43รายชิงประมูลLNGกฟผ. คาดรู้ผลปลายปีนี้ ป้อนโรงไฟฟ้าวังน้อย-บางปะกง

20 ต.ค. 2561 | 02:22 น.
เอกชนทั้งในและต่างประเทศ 43 ราย แห่ประมูลนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีของกฟผ. 1.5 ล้านตันต่อปี คาดรู้ผลภายในสิ้นปีนี้ ล่าสุดส่งหนังสือจองใช้พื้นที่สถานีรับ-ส่งก๊าซแอลเอ็นจีของปตท.ที่มาบตาพุดแล้ว เริ่มนำเข้าได้ต้นปีหน้า ป้อนโรงไฟฟ้าวังน้อย รับความต้องการใช้ไฟฟ้าในอีอีซี

จากกรณีที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) มีแผนที่จะดำเนินโครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยนํ้า (FSRU : Floating Storage and Regasification Unit) มูลค่าโครงการราว 24,500 ล้านบาท บริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนบน เพื่อรองรับการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี ขนาด 5 ล้านตันต่อปี เพื่อจัดส่งก๊าซไปยังโรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ รวมทั้งจัดส่งเข้าโครงข่ายระบบท่อปัจจุบัน ที่มีกำหนดเปิดดำเนินการในปี 2567 เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าให้กับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีนั้น

โดยเบื้องต้นจะเปิดประมูลจัดหาก๊าซแอลเอ็นจีราว 1.5 ล้านตัน ภายในปีนี้ เป็นโครงการนำร่องก่อน ซึ่งล่าสุดได้ยื่นเอกสารขอใช้สถานีรับ-ส่งก๊าซแอลเอ็นจีส่วนขยาย ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริเวณมาบตาพุดแล้ว จะเริ่มนำเข้าแอลเอ็นจีได้ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการนโยบายและแผนพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 มอบหมายให้ กฟผ. ดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมเป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจีรายใหม่ ในปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี จากเดิมที่มีปตท. แค่เพียงรายเดียว

PTTLNG

ล่าสุดกฟผ.ได้ยื่นเอกสารขอจองใช้ความสามารถของสถานีแอลเอ็นจีมาบตาพุด (Map Ta Phut LNG Terminal) ส่วนขยายเพิ่มเติม ของบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG) ในปริมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี โดยมีกำหนดเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ เพื่อส่งก๊าซเข้าสู่โครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในปี 2562

ขณะเดียวกัน กฟผ. เตรียมสรุปผู้ผ่านข้อกำหนด หลัง กฟผ. ออกประกาศเชิญชวนให้ผู้ผลิตหรือผู้ค้าก๊าซแอลเอ็นจี ยื่นเอกสารแสดงความสนใจเป็นผู้จัดหาแอลเอ็นจี ในปริมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งมีผู้ยื่นเสนอจำนวน 43 ราย จากทั้งในและต่างประเทศ โดยมี Fact Global Energy (FGE) เป็นที่ปรึกษาจากยุโรป จะร่วมกันตรวจสอบผู้ที่ผ่านคุณสมบัติ โดย กฟผ. จะคัดเลือกผู้ผลิตหรือผู้ค้าที่มีประสบการณ์ มีฐานะทางการเงินมั่นคง และมีความพร้อมในการจัดส่งก๊าซแอลเอ็นจี ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ คาดว่าจะทราบผลผู้ที่ผ่านคุณสมบัติในช่วงเดือนตุลาคมนี้ หลังจากนั้นจะเริ่มขั้นตอนการประกวดราคาและยื่นเอกสารประกวดราคา คาดว่าจะรู้ผลผู้ชนะประมูลในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า จากนั้นลงนามสัญญาจัดหาแอลเอ็นจีในช่วงต้นปี 2562

090861-1927-9-335x503-8-335x503

นายพัฒนา กล่าวอีกว่าสำหรับเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผู้จัดหาแอลเอ็นจีให้กับ กฟผ. จะพิจารณาที่ราคาตํ่าสุด เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยกำหนดขั้นตํ่าในการจัดส่งแอลเอ็นจีที่ 8 แสนตันต่อปี และกำหนดเพดานสูงสุดไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ราคาแอลเอ็นจีที่ กฟผ. จัดหาต้องไม่สูงกว่าราคาแอลเอ็นจีตํ่าสุดตามสัญญาจัดหาระยะยาวของประเทศไทยที่มีอยู่ในปัจจุบันสำหรับการจัดหาก๊าซแอลเอ็นจีในช่วงแรกนี้ จะใช้เป็นเชื้อเพลิงส่งป้อนให้กับโรงไฟฟ้าวังน้อย ยูนิต 4 กำลังการผลิต 600-700 เมกะวัตต์ มีความต้องการใช้แอลเอ็นจีประมาณ 7-8 แสนตันต่อปี และหากจัดหาได้มากกว่านี้จะนำมาใช้กับโรงไฟฟ้าบางปะกง ยูนิตใหม่ด้วย โดยทั้ง 2 แห่งนี้ถือเป็นโรงไฟฟ้าที่จะต้องผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับพื้นที่อีอีซีด้วย

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,410 ระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคม 2561 595959859