ผ่าร่างกฎหมายซูเปอร์โฮลดิ้ง กุญแจดอกแรกปฏิรูปรัฐวิสาหกิจไทย (ตอน 1)

04 ก.พ. 2559 | 04:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ในที่สุดร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ....ก็ได้ผ่านคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.หรือซูเปอร์บอร์ด) ไปเมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา ขั้นตอนหลังจากนี้ คลังอยู่ระหว่างจัดทำเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนสู่ชั้นพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลำดับต่อไป ซึ่งคาดจะมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้

ความสำคัญและประโยชน์ของกฎหมายฉบับนี้ คงไม่มีใครตอบชัดได้ดีไปกว่ากรรมการ ของ คนร.เอง "ประสาร ไตรรัตน์วรกุล และยังเป็นประธานคณะอนุกรรมการเตรียมการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ หรือซูเปอร์โฮลดิ้ง

[caption id="attachment_29688" align="aligncenter" width="503"] กรอบการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจในภาพรวม กรอบการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจในภาพรวม[/caption]

ประสาร ได้เท้าความถึงคอนเซ็ปต์ ก่อนจะมาเป็นร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ว่าภาพรวมของรัฐวิสาหกิจไทย 56 แห่งในช่วงที่ผ่านมาเติบโตขึ้นมาก เป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศ ไม่ว่าจะด้านสินทรัพย์รวมมีถึง 11.9 ล้านล้านบาท หรือประมาณครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์ของรัฐ มีรายได้รวมในช่วง 10 ปี ( 2547-2557 ) เพิ่มจาก 1.5 ล้านล้านบาท เป็น 5.1 ล้านล้านบาท และนำส่งรายได้เข้ารัฐปีหนึ่งๆ เฉลี่ย 1 แสนล้านบาท มีงบประมาณรายจ่ายสูงถึง 4.8 ล้านล้านบาท และการจ้างงาน 4.25 แสนคน

ยิ่งสำคัญกว่านั้นคือรัฐวิสาหกิจเวลานี้เป็นผู้ครอบครองสินทรัพย์เชิงยุทธศาสตร์จำนวนมาก ทั้งคลื่นความถี่, สนามบิน, ทางพิเศษ, ท่าเรือระบบราง ดังนั้นการที่จะพัฒนาประเทศได้ รัฐวิสาหกิจผู้ครอบครองสินทรัพย์เหล่านี้ก็ต้องมีการบริหารจัดการที่ดีด้วย

 "จุดบอด" หลายข้อต่อ

นอกจากนี้ประเด็นเรื่องการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่ผ่านมา ยังพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ยังมีจุดบอดในหลายข้อต่อ

ข้อต่อแรก การแทรกแซงจากการเมืองผ่านกระทรวงเจ้าสังกัด (คมนาคม,พลังงาน ,อุตสาหกรรม ) ส่งคนที่ไม่มีความสามารถเข้าไปเป็นกรรมการ ผู้บริหารในรัฐวิสาหกิจ, ข้อต่อที่ 2 กระทรวงคลังมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย มีกฎระเบียบค่อนข้างยาก บางครั้งไม่สามารถแสดงบทบาทในฐานะเจ้าของ ( Owner) ชัดเจน ข้อต่อที่ 3 รัฐวิสาหกิจเองก็ไม่ชัดเจนระหว่างเป้าหมายทางสังคมหรือธุรกิจ จนบางครั้งต้องทำเรื่องที่เป็นวัตถุประสงค์ทางสังคม โดยไม่ได้รับการชดเชย ,ข้อต่อที่ 4 ความขัดแย้งระหว่างบทบาทภาครัฐ ในฐานะผู้วางนโยบาย ( policy Maker) , ผู้กำกับดูแล (regulator )และเจ้าของ ( owner ) และ ข้อต่อที่ 5 คือการที่รัฐวิสาหกิจขาดการแข่งขัน ขาดแรงดันเพิ่มประสิทธิภาพ

 บทบาทรัฐไม่ชัดกระทบทำหน้าที่

"ที่ผ่านมาจะเห็นว่าบทบาทของภาครัฐใน 3 หน้าที่ปะปนกัน บางครั้งก็อยู่ในสถานการณ์ที่แยกไม่ออก เมื่อทับซ้อนก็ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม ดังนั้นเป้าหมายของกฎหมายฉบับนี้ ก็คือการแยกบทบาทระหว่างผู้เกี่ยวข้องให้ชัดเจน , จัดทำรูปแบบหน่วยงานที่ทำหน้าที่คล้าย "เจ้าของ" อย่างเหมาะสม มีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี (good governance ) และใช้กลไกตลาดให้มีการแข่งขันไม่บิดเบือน"

