'กสทช.-อย.' เร่งระงับโฆษณาผิด ก.ม. "ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร-โฆษณาเกินจริง"

03 พ.ค. 2561 | 11:05 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สำนักงาน กสทช. และ อย. เร่งระงับการโฆษณาผิดกฎหมาย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือ โฆษณาเกินจริง โดย อย. พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาที่ กสทช. หากผิดพร้อมออกคำสั่งระงับทันที

ในวันนี้ (3 พ.ค. 2561) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมทั้งผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ ได้ร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางระงับการออกอากาศผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางที่ไม่ผ่าน อย. และไม่ได้รับอนุญาตโฆษณาออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์ โดยมี กสทช., พล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ, นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.), นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (เลขาธิการ อย.) ร่วมกันแถลงข่าว

 

[caption id="attachment_278610" align="aligncenter" width="500"] ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ฐากร ตัณฑสิทธิ์
เลขาธิการ กสทช.[/caption]

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ปัจจุบัน กระบวนการทำงานตรวจสอบเนื้อหาโฆษณาที่มีเนื้อหาสาระในลักษณะเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการหรือสินค้าโดยหลอกลวง หรือ กระทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับบริการหรือสินค้า จะต้องนำเนื้อหาเข้าสู่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ที่มี กสทช., พล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ เป็นประธาน ซึ่งเมื่อพบว่ามีโฆษณาที่ผิดกฎหมาย หรือ การโฆษณาเกินจริง สำนักงาน กสทช. ก็จะมีการสอบถามไปยัง อย. โดย อย. จะทำการตรวจสอบก่อนส่งเรื่องกลับมาที่สำนักงาน กสทช. รวมระยะเวลากระบวนการจะใช้เวลา 45-60 วัน ถึงจะสามารถยุติการออกอากาศรายการนั้นได้ แต่หลังจากนี้สำนักงาน กสทช. และ อย. จะเร่งรัดการยุติการออกอากาศโฆษณาด้วยการลดขั้นตอน เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อประชาชน


appMP17-3148-A

เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า จากนี้สำนักงาน กสทช. และ อย. จะทำงานร่วมกันโดยจะมีเจ้าหน้าที่จาก อย. มาประจำการที่ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ (โซเชียลมีเดีย) ที่ผิดกฎหมาย ที่สำนักงาน กสทช. เพื่อตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางที่ไม่ผ่าน อย. และไม่ได้รับอนุญาตโฆษณาผ่านสถานีโทรทัศน์ หากพบว่ามีโฆษณาใดที่ผิดกฎหมาย อย. จะทำหนังสือแจ้งมาเพื่อให้เลขาธิการ กสทช. มีคำสั่งระงับโฆษณานั้นเป็นการชั่วคราว แล้วส่งเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาการกระทำอันเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ และ กสทช. ตามลำดับ จนกว่าผลการพิจารณาจะเป็นข้อยุติ ซึ่งหากมีการฝ่าฝืนจะมีโทษปรับตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ข้อ 5(2) ที่ระบุว่า การออกอากาศรายการ หรือ การโฆษณาที่มีเนื้อหาสาระในลักษณะเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการหรือสินค้าโดยหลอกลวง หรือ กระทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับบริการหรือสินค้านั้น หรือ โดยการใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือข้อมูลอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท และหากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับวันละ 100,000 บาท

 

[caption id="attachment_278611" align="aligncenter" width="503"] นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์  รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์
รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข[/caption]

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขเห็นความสำคัญในการที่จะตรวจสอบโฆษณาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งการแก้ไขปัญหาที่ได้ผลดีที่สุด คือ การแก้ไขที่ต้นทาง ไม่ให้มีโฆษณาเผยแพร่ผ่านสื่อออกมาหลอกลวงผู้บริโภค ความร่วมมือระหว่าง อย. และ กสทช. ในการดำเนินการครั้งนี้ จะเป็นผลดีที่ทำให้สามารถกลั่นกรองโฆษณาได้ตั้งแต่ต้น ทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงในการรับข่าวสารโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางที่ฝ่าฝืนกฎหมายทางวิทยุและโทรทัศน์ เนื่องจากผลของข่าวผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการตรวจสอบอยู่ ณ เวลานี้ เป็นการโฆษณาทางโซเชียลมีเดีย ดังนั้น เพื่อให้การกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพครอบคลุมทั้งในสื่อวิทยุและโทรทัศน์ไปในขณะเดียวกัน จึงเป็นที่มาของการร่วมมือกันในครั้งนี้

นายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้กล่าวว่า อย. ได้เห็นความสำคัญในการปรับลดขั้นตอนกระบวนการทำงานจากเดิม ซึ่งมีการทำงานร่วมกันอยู่แล้วระหว่างสำนักงาน กสทช. และกระทรวงสาธารณสุข (อย. และ สสจ.) โดยกระบวนงานใหม่จะมีการร่วมกันพิจารณาเนื้อหาการโฆษณาที่ออกอากาศให้ทันต่อสถานการณ์มากขึ้น และการร่วมกันพิจารณา จะเป็นการลดขั้นตอนในกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งในส่วนของสำนักงาน กสทช. และกระทรวงสาธารณสุขด้วย ดังนั้น จึงขอให้ทางผู้ประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ รวมถึงผู้ที่จะว่าจ้างลงโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางในทางวิทยุและโทรทัศน์ โปรดตรวจสอบเนื้อหา รวมถึงต้องนำเนื้อหาการออกอากาศ มาขออนุญาตตามกฎหมายที่ อย. และ สสจ. กำกับดูแลอยู่ ให้ถูกต้อง เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป

 

[caption id="attachment_278613" align="aligncenter" width="334"] นายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์  เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์
เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา[/caption]

เลขาธิการ อย. ขอย้ำเตือนมายังผู้บริโภค ไม่ควรหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง อ้างรักษาได้สารพัดโรค ขอให้ผู้บริโภคระลึกไว้เสมอว่า อาหารไม่ใช่ยา ไม่สามารถช่วยบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรคได้ เพราะนอกจากจะสิ้นเปลืองเงินแล้วยังอาจได้รับอันตรายจากการปนเปื้อนยาหรือสารอันตรายที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ได้ ส่วนเครื่องสำอางมีวัตถุประสงค์เพื่อความสะอาดและสวยงามเท่านั้น ไม่สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างของร่างกายได้ จึงขอเตือนผู้บริโภคอย่าได้หลงเชื่อสรรพคุณที่อวดอ้างเกินความจริงทางสื่อต่าง ๆ นอกจากจะเสียเงินโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังอาจได้รับอันตรายโดยคาดไม่ถึง หากผู้บริโภคพบเห็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย สามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วน อย. 1556, อีเมล์ [email protected], รองเรียน ผาน Oryor Smart Application หรือเดินทางมาร้องเรียนด้วยตนเองที่ศูนย์ ศรป. อย. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ หรือสายด่วน กสทช. 1200


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
New product ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแบรนด์ชาร์มาร์
ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม “โนวี่ บร็อคโคลี่ (Novy broccoli)” ทางเลือกใหม่ของการดูแลรูปร่าง


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว