ไทย-ชิลีหารือติดตามใช้ประโยชน์ FTA พร้อมเล็งขยายสิทธิประโยชน์ให้ผู้ค้าเพิ่ม

29 ส.ค. 2561 | 12:11 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หารือร่วมกับกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศของชิลีหรือ DIRECON เร่งลดภาษีสินค้าศักยภาพ ปรับปรุงการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ติดตามความคืบหน้าการตรวจสอบความเสี่ยงด้านสุขอนามัย ผลิตภัณฑ์การเกษตรและปศุสัตว์ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก และขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนระหว่างกัน

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่าได้รับมอบหมายจาก นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นหัวหน้าผู้แทนไทยหารือกับฝ่ายชิลี ในการประชุมคณะกรรมาธิการการค้าเสรี (FTC) ไทย-ชิลี ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 23-24 สิงหาคม 2561 ณ กรุงซันติอาโก สาธารณรัฐชิลี เพื่อติดตามการดำเนินงานภายใต้ความตกลงการค้าเสรี ไทย-ชิลี รวมทั้งหารือแนวทางเพื่อขยายการค้าการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น
cili ปัจจุบันไทยและชิลี ได้ลดภาษีสินค้าให้เหลือร้อยละ 0 ให้แก่กันแล้วกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด (ประมาณ 9,000 รายการ) และจะมีการลดภาษีเป็นศูนย์เพิ่มเติมอีก ในปี 2563 และในปี 2566 ภาษีของทั้ง 2 ฝ่ายจะลดลงเป็นร้อยละ 0 ทุกรายการ อย่างไรก็ดี ทั้งสองฝ่ายเห็นว่า การค้าในปัจจุบันมีการแข่งขันที่สูง และในขณะเดียวกัน หลายประเทศใช้มาตรการการค้าระหว่างกันสูงขึ้น จึงเห็นว่า ทั้ง 2 ฝ่ายควรเร่งใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี ไทย-ชิลี ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและขจัดปัญหาจากมาตรการทางการค้าดังกล่าว โดยเร่งลดภาษีสินค้าบางรายการให้เร็วขึ้น

ซึ่งไทยต้องการให้ชิลีเร่งลดภาษีสินค้า ข้าว น้ำตาล ยางล้อรถยนต์ รวมทั้งสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ขณะที่ชิลีสนใจให้ไทยลดภาษีเร็วขึ้นในสินค้าประเภท ปลาแซลมอน อาหารทะเล น้ำมันมะกอก ผลไม้เมืองหนาว และน้ำผลไม้ อย่างไรก็ตาม การเร่งรัดการลดภาษีดังกล่าว จะต้องไม่กระทบต่อผู้ประกอบการภายในประเทศ ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องให้ ระดับเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ฝ่าย หารือในรายละเอียดโดยจะเน้นพิจารณาสินค้าในกลุ่มที่มีกำหนดจะลดภาษีเป็นศูนย์ในปี 2566
cili1 นายรณรงค์ กล่าวต่อว่า เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี ไทย-ชิลี ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า รวมถึงความเป็นไปได้ในการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในกระบวนการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ที่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ในการลดภาษีภายใต้ความตกลงดังกล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการพิจารณาตรวจสอบความเสี่ยงด้านสุขอนามัยสำหรับผลิตภัณฑ์การเกษตรและปศุสัตว์ โดยสินค้าไทยที่ต้องการรับรองเพื่อเข้าสู่ตลาดชิลี ได้แก่ มังคุด ลำไย ข้าว ไม้ดอกไม้ประดับ และเนื้อไก่ ส่วนชิลีต้องการให้ไทยรับรองสินค้า อาทิ ลูกแพร์ มะเขือเทศ

ในโอกาสนี้ ไทยได้แจ้งชิลีถึงความสนใจของไทยในการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ในฐานะที่ชิลีเป็นสมาชิกของความตกลงดังกล่าว ขณะนี้ ไทยอยู่ระหว่างการศึกษา ประเมินผลได้ผลเสีย และรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนก่อนพิจารณาเข้าร่วมเป็นสมาชิก ซึ่งชิลียินดีสนับสนุน หากไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกความตกลงดังกล่าว
090861-1927-9-335x503 “ชิลีมีนโยบายการค้าที่เปิดกว้าง และได้จัดทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศในอเมริกาใต้และ ประเทศอื่นๆ ทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งผู้ประกอบการไทยเริ่มสนใจที่จะลงทุนในชิลีเพื่อเป็นประตูขยายตลาดสู่ประเทศในแถบอเมริกาใต้ การหารือขยายความร่วมมือ และการติดตามการดำเนินงานภายใต้ FTA ไทย-ชิลี จะช่วยเปิดโอกาสและสร้างความมั่นใจในการขยายการค้า การลงทุนของไทยในภูมิภาคดังกล่าวต่อไป” นายรณรงค์กล่าว

ในปี 2560 ไทย-ชิลี มีมูลค่าการค้า 1,122 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออก 749 ล้านเหรียญสหรัฐ และ นำเข้าจากชิลี 373 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ กว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าการส่งออกทุกรายการ ของไทยไปชิลี เป็นการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากความตกลง FTA ไทย-ชิลี

นายรณรงค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า จึงขอใช้โอกาสนี้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้นำเข้าส่งออก ของทั้งสองฝ่ายได้รับรู้ การใช้สิทธิประโยชน์ในความตกลงการค้าเสรี ไทย-ชิลี มากขึ้น

e-book-1-503x62-7