Exclusive INTERVIEW | 'ธนวรรธน์' ปั้นโปรเจ็กต์! ดึงทุกฝ่ายร่วมแก้ราคายาง

10 เม.ย. 2561 | 10:35 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2561 พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้มีประกาศแต่งตั้ง 'ธนวรรธน์ พลวิชัย' กรรมการการยางฯ (ผู้แทนผู้ประกอบกิจการยาง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการค้า) เป็นรักษาการผู้ว่าการการยางฯคนใหม่ แทน นายธีธัช สุขสะอาด อดีตผู้ว่าการฯ ที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี ตามกรอบอัตรากำลังชั่วคราว เป็นกรณีพิเศษ ... "ฐานเศรษฐกิจ" มีโอกาสได้สัมภาษณ์รักษาการผู้ว่าการการยางฯ ถึงนโยบาย แผนงาน และทิศทางการบริหารยางพาราครบวงจรนับจากนี้


เร่งเพิ่มใช้ใน ปท.-ลดปลูก
'ธนวรรธน์' กล่าวว่า สิ่งที่ทางรัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบภารกิจและนโยบายให้ กยท. ปฏิบัติและขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม คือ การเพิ่มการใช้ยางพาราภายในประเทศควบคู่กับการลดปริมาณผลผลิตยางในระยะกลางและระยะยาว มาตรการสำคัญ คือ การส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอื่นทดแทนยาง ที่มีโอกาสเพิ่มรายได้มากขึ้น

โดย กยท. มีแนวทางเดิมสำหรับชาวสวนยางที่ต้องการปรับเปลี่ยนอาชีพ คือ การจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกร โดยรับเงินสงเคราะห์การทำสวนยางสำหรับต้นยางพาราที่มีอายุเกิน 25 ปี จำนวนเงินไร่ละ 1.6 หมื่นบาท แล้วส่งเสริมให้ปลูกพืชอื่นทดแทน ส่วนแนวทางใหม่ รัฐบาลมีงบกลางปีประมาณ 1,500 ล้านบาท จะเป็นโครงการส่งเสริมให้เกษตรกรโค่นยางที่อายุต่ำกว่า 25 ปี คือ ตั้งแต่ 1-25 ปี ก็สามารถที่จะดำเนินการปลูกพืชอื่นทดแทนได้


ผลผลิตเกินความต้องการ
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2561 จากที่ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหาร บริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด (IRCo’s BoD) ในฐานะรักษาการผู้ว่าการ กยท. เป็นครั้งแรก ซึ่งมีตัวแทนจาก 3 ประเทศผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลกเข้าร่วม ประกอบด้วย ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ได้หารือกันถึงสถานการณ์ราคายางพารา มีความเห็นพ้องกันให้แต่ละประเทศเน้นเพิ่มการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น และดูแลผลผลิตให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด โดยจะร่วมมือกันอย่างจริงจัง ซึ่งมีอะไรอีกหลายอย่างที่ประเทศไทยจะต้องทำตามข้อตกลง

"สิ่งที่จะดำเนินการ คือ จะต้องใช้กลไกต่าง ๆ เพื่อพยายามทำให้ราคายางปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์กับเกษตรกร แต่ประการแรกต้องทำความเข้าใจกับสังคมไทยและเกษตรกรไทยก่อนว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารยาง 3 ประเทศ กับคณะกรรมการด้านกลยุทธ์การตลาด ที่เรียกว่า ซีเอสเอ็มโอ (Committee on Strategic Market Operation) มีการประเมินสถานการณ์ยางพาราในตลาดโลก ยังมีปริมาณสูงเกินความต้องการของตลาด"

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบราคายางภายในประเทศของไทยกับอินโดนีเซียและมาเลเซีย ไทยยังมีราคายางทุกประเภทโดยเฉลี่ยสูงกว่า 2 ประเทศ 1-2 บาทต่อกิโลกรัม แต่บางวันอาจจะใกล้เคียงกัน น้อยครั้งที่ราคายางไทยจะต่ำกว่า ยกตัวอย่าง ราคายาง ณ วันที่ 4 เม.ย. ราคายางของไทยราคาสูงกว่าอินโดนีเซียและมาเลเซีย 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม แสดงว่าประเทศไทยขายยางในตลาดโลกได้ในราคาที่สูงกว่า


