สปส.เผยผู้ประกันตน ม.39 เชื่อมั่นจ่ายเงินสมทบโดยหักบัญชีธนาคารมากสุด

15 ก.พ. 2561 | 07:58 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ประกันสังคม เผยผู้ประกันตนมาตรา 39 เชื่อมั่นในระบบจ่ายเงินสมทบผ่านธนาคาร แจงธ.ค.60 มีผู้ประกันตนมาตรา 39 จ่ายเงินสมทบโดยวิธีการหักบัญชีเงินฝากธนาคาร จำนวน 649,394 คน คิดเป็นร้อยละ 50.82 เลขาธิการ สปส. เผย มุ่งมั่นเตรียมเพิ่มช่องทางความสะดวกให้ผู้ประกันตนหันมาสนใจ “อย่าขาดเงินสมทบเกิน 3 เดือน” เพื่อสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสังคม

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงตัวเลขการส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 39 ตามฐานทะเบียนงวดเดือนธันวาคม 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,365,106 คน ในจำนวนนี้มีผู้ประกันตนมาตรา 39 ส่งเงินสมทบงวดเดือนธันวาคม 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,277,743 คน คิดเป็นร้อยละ 93.60 อย่างไรก็ดี สำนักงานประกันสังคมได้อำนวยความสะดวกในการชำระเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 39 ซึ่งมีกำหนดชำระเงินสมทบภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน อยู่หลากหลายช่องทางหลายวิธีด้วยกัน

โดยตัวเลขผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่จ่ายเงินสมทบที่กล่าวมาข้างต้นเลือกที่จะใช้วิธีการจ่ายเงินสมทบมากที่สุดอันดับที่ 1 คือ การหักบัญชีเงินฝากธนาคาร จำนวน 649,394 คน คิดเป็นร้อยละ 50.82 รองลงมาอันดับ 2 การจ่ายเงินสมทบผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส (ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น) จำนวน 376,714 คน คิดเป็นร้อยละ 29.48 อันดับที่ 3 การจ่ายเงินผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร จำนวน 189,941 คน คิดเป็นร้อยละ 14.87

suradej

อันดับที่ 4 การจ่ายเงินสมทบที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 12 แห่ง/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ จำนวน 53,590 คน คิดเป็นร้อยละ 4.19 อันดับที่ 5 การจ่ายโดยวิธีส่งทางไปรษณีย์ จำนวน 6,274 คน คิดเป็นร้อยละ 0.94 และอันดับที่ 6 การจ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซ็นเพย์ (เซ็นทรัล) จำนวน 1,808 คน คิดเป็นร้อยละ 0.14

เลขาธิการสปส. กล่าวต่อว่า การที่ผู้ประกันตนเลือกวิธีจ่ายเงินสมทบ โดยวิธีหักบัญชีเงินฝากธนาคารแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในระบบการจ่ายเงินสมทบ ที่สำนักงานประกันสังคมพร้อมให้ผู้ประกันตนอีกช่องทางหนึ่ง ที่จะอำนวยความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาติดต่อกับสำนักงานประกันสังคม โดยร่วมกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย ธนาคารธนชาต ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารทหารไทย และธนาคารกรุงเทพ

ทั้งนี้ มีขั้นตอนง่าย ๆ เพียงผู้ประกันตนยื่นหนังสือยินยอม การหักบัญชีเงินฝากธนาคารที่เปิดบัญชีไว้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ธนาคารจะรับรองลายมือชื่อในหนังสือยินยอมฯ และให้ผู้ประกันตนนำสำเนาหนังสือยินยอมฯ ที่เจ้าหน้าที่ธนาคารได้รับรองลายมือชื่อแล้ว พร้อมแบบคำขอส่งเงินสมทบและสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของผู้ประกันตน พร้อมแนบคำขอส่งเงินสมทบและสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของผู้ประกันตน และเป็นบัญชีประเภทที่สามารถ ทำธุรกรรมหักบัญชีได้ มายื่น ณ สำนักงานประกันสังคมที่ผู้ประกันตนขึ้นทะเบียนไว้ก่อนวันที่ 15 ของทุกเดือน

Ad_Online-03

ผู้ประกันตนนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารให้เพียงพอ ที่ธนาคารจะหักเป็นจำนวนเงินสมทบที่ต้องนำส่ง 1 งวดเดือน พร้อมค่าธรรมเนียมธนาคาร รายการละ 10 บาท โดยทุกวันที่ 15 ของเดือน ธนาคารจะทำการหักบัญชีเงินฝากของผู้ประกันตน หากเดือนใดวันที่ 15 ตรงกับวันหยุดธนาคารจะเลื่อนไปหักบัญชีวันทำการถัดไป ในส่วนของการออกใบเสร็จรับเงินนั้น ธนาคารจะส่งให้ผู้ประกันตนทางไปรษณีย์ ทั้งนี้ หากใบเสร็จรับเงินไม่ถึงผู้ประกันตน ผู้ประกันตนสามารถติดต่อขอรับใบเสร็จรับเงินหรือใบรายการชำระเงินสมทบ ได้ที่สำนักงานประกันสังคม ทั่วประเทศ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น สำนักงานประกันสังคมยังคงมุ่งมั่นอย่างไม่หยุดนิ่งเพื่อพัฒนาทุกช่องทางการให้บริการรับชำระเงินสมทบผู้ประกันตนตามมาตรา 39

อีกทั้งเตือนถึงผู้ประกันตนมาตรา 39 หันมาสนใจในสิทธิประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ในระบบประกันสังคม “อย่าขาดส่งเงินสมทบเกิน 3 เดือน” ฉะนั้นสิทธิของผู้ประกันตนจะสิ้นสภาพโดยปริยาย หากผู้ประกันตนมีปัญหาข้อสงสัยติดต่อสอบถาม รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ ที่ท่านสะดวก หรือโทร 1506

e-book