'ภัยน้ำ' โจทย์ใหม่ กนง. คาดปลายปี "ดอกเบี้ยขึ้น" !!

07 ส.ค. 2561 | 10:01 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

นักเศรษฐศาสตร์ ชี้! 'ภัยน้ำ' ประเด็นความเสี่ยงใหม่ ต่อเศรษฐกิจที่เพิ่งฟื้นตัว แถมการเมืองภายในและสงครามการค้ายังรอประเมิน จับท่าที "บอร์ด กนง." เสียงไม่เป็นเอกฉันท์ ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ด้าน กกร. จับตาพิพาทการค้าสหรัฐฯ และจีน ปัญหาน้ำท่วม ก่อนทบทวนจีดีพีเดือน ต.ค. นี้

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะประชุมครั้งที่ 5 ของปี ในวันที่ 8 ส.ค. 2561 ซึ่งตลาดยังคาดการณ์ว่า จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ต่อเนื่องที่ 1.5% หลังจากล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. มีมติ 5 ต่อ 1 เสียง (กรรมการ 1 ท่าน ลาประชุม) ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ต่อปี ซึ่งการประชุม กนง. ในรอบปีนี้ ได้ส่งสัญญาณเชิงปริมาณ จากจำนวนเสียงกรรมการที่ไม่เป็นเอกฉันท์แล้ว 2 ครั้ง และ กนง. เริ่มสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน หรือ Policy Space สำหรับอนาคตมากขึ้น หลังจากมีมติ 5 ต่อ 2 เป็น 1.50% ต่อปี จาก 1.75% ในการประชุมที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2558 และยังคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน

 

[caption id="attachment_304606" align="aligncenter" width="303"] เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด[/caption]

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า กนง. รอบนี้ มีเรื่องภัยน้ำท่วมเป็นประเด็นความเสี่ยงภายในประเทศใหม่ เพิ่มเข้ามาจากเรื่องสงครามทางการค้าที่ยังไม่จบ ซึ่งยังไม่สามารถคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเพิ่งฟื้น จึงมีประเด็นความเสี่ยงที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมทั้งปี และคาดว่า การตัดสินนโยบายของบอร์ด กนง. จะมีมติออกมาไม่เป็นเอกฉันท์เช่นครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณทบทวนการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพราะในระยะ 1-2 เดือน จะเห็นธนาคารกลางอินเดียปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง หรือ ธนาคารกลางอินโดนีเซียที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่า ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ต่างจากไทย ที่มีความแข็งแกร่งของปัจจัยพื้นฐานในประเทศ จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการนโยบายดอกเบี้ยในรอบนี้

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยที่ 1.50% ต่อปี ในครั้งนี้ แต่ท่าทีของ กนง. บอกชัดว่า ต้องการสร้าง Policy Space หรือขึ้นดอกเบี้ยนั่นเอง โดยขึ้นอยู่กับเสียงส่วนใหญ่ของ กนง. จะมองเวลาไหนเป็นจังหวะเหมาะ แต่มอง 2 กรณี คือ ถ้าปีนี้ไม่ขึ้น คาดว่าปีหน้าจะเห็น กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง แต่ปีนี้น่าจะปรับเร็วขึ้น ซึ่งหากดอกเบี้ยนโยบายขยับ เชื่อว่า ธนาคารในระบบจะปรับอัตราดอกเบี้ยตามทันที

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยนโยบายรอบปลายปี 1 ครั้ง และปีหน้าอีก 1 ครั้ง โดยทั้งปีหน้า ดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 2.00% ต่อปี บนสมมติฐานอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบและจีดีพีอยู่ในระดับ 4-5% เป็นจุดเหมาะสมและสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ยั่งยืน ทั้งนี้ แนวโน้มการตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ย ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้น จึงเอื้อให้ กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% เพื่อป้องกันแรงกระชากจากเงินเฟ้อที่อาจปรับเร็วในอนาคต

ด้าน นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ในระยะข้างหน้า กกร. ยังต้องติดตามประเด็นการตอบโต้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน แม้ปัจจุบันจะมีผลกระทบวงจำกัด แต่หากการตอบโต้ยังมีอยู่ อาจจะเห็นผลกระทบวงกว้างขึ้นในปี 2562 ขณะเดียวกันปัญหาน้ำท่วมยังเป็นปัญหาที่ต้องติดตามอยู่ แต่เบื้องต้นคาดว่า ผลกระทบไม่น่าจะเท่ากับอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปี 2554 ซึ่งวันนี้ยังเป็นการประเมินสถานการณ์ จึงยังไม่ได้ประมาณผลกระทบเป็นตัวเลข ทั้งนี้ จะมีผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือไม่อย่างไร กกร. จะมีการประชุมเพื่อปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้งในเดือน ต.ค. นี้


……………….
เซกชัน : การเงิน โดย นสพ.ฐานเศรษฐกิจ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,390 วันที่ 9-11 ส.ค. 2561 หน้า 24-23

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'กนง.' มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง คง 'อาร์พี' 1.5% ต่อปี
จี้กนง.ส่งสัญญาณชัด ชี้จังหวะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายปลายปีหน้า


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว