหลายหลายกลุ่มสินค้า อาทิ อาหาร เครื่องสำอาง สปา สุขภัณฑ์ สินค้าแฟชั่น สินค้าไลฟ์สไตล์ เป็นต้น ด้วยเหตุผลสำคัญที่เราเห็นว่าสหพันธรัฐรัสเซีย เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศเศรศฐกิจเกิดใหม่ในกลุ่มสมาชิก E7 (จีน รัสเซีย อินเดีย อินโดนีเซีย บราซิล เม็กซิโกและตุรกี) ซึ่งเศรษฐกิจโลกกำลังมีการเปลี่ยนถ่ายขั้วอำนาจจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วคือกลุ่ม G7 (สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลี และแคนาดา) มาสู่ฐานเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีตลาดและทรัพยากรมหาศาล ซึ่งกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วอย่างกลุ่ม E7 นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือถึงการเตรียมความพร้อมการเยือนรัสเซียของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วงเดือนพฤษภาคม 2559 พร้อมกับการทำกิจกรรมจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยจาก 67 บริษัทและรัสเซียจาก 54 บริษัท

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ตนได้มีโอกาสเข้าหารือกับนาย Arkady Dvorkovich รองนายกรัฐมนตรีของสหพันธรัฐรัสเซียซึ่งรับผิดชอบภารกิจด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการพลังงาน ณ ทำเนียบรัฐบาลรัสเซีย ซึ่งได้ยกประเด็นความร่วมมือระหว่างไทยกับรัสเซีย ใน 3 ส่วน ได้แก่ ประการแรก ขอให้รัฐบาลสหพันธรัฐรัสเซียช่วยผลักดันสนับสนุนการจัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลรัสเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อจะได้มีการลงนามได้ทันในช่วงการเยือนรัสเซียของนายกรัฐมนตรี โดยฝ่ายไทยและรัสเซียได้เคยมีการหารือร่วมกันกับนาย Dimitry Livanov รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์รัสเซียที่กรุงมอสโก เมื่อเดือนตุลาคม 2558 แล้วซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันที่จะให้มีการลงนามความตกลงดังกล่าว

ประการที่สอง ได้แจ้งความประสงค์ที่จะสร้างความร่วมมือกับ Skolkovo Innovation Centre โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านธุรกิจสตาร์ทอัพและประการที่สาม ได้ยืนยันความสนใจที่จะมีความร่วมมือกับสหพันธรัฐรัสเซียทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านชีววิทยาศาสตร์ ด้านมาตรวิทยา และเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าท่านรองนายกรัฐมนตรี Arkady Dvorkovich ยินดีที่จะสนับสนุนการลงนามในเป้าประสงค์ประการแรกในเดือนพฤษภาคม 2559 สำหรับเรื่องที่สองท่านก็เห็นด้วยกับการกระชับความร่วมมือระหว่าง Skolkovo Innovation Centre กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยและในเรื่องสุดท้ายก็แสดงความสนใจที่จะมีความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ พร้อมเสนอให้มีความร่วมมือทางด้านนิวเคลียร์เพื่อสันติ โดยเน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย

“นับว่าเป็นความสำเร็จของการเจรจาความร่วมมือของทั้งสองประเทศครับ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) จากประสบการณ์การพัฒนาประเทศบนฐาน วทน. ที่เข้มแข็งอย่างสหพันธรัสเซีย” รมว.วิทยาศาสตร์ กล่าว