ซีพีเอฟ ปัน“น้ำ”ช่วยเกษตรกรปลูกพืช แบ่งเบาความเดือดร้อนจากภัยแล้ง

26 ก.พ. 2559 | 06:58 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ซีพีเอฟ หนุนฟาร์มเลี้ยงสัตว์และโรงงานทั่วประเทศ ช่วยเหลือน้ำเกษตรกรมีน้ำใช้สำหรับเพาะปลูก เพื่อร่วมช่วยบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติแล้งที่เกิดขึ้น

นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ  กล่าวว่า บริษัทตระหนักดีว่า ปัญหา สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้รุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา อาจมีภาวะฝนทิ้งช่วงนานขึ้น ซึ่งกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพของเกษตรกรมาก บริษัทฯ ได้เน้นย้ำให้ทุกฟาร์มเลี้ยงสุกรของบริษัทฯ ร่วมช่วยแบ่งปันน้ำที่บำบัดแล้วให้แก่เกษตรกรที่อาศัยอยู่รอบฟาร์มนำใช้รดน้ำต้นไม้ในไร่และสวนของตนเอง

“วิกฤติแล้งในปีนี้รุนแรงมาก ฟาร์มสุกรของบริษัทฯ กว่า 80 แห่งทั่วประเทศนอกจากจะให้ความสำคัญกับการใช้น้ำอย่างประหยัดแล้ว ก็ยังช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ปลูกผลไม้ ปลูกไผ่ตง และผลไม้ที่อยู่รอบๆ ฟาร์ม ด้วยการปันน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วของฟาร์ม มีคุณภาพได้มาตรฐานตามมาตรฐาน เพื่อช่วยบรรเทาความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตรในช่วงที่เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน”

นายสมพร กล่าวต่อไปว่า โดยปกติระบบน้ำของฟาร์มเลี้ยงหมูของซีพีเอฟจะไม่ปล่อยน้ำที่บำบัดแล้วออกมาภายนอก แต่ในช่วงฤดูแล้ง ฟาร์มจะแบ่งปันน้ำที่ฟาร์มบำบัดแล้ว  ให้กับเกษตรกรเพาะปลูกที่อยู่รอบฟาร์มมาร่วม 10 ปีแล้ว เพื่อช่วยบรรเทาความเสียหาย และน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดแล้วยังอุดมด้วยธาตุอาหารสำคัญสำหรับพืช จึงเป็นที่ต้องการของเกษตรกรสวนผลไม้ ไร่อ้อย ปาล์มน้ำมัน เพราะได้ทั้งน้ำ และปุ๋ยบำรุงพืชไปพร้อมกัน

นายสนุน มะนาวหวาน หนึ่งในเกษตรกรที่นำ “น้ำปุ๋ย” จากฟาร์มซีพีเอฟ มาใช้ในไร่อ้อยกว่า 62 ไร่ ที่บ้านไร่ จ.กำแพงเพชร กล่าวว่า ไร่อ้อยของตนไม่ต้องประสบกับภาวะขาดน้ำในช่วงแล้ง เพราะขอแบ่งน้ำที่ผ่านการบำบัดจากฟาร์มมาใช้เดือนละประมาณ 10,000-12,000 ลูกบาศก์เมตร และน้ำดังกล่าวยังอุดมด้วยธาตุอาหารสำคัญสำหรับพืช ช่วยให้ต้นอ้อยเขียวงามดี ผลผลิตอ้อยมีน้ำหนักดี ช่วยให้ตนได้ราคาดี และช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยร่วม 2 แสนบาทอีกด้วย

สอดคล้องกับนายโชติ ไหมทอง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7  ต.สองพี่น้อง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เป็นหนึ่งในกลุ่มเกษตรกรทำสวนผลไม้รวม 35 คนที่เข้าร่วมโครงการขอปัน “น้ำปุ๋ย” จากฟาร์มสุกรจันทบุรี 2 กล่าวว่า น้ำปุ๋ยมีข้อดีที่ช่วยปรับสภาพดินทำให้ดินร่วนซุย มีสภาพดีขึ้น ช่วยลดการใช้ปุ๋ยได้ถึง 40% ผลผลิตมีคุณภาพดี รสชาติอร่อยขึ้น และที่สำคัญกลุ่มเกษตรกรที่อยู่รอบฟาร์มจันทบุรี 2 ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมาหลายปีแล้ว

ขณะที่ นายสิริพงศ์ อรุณรัตนา รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นสมาชิกของชุมชน โรงงานของบริษัทที่ตั้งอยู่ในจังหวัดต่างๆ จึงให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการใช้น้ำอย่างประหยัด ลดใช้น้ำกับกิจกรรมไม่จำเป็น และยังช่วยแบ่งปันน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัด ให้กับเกษตรกรที่ต้องการใช้สำหรับการเพาะปลูกในช่วงนี้อีกด้วย

“โรงงานแปรรูปเนื้อไก่นครราชสีมาและโรงงานแปรรูปเนื้อไก่สระบุรี ได้ติดตั้งปั้มสูบน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงงานไปใช้ในแปลงพืชผักของตนเอง บรรเทาความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ และสามารถประกอบอาชีพได้อย่างต่อเนื่อง” นายสิริพงศ์กล่าว

การแบ่งปันน้ำให้เกษตรกรจากฟาร์มสุกร และโรงงานแปรรูปอาหารของซีพีเอฟในช่วงนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยคลี่คลายปัญหาน้ำในภาวะที่ฝนทิ้งช่วงยาวนานกว่าปกติ ได้เป็นอย่างดี./