ออมสินตื่นหนี้เสียพุ่งส่งมืออาชีพเร่งสกัด

23 พ.ค. 2561 | 04:23 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ออมสินตื่นตัวคุมหนี้เสีย หลังเห็นสัญญาณเพิ่มขึ้นในสิ้นปี โดยเฉพาะหนี้ครู รายย่อยและหนี้ประชาชน คาดว่ายอดหนี้เสียเพิ่มเป็น 5.2 หมื่นล้านบาทจากไตรมาสแรกที่ 4.5 หมื่นล้านบาท พร้อมตั้งเป้ารายได้เก็บหนี้เสียรายเก่า 1.5 หมื่นล้านบาทเป็นเคพีไอปีนี้

ธนาคารออมสินรุกคืบคุมหนี้เสีย นำร่องเปิดศูนย์ควบคุมและบริหารหนี้ แห่งแรกที่ถ.เพชรบุรี ก่อนกระจายทั่วประเทศ 80 แห่งในสิ้นปีนี้ภายใต้นโยบายของนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสินที่ระบุว่า แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือ หลังเห็นสัญญาณการไต่ระดับของหนี้กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา(ช.พ.ค.) หรือกลุ่มรายย่อยทั้งสินเชื่อประชาชน สินเชื่ออเนกประสงค์ โดยคาดว่า สิ้นปีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 2.6-2.7% ของสินเชื่อรวม หรือประมาณ 5.2 หมื่นล้านบาท จาก 2.19% หรือมูลหนี้รวม 4.5 หมื่นล้านบาทจากยอดสินเชื่อรวม 2.2 ล้านล้านบาท ณ  สิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ชาติชาย

“วัตถุประสงค์หลักของศูนย์ เพื่อดูแลลูกหนี้อย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่รายที่ค้างชำระ 1 วัน โดยมีทีมงานเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อรับฟังอุปสรรคของลูกค้าและให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด  รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับรายที่ดำเนินการฟ้องคดีไปแล้ว”นายชาติชายกล่าว

ด้านนายโชคชัย คุณาวัฒน์ รองผู้อำนวยการ ธนาคาร ออมสินเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เบื้องต้นจะรับโอนเจ้าหน้าที่ 31 คนที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลคุณภาพหนี้มาจากสาขา หรือเขต มาประจำศูนย์ควบคุมและบริหารหนี้ซึ่งมืออาชีพเหล่านี้ จะมีทักษะในการวิเคราะห์ พูดคุย แนะนำและต่อรองซึ่งช่วยลูกหนี้ได้มากกว่า โดยแยกการปล่อยสินเชื่อกับการติดตามดูแลหนี้ออกจากกันเพื่อ Check &Balance ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ซึ่งต่อไปสาขาจะทำหน้าที่ด้านการขายและให้บริการคำแนะนำลูกค้าส่วนศูนย์ควบคุมฯแห่งนี้มีเจ้าหน้าที่ 31 คนวัตถุประสงค์หลักคือ ติดตามทวงถามดูแลคุณภาพลูกหนี้ นอกจากนั้นยังได้ว่าจ้างบริษัทภายนอก (OUT SOURCE) ในการติดตามทวงถามหนี้และที่ปรึกษาด้านกฎหมายทั่วประเทศ

สำหรับโครงสร้างเอ็นพีแอลในปัจจุบัน  นายโชคชัยกล่าวว่า ประมาณ 60% ของมูลหนี้ 4.5 หมื่นล้านบาทเป็นเอ็นพีแอลที่อยู่ระหว่างฟ้องคดี ส่วนใหญ่เป็นคดีแพ่ง ส่วนคดีล้มละลายมีประมาณ 1,000 ราย ประเภทสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อทั่วไป สินเชื่อข้าราชการและสินเชื่อธุรกิจมีเพียงเล็กน้อย ซึ่งพยายามเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ แต่ยอมรับว่า มีบางส่วนที่ปฏิบัติไม่ได้ตามเงื่อนไข จึงเห็นหนี้ไหลย้อนกลับเป็นเอ็นพีแอลบ้าง(Re-Entry) ส่วนใหญ่เป็นระดับฐานรากที่ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมีวงเงินกู้หลักแสนบาทต่อราย

“หนี้ทุกกระบวนการที่ออมสิน ไม่ว่าฟ้องคดี รายที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว หลังจากนั้น เราเปิดให้ลูกค้าเข้ามาคุยตลอด ขณะเดียวกัน ต้องพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายที่เกิดจากกันสำรอง จึงต้องควบคุมเอ็นพีแอล และป้องกันไม่ให้หนี้ตกชั้น ซึ่งปัจจุบันมีหนี้จัดชั้นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษหรือ SM อีก 5 หมื่นล้านบาท หรือ 3-4% จากยอดสินเชื่อ 2.2 ล้านล้านบาท”

แหล่งข่าวอีกรายกล่าวเสริมว่า  สำหรับลูกหนี้ในรายที่ Re-Entry ธนาคารมีการเจรจาใหม่เรื่อยๆ เพราะเจตนาเพื่อช่วยบรรเทาให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ หรือตามฤดูกาล แต่ยอมรับว่ามูลหนี้ที่ค้างชำระมาหลายปีบางรายใช้ขั้นตอนของศาลยื้อคดีก็มี อย่างไรก็ตาม ธนาคารตั้งเป้ารายได้ในการเรียกเก็บหนี้เดิมจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาทซึ่งเป็นเคพีไอของทั้งปีนี้

เซ็กชั่น การเงิน หน้า 24  ฐานเศรษฐกิจ 3,367 วันที่ 20-23 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

e-book-1-503x62-7