แนวทางจึงต้องแยกบทบาทการทำหน้าที่ของรัฐบาลใน 3 ส่วนให้ชัดเจน กล่าวคือ 1.ส่วนที่เป็น กระทรวงเจ้าสังกัด ให้ทำหน้าที่ "กำกับนโยบาย" เช่นกระทรวงคมนาคมวางนโยบายด้านขนส่ง ,กระทรวงคลัง วางนโยบายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI ) และหากไปใช้รัฐวิสาหกิจดำเนินนโยบายพิเศษ กระทบถึงฐานะดำเนินงาน ก็ต้องชดเชยให้ ( PSA/PSO)

2.ผู้กำกับดูแลสาขา ( regulator) เช่นการกำหนดราคาให้เหมาะสม คุณภาพบริการ ,การดูแลให้มีการแข่งขันที่เท่าเทียมระหว่างผู้เกี่ยวข้อง และ 3 บทของ เจ้าของ owner คล้ายๆ กับการทำหน้าที่ของภาคธุรกิจเอกชนที่มีผู้ถือหุ้นคอยปกป้องรักษาฐานะของกิจการ ,สรรหาคนดี-เก่ง เป็นกรรมการ/ผู้บริหาร ,บริหารทรัพย์สินให้มีมูลค่าเพิ่มและประเมินผล

ส่วนบทบาท "รัฐวิสาหกิจ" ก็เป็น operator เป้าหมายคือทำพันธกิจหลักให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศมีประสิทธิภาพโปร่งใส ไม่ทุจริต

 ยกบทเรียนกรณี “จำนำข้าว”

ประสารได้ยกตัวอย่างบทเรียนที่เคยเป็นปัญหา กรณี “ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) ซึ่งตั้งขึ้นโดยรัฐบาลในยุคนั้นเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีสถาบันการเงินเฉพาะกิจ(SFI)ช่วยเหลือภาคเกษตร กฎหมายจัดตั้งจึงได้กำหนดให้ รมต.คลัง เป็นประธานคณะกรรมการ ธ.ก.ส. โดยตำแหน่ง และมีผู้แทนจาก ธปท. เป็นกรรมการ

"แนวทางกำกับเช่นนี้ จะเห็นว่ามีปัญหา เช่นในปี 2556-2557ที่ ธ.ก.ส.ต้องรับนโยบายในโครงการจำนำข้าว เพราะหมวก "รมต.คลัง" มีถึง 4 หน้าที่คือ 1.เป็นผู้กำหนดนโยบาย รับนโยบายจากครม.มาสั่งการต่อ 2. เจ้าของหรือ CFO ของ ธ.ก.ส. คือแทนที่จะต้องห่วงว่าจะกระทบต่อฐานะหรือไม่ ในเมื่อคลังบอกให้ใช้ในกรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท แต่ใช้ไปถึง 8 แสนล้านบาท หมวกใบที่ 3 คือผู้กำกับ regulator โดยทำผ่าน สศค. (สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ) ซึ่งมีหน้าที่ต้องดูว่าปฏิบัติตามกฎระเบียบ หรือมีเงินกองทุนเพียงพอหรือไม่ และหมวกใบที่ 4 เป็นประธานบอร์ด ธ.ก.ส. ซึ่งก็ไม่ต่างกับเล่นบท Operator เสียเอง ผลลัพธ์ในสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ภาพกระทรวงคลังเบลอ มาตอนหลังจึงได้ปรับแก้ อย่างน้อยก็ด้วยการแยกบทบาท regulator ให้ธปท.ดูแล โดยที่ รมต.คลัง ยังเป็นประธานบอร์ดตาม พ.ร.บ.จัดตั้ง”

 เผยโครงสร้างกฎหมายกำกับ 56 รสก.

ประสาร กล่าวต่อว่า ที่มาของร่าง พ.ร.บ. ในเรื่องการนำ "ระบบบรรษัทภิบาล" มาประยุกต์ใช้กับระบบรัฐวิสาหกิจ ก็มาจากองค์ประกอบสำคัญที่คุ้นเคยกันมาตั้งแต่อยู่ในตลาดทุนในช่วง 20 ปี ที่พัฒนาไปไกล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสรรหาแต่งตั้งกรรมการ , การให้รัฐวิสาหกิจมีการทำแผนธุรกิจที่ชัดเจน , การติดตามผลงานว่าเป็นไปตามแผนหรือไม่ หรือในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลตรวจสอบ ฯลฯ อย่างไรก็ตามการจะนำไปสู่ปฏิบัติ หลายเรื่องก็ต้องเขียนกรอบให้ชัดเจนและมีอำนาจบังคับพอสมควร จึงเป็นที่มาของร่างพระราชบัญญัตินี้

นอกจากนี้สูตรหนึ่งที่นิยมใช้ในระบบสากล ก็คือการกำหนดองค์กรที่เป็นเจ้าของชัดเจน ซึ่งเมื่อซูเปอร์บอร์ดหรือ คนร.ได้ฟังข้อเสนอนี้ก็เห็นด้วยในหลักการ และนำไปสู่ที่ว่าระบบรัฐวิสาหกิจที่มี 56 แห่ง จำนวนนี้มี 12 แห่งที่อยู่ในรูป "บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน" มีทุนเรือนหุ้น การเอาคอนเซ็ปต์แนวคิดเรื่อง "เจ้าของ" จึงค่อนข้างชัดเจน จนเป็นที่มาของโครงสร้างกฎหมายตั้ง " บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ "หรือซูเปอร์โฮลดิ้ง

 ตั้งซูเปอร์โฮลดิ้ง รับโอนรสก. 12 แห่ง

ดังนั้นโครงสร้างจึงแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ (ตารางประกอบ ) ส่วนที่ 1 กรอบกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ที่ตั้งโดยกฎหมายเฉพาะ ซึ่งมี 44 แห่ง เช่นการรถไฟแห่งประเทศไทย ,การไฟฟ้า ฯ,การประปา ฯลฯ ส่วนที่ 2 ก็คือ 12 รัฐวิสาหกิจที่กล่าวข้างต้น เช่นการบินไทย ,ปตท. ,กสท.โทรคมนาคม, ทีโอที กลุ่มหลังนี้อยู่ภายใต้การถือหุ้นโดย "บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ" ตามจำนวนหุ้นที่กระทรวงการคลังถือ โดยที่กระทรวงการคลังจะเข้าถือหุ้นในบรรษัท 100% และเพื่อความคล่องตัวจึงได้ยกเว้น กฎหมายว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับกรรมการและผู้บริหาร) ซึ่งจะทำให้บรรษัท สามารถทำหน้าที่เป็น active shareholder ในลักษณะการรวมศูนย์

 ยันไม่มีนโยบายแปรรูป

เขายังกล่าวยืนยันว่า กฎหมายฉบับนี้มีเจตนารมณ์เพื่อปฏิรูปเชิงสถาบันมุ่งหวังที่จะปรับปรุงให้กลไกที่เกี่ยวข้องทำงานได้อย่างเป็นปกติ แต่ไม่ใช่ยาวิเศษเพราะอย่างไรแล้วรัฐวิสาหกิจก็ต้องเผชิญกับการแข่งขันในตลาด และยืนยันว่าไม่มีนโยบายที่จะแปรรูปแน่นอน

“สาเหตุที่เขา (แรงงานรัฐวิสาหกิจ)ตีความเช่นนั้น เพราะเขาไปอ่านร่างแรกที่ปรากฏอยู่ในมาตรา (ม.) 50 ตอนท้ายและมาตรา 52 คือมาตรา 50 ให้ครม.สามารถกำหนดสัดส่วนขั้นตํ่า เพื่อมาใช้ในมาตรา 52 ซึ่งมาตรา 52 เขียนห้ามบรรษัท ไปลดสัดส่วนตํ่ากว่าครึ่ง ยกเว้นได้รับความเห็นชอบจากครม. ซึ่งเขาก็ยังตีความไปอีกด้าน

ดังนั้นเพื่อความสบายใจ เราจึงแก้ใหม่ โดยตัดบางส่วนในร่างกฎหมายออก (มาตรา 50 วรรคสุดท้ายและมาตรา52 ในส่วนที่พูดถึงอำนาจของครม.ในการลดสัดส่วนการถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจ) คือไม่พูดถึงเลย และความจริงแล้ว รัฐวิสาหกิจเช่น การรถไฟฯ หรือการไฟฟ้าอยู่ดีๆ จะไปขายหุ้นให้ตํ่ากว่าครึ่ง มันเป็นไปไม่ได้เพราะพวกนี้ไม่มีหุ้น กิจการเป็น “การ”ตั้งขึ้นโดยกฎหมายเฉพาะ ไม่เหมือนปตท.หรือการบินไทย หรือหากจะทำจริงก็ต้องไปผ่านกระบวนการของกฎหมายอื่นเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่นกฎหมายของทุนรัฐวิสาหกิจ”

“อ่านต่อฉบับหน้า 7 - 10 กุมภาพันธ์ 2559”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,128 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559