สายสีม่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะลุ้นเสนอประมูลปลายปีนี้

18 ต.ค. 2561 | 04:57 น.
นับเป็นอีกหนึ่งเมกะโปรเจ็กต์ที่รัฐบาลคสช.อยู่ระหว่างการเร่งผลักดันเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติเปิดประกวดราคาให้ทันในปีนี้หลังจากที่รอลุ้นว่าการพิจารณาด้านผลกระทบสิ่งแวด ล้อม (อีไอเอ) ส่วนต่อขยายจากช่วงราษฎร์บูรณะไปถึงพระประแดงที่จะใช้เป็นพื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุงในโซนนี้จะแล้วเสร็จทันหรือไม่ โดยโครงการยังต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินการในกิจการของรัฐพ.ศ. 2556 อีกด้วย

รถไฟฟ้าเส้นทางนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะต่อขยายจากช่วงเตาปูน มุดลงใต้ดินมาสู่สถานีแรกที่แยกเกียกกายเพื่อจะรองรับการเปิดใช้งานอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จากนั้นจะเป็นแนวใต้ดินตลอดเส้นทางสู่สถานีศรีย่าน ด้านหน้ากรม ชลประทานและย่านธุรกิจเก่าแก่ในเส้นทางสายนี้ มุ่งสู่สถานีสามเสนที่ตั้งอยู่ด้านหน้าโรงพยาบาลวชิระ สถานีหอสมุดแห่งชาติ สถานีบางขุนพรหม แล้วเลี้ยวซ้ายมู่งสู่สถานีผ่านฟ้าซึ่งจะเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ณ จุดนี้ ต่อจากนั้นเข้าสู่สถานีวังบูรพาที่จะเชื่อมกับรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ซึ่งเรียกว่าสถานีสามยอด ณ จุดนี้เช่นกัน หลังจากนั้นมุ่งสู่สถานีสะพานพุทธ ลอดใต้แม่นํ้าเจ้าพระยาไปสู่สถานีวงเวียนใหญ่ ลอดใต้วงเวียนใหญ่ไปสู่สถานีสำเหร่

หลังจากนั้นจะขยับแนวขึ้นมายกระดับมุ่งหน้าสู่สถานีจอมทอง ตั้งอยู่กลางถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินช่วงซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 44 และคลองบางสะแก มุ่งสู่สถานีดาวคะนอง ไปตามถนนสุขสวัสดิ์มุ่งสู่สถานีบางปะกอก โดยที่จุดนี้มีอาคารจอดรถขนาดใหญ่สูง 10 ชั้นไว้รองรับการจอดได้มากถึง 1,700 คัน ต่อจากนั้นมุ่งสู่สถานีประชาอุทิศ สถานีราษฎร์บูรณะ ในพื้นที่เขตราษฎร์บูรณะที่จะมีอาคารจอดรถ 2 อาคารรองรับได้ประมาณ 1,700 คันไว้ด้วยเช่นกัน ก่อนมุ่งสู่สถานีพระประแดง สถานีครุใน แล้วไปสิ้นสุดที่ศูนย์ซ่อมบำรุง บริเวณถนนกาญจนาภิเษก ระยะทางรวมทั้งสิ้น 23 กิโลเมตร มีทั้งแนวเส้นทางใต้ดิน และยกระดับ คาดว่าจะใช้งบลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท

TP12-3409-เกาะติด

หากครม.อนุมัติเปิดประมูลได้ทันในปีนี้จะได้ตัวผู้รับจ้างในปี 2562 เพื่อเริ่มก่อสร้างได้ในปลายปี 2562 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างราว 4 ปีเนื่องจากมีการก่อสร้างแนวใต้ดินเป็นระยะทางยาวอีก 1 เส้นทางและผ่านถนนสามเสนที่มีความคับแคบ ผ่านพื้นที่สำคัญต่างๆจึงต้องใช้มาตรการและรูปแบบการก่อสร้างอย่างพิถีพิถันรอบคอบเพื่อป้องกันและไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนและบ้านเรือนในแนวเส้นทาง

จัดเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่จะเชื่อมโยงการเดินทางจากโซนด้านเหนือของกรุงเทพฯอย่าง บางใหญ่ ติวานนท์ เตาปูน บางซื่อเข้าสู่โซนใจกลางเมืองเก่าอย่างวังบูรพา เจริญกรุง เยาวราช และเขตพระนคร แล้วยังเชื่อมไปสู่โซนกรุงเทพฯฝั่งใต้อย่างวงเวียนใหญ่ สำเหร่ ดาวคะนอง ราษฎร์บูรณะ และพระประแดงได้อย่างกลมกลืนมากขึ้น ผ่านย่านการค้าเก่าแก่และศูนย์ธุรกิจสำคัญในหลายจุดทั้งสามย่าน เทเวศร์ บางลำพู วังบูรพา ปากคลองตลาด วงเวียนใหญ่ สำเหร่ ดาวคะนอง บางปะกอกที่คาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาพื้นที่ได้อีกมากมายทั้งย่านธุรกิจและการอยู่อาศัยตามแนวเส้นทาง

คงต้องมีลุ้นในปลายปีนี้ที่เหลือระยะเวลาอีก 3 เดือนว่าจะเสนอครม.อนุมัติให้ดำเนินการได้ทันหรือจะต้องเลื่อนข้ามปีเช่นอีกหลายโครงการดังเช่นกรณีในช่วงที่ผ่านมา อย่าพลาดที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38 ฉบับที่ 3,409 วันที่ 14 - 17 ตุลาคม พ.ศ. 2561

e-book-1-503x62-7