‘ไพร์ม’เปิดแผนระดมทุน แต่งตัวเข้าตลาดฯ เป้า2ปีทะลุหมื่นล้าน

05 พ.ย. 2560 | 10:54 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

เมื่อเร็วๆนี้ ผู้บริหารบริษัท เดอะ สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ “THE” ออกมาประกาศว่า อยู่ระหว่างเตรียมพร้อมนำบริษัท ไพร์ม สตีล มิลล์ จำกัด หรือ “ไพร์ม” (ถือหุ้นโดย THE สัดส่วน 50% บมจ.เอเซีย เมทัล 30% และถือหุ้นโดยบุคคล 20%) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และอยู่ในขั้นตอนการเลือกที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) คาดว่าน่าจะมีการเซ็นสัญญาแต่งตั้ง FA ได้ไม่เกินเดือนมกราคมปีหน้า

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้รับการเปิดเผยจาก วินท์ สุธีรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพร์ม สตีล มิลล์ จำกัด ถึงแผน
ขับเคลื่อนธุรกิจและมุมมองแนวโน้มราคาเหล็กที่มีโอกาสไต่ระดับสูงขึ้น หลังผู้ผลิตเหล็ก จีนประกาศลดกำลังผลิต
เหล็กภายในประเทศลงนับร้อยตัน

[caption id="attachment_227130" align="aligncenter" width="335"] วินท์ สุธีรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพร์ม สตีล มิลล์ จำกัด วินท์ สุธีรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพร์ม สตีล มิลล์ จำกัด[/caption]

**เปิด5แผนขับเคลื่อนธุรกิจ
วินท์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้หารือกับที่ปรึกษาทางการเงิน 2-3 ราย ต่างให้คำแนะนำถึงแผนระดมทุนโดยขายไอพีโอว่า น่าจะใช้ทุนมากกว่า 2,000 ล้านบาท เบื้องต้นเงินทุนดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 5 ส่วนหลัก ที่จะเป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนธุรกิจ ประกอบด้วย 1. พัฒนาที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง 56 ไร่ มูลค่าราว 300 ล้านบาท สำหรับสร้างโกดังเก็บสินค้าขนาด 20,000 ตารางเมตร เพื่อเป็นที่สต๊อกสินค้าเหล็กให้เย็นตัวเพื่อรอการขนส่ง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้พื้นที่โรงงานเดิม เป็นการขยายโกดัง หลังจากที่เดิมใช้พื้นที่เต็มที่แล้ว และโกดังแห่งใหม่จะเสร็จภายในไตรมาส 1 หรือ 2 ปี 2561 นี้ ก็จะทำให้กำลังผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนหน้าแคบที่ผลิตได้ 70-80% จากจำนวน 6 แสนตันต่อปีจะผลิตได้เต็มเพดาน

2. ศึกษาการผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กตัวใหม่ โดยใช้วัตถุดิบเหล็กแผ่นรีดร้อน แผ่นหนาเกิน 2 มิลลิเมตร จะทำให้กำลังผลิตเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ ขีดความสามารถในการผลิตจะขยับจาก 6 แสนตันเป็น 1 ล้านตันต่อปีภายในปี 2562
3. ศึกษาผลิตโครงสร้างเหล็ก ที่เวลานี้ตลาดมีการขยายตัวมากขึ้น ในขณะที่ค่าแรงงานก็สูงขึ้นค่อนข้างเร็ว ดังนั้นเหล็กโครงสร้าง สำหรับใช้ในงานก่อสร้างจะช่วยลดการใช้คนที่หน้างานก่อสร้าง และคนจะใช้วิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญในโรงงานเหล็กมากกว่าที่หน้างานจะช่วยประหยัดต้นทุนการจ้างงาน ช่วยเพิ่มคุณภาพงานและโครงสร้างเหล็ก กำลังจะขยายตัวในงานโครงสร้างภาครัฐมากขึ้นในขณะนี้

TP08-3311-2a 4. มีแผนนำเหล็กมาเคลือบกันสนิมโดยกรรมวิธีต่างๆเพื่อลดขั้นตอนที่หน้างานที่ต้องทาสีกันสนิม ทำให้มีต้นทุนสูง ดังนั้นตามแผนจะเคลือบกันสนิมให้กับลูกค้าจากโรงงาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาว่าจะเคลือบกันสนิมโดยวิธีไหน เคลือบสี หรือเคลือบอัลลอย ซึ่งการนำเอาโลหะหลายๆอย่างมาผสมรวมกัน จะต้องศึกษาให้ดี เนื่องจากเทคโนโลยีการเคลือบค่อนข้างทันสมัยมากขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน

5. อยู่ระหว่างศึกษาหาพันธมิตรร่วมทุน อาจจะเกิดขึ้นในรูปพันธมิตรทางการค้า ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับทุนไทยและทุนต่างประเทศที่สนใจ เนื่องจากมองว่าอุตสาหกรรมเหล็กอยู่โดดเดี่ยวไม่ได้ ต้อง
ร่วมมือกันถึงจะรอด เหมือนธุรกิจเหล็กในอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ที่กลุ่มเหล็กจะเหลืออยู่ไม่กี่ซัพพลายเชน ควบรวมกันจนเหลือผู้ผลิตน้อยราย ซึ่งผู้ผลิตเหล็กในประเทศไทยก็จะต้องร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อสร้างความแข็งแกร่งต่อไป

TP08-3311-3a **ปี 62 ยอดขายทะลุหมื่นล.
ทางด้านการตลาดปัจจุบันบริษัทมีฐานลูกค้าทั่วประเทศจะเป็นบริษัทเหล็กที่นำเหล็กแผ่นรีดร้อนหน้าแคบไปผลิตท่อตัวซี ท่อกลม และกลุ่มนั่งร้าน ชั้นวางของ แต่อนาคตฐานลูกค้าจะไปสู่กลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างมากขึ้น จากที่บริษัทขายเหล็กโครงสร้าง เหล็กเคลือบ โดยไพร์ม ตั้งเป้าว่าอีกไม่เกิน 2 ปีนับจากนี้ไป หรือภายในปี 2562 จะมีรายได้เติบโตเกิน 10,000 ล้านบาท เปรียบเทียบกับยอดขายเมื่อปี 2559 อยู่ที่ 3,000 ล้านบาทต่อปี และคาดว่าปี 2560 ยอดขายจะเพิ่มขึ้นเท่าตัว หรือ 5,000-6,000 ล้านบาท

**ราคาเหล็กจะเสถียรขึ้น
ซีอีโอ ไพร์ม สตีล มองว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กในขณะนี้จะเริ่มเห็นการลดลงของปริมาณเหล็กที่ผลิตจากจีน ภายหลังจากที่จีนประกาศลดกำลังผลิตเหล็กสูงถึง 100 ล้านตัน ในจีนจะเหลือโรงเหล็กรายใหญ่
ที่ไม่ต้องการให้ราคาเหล็กผันผวนมาก นับจากนี้ไปสิ่งที่จะเห็น ประการแรก จะทำให้ราคาเหล็กมีเสถียรภาพมากขึ้น ราคาเหล็กจะไม่แกว่งขึ้น-ลงเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดเมื่อ 3 เดือนก่อนราคาเหล็กเริ่มปรับตัวสูงขึ้นมาแล้ว ตั้งแต่ 30-40% หลังได้รับอานิสงