เคาะไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฯ คลังลั่นขายไตรมาสแรก

11 ม.ค. 2561 | 06:17 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

คลังเดินหน้าออกกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ หลังศาลปกครองไม่รับคำร้องสหภาพ คาดยื่นไฟลิ่งภายในเดือนนี้ จากนั้นเข็นออกขายทันทีภายในไตรมาสแรก

หลังจากที่ศาลปกครองมีคำสั่งไม่รับคำร้องของสหภาพ แรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่ยื่นฟ้องศาลให้กระทรวงการคลังยุติการดำเนินการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์) หรือ TFF วงเงิน 4.4 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้กระทรวงการคลังสามารถเดินหน้าในเรื่องนี้ได้ต่อไป โดยไม่ต้องห่วงว่าจะมีปัญหาในภายหลังอีกต่อไป

[caption id="attachment_143042" align="aligncenter" width="503"] เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ[/caption]

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การจัดตั้งกองทุนไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ฟันด์(TFF)มีความชัดเจนขึ้น หลังจากศาลปกครองไม่รับคำร้องของสหภาพฯ ซึ่งขั้นตอนจากนี้ ก็จะมีการเดินหน้าโครงการต่อไป โดยสำนักงานอัยการฯอยู่ระหว่างตรวจสอบร่างสัญญาโอนและรับสิทธิโอนในรายได้ (RTA) คาดว่าจะเสร็จภายในเดือนมกราคมนี้

ทั้งนี้สัญญาที่อัยการอยู่ระหว่างตรวจนั้นเป็นร่างสัญญาโอนและรับสิทธิโอนในรายได้ของโครงการทางพิเศษฉลองรัฐ(รามอินทรา-อาจณรงค์) และทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) เพื่อโอนรายได้ในอนาคตที่ 45% ให้กับกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์เป็นเวลา 30 ปี เพื่อใช้จ่ายผลตอบแทนให้กับนักลงทุน หากเสร็จแล้วจะสามารถยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสนอขายหุ้น (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลัก ทรัพย์ (ก.ล.ต.)ได้ภายในไตรมาสแรกปีนี้

M24-3329-1D “หลังจากยื่นไฟลิ่งแล้วจากนั้นก็จะมีการสำรวจความคิดเห็น (Book building)จากนักลงทุน ซึ่งขณะนี้ความต้องการมีเยอะมากทั้งที่เป็นนักลงทุนในและต่างประเทศ ซึ่งยังไม่ได้กำหนดสัดส่วนว่าจะเป็นเท่าไหร่ แต่คาดว่าไม่เกินไตรมาสแรกปีนี้ก็น่าจะออกขายได้”นายเอกนิติ กล่าว

สำหรับเงินที่ระดมทุนได้ จะนำไปให้กทพ.ใช้ในการก่อสร้างโครงการทางพิเศษพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพ มหานครด้านตะวันตก วงเงินลงทุน 3.04 หมื่นล้านบาท และโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 และ E-Wcorridor ด้านตะวันออก วงเงินลงทุน 1.43 หมื่นล้านบาท ที่จะเซ็นสัญญาก่อสร้างได้ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2561 เมื่อรวม 2 โครงการคิดเป็นมูลค่าราว 4.4 หมื่นล้านบาท

นายเอกนิติ กล่าวต่อว่า การลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นความจำเป็นของประเทศ เพราะประเทศต้องลงทุนอีกมหาศาล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และมีงบประมาณจำกัด ขณะเดียวกันผู้สูงอายุของไทยจะมากขึ้น อีก 8 ปีสัดส่วนประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี จะมีสัดส่วนถึง 20% ของประชากรทั้งหมด ทำให้ค่ารักษาพยาบาลจะกินเงินงบประมาณไปมาก ถ้าไม่ทำอะไรจะลำบากมากขึ้น เพราะการใช้งบประมาณจะมีข้อจำกัด ทั้งสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณและภาระหนี้สาธารณะจะมีข้อกำหนดตามกฎหมายทั้งสิ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,329 วันที่ 7 - 10 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9