เตรียมระดมไอเดียแก้ยาง
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า ราคายางเป็นปัญหาร่วม ซึ่งการทำงานของไทยกับนานาประเทศจะต้องทำงานภายใต้กรอบของประโยชน์ 3 ฝ่าย เพราะฉะนั้น เราจะต้องทำทั้งข้อมูล ทำทั้งนโยบายที่จะส่งเสริม ก็คือ เพิ่มความต้องการใช้ในประเทศและพยายามหาตลาดต่างประเทศ ซึ่งทุกประเทศก็ทำในลักษณะเดียวกัน จึงทำให้เกิดภาวะการแข่งขันในตลาดโลกสูงมาก

"ในเร็ว ๆ นี้ กยท. มีแผนจะจัดงานรับเบอร์ แฮกกาธอน (Rubber Hackathon) เพื่อใช้เป็นเวทีระดมความคิดเห็นแบบร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหายางพาราจากทุกภาคส่วนแบบ 360 องศา จากนั้นจะนำข้อมูลทั้งหมดนำมากรองเพื่อนำสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาให้บังเกิดผลอย่างชัดเจนต่อไป"

สำหรับงานรับเบอร์ แฮกกาธอน นี้ เป็นแนวคิดของคณะกรรมการใน IRCo นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี อย่างไรก็ตาม โครงการนี้จะต้องนำไปปรึกษาและขอความคิดเห็นจาก นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และบอร์ด กยท. ก่อน ซึ่งการระดมความคิดเห็นในครั้งนี้จะมีรูปแบบครบวงจร ก็คือ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เรียกว่า ตั้งแต่ผลิตยันขาย จะมีกระบวนการ "Rubber Hackathon" จะเป็นการถอดโมเดลของต่างประเทศที่ใช้แล้วประสบความสำเร็จ คาดว่าเมื่อมาใช้กับยางพาราจะประสบความสำเร็จไม่แพ้กัน


รอบวัฏจักรราคายังไม่สูง
ดร.ธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า จากที่เป็นกรรมการของ กยท. และถูกมอบหมายให้มาทำหน้าที่รักษาการผู้ว่าการการยางฯ สิ่งที่รัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมาย ซึ่งเป็นภารกิจและเจตจำนง คือ การขับเคลื่อนยางพาราของไทยให้เจริญเติบโตทั้งระบบ และทำให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรผู้ปลูกให้มากที่สุด รวมถึงผลประโยชน์ของภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะการดูแลเสถียรภาพราคาและระบบยางพาราทั้งหมด ให้สามารถเพิ่มมูลค่ายางพาราได้ในอนาคต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรระยะยาว

"วัฏจักรยางพารารอบนี้ ราคาทรงตัวอยู่ในระดับที่ไม่สูง แต่ยางพารายังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกัน จะปล่อยให้ กยท. หรือ กระทรวงเกษตรฯ ทำงานเพียงลำพัง อาจทำได้ แต่ไม่มีผลสัมฤทธิ์เต็มที่ ดังนั้น ต้องอาศัยประสบการณ์ความคิดเห็นจากพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ ที่จะต้องแก้ปัญหาและทำงานร่วมกัน ก็ขอใช้ระยะเวลาในการดูแลและแก้ไขไม่นานเกินไป ส่วนความคืบหน้าในมาตรการต่าง ๆ จะค่อยมีทยอยออกมาเรื่อย ๆ" นายธนวรรธน์ กล่าวตอนท้าย


……………….
สัมภาษณ์พิเศษ : ธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการการยางฯ (ผู้แทนผู้ประกอบการกิจการยาง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการค้า) และรักษาการผู้ว่าการการยางฯคนใหม่

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,355 วันที่ 8-11 เม.ย. 2561 หน้า 09

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ลุ้น! 6 ตลาดกลางยางพารา ราคาเดียว ล่มหรือไม่ล่ม?
‘รองเท้ายางพารา’บูม GROWY รุกขึ้นห้างชูจุดขายผลิตภัณฑ์สุขภาพ


e-book-1-503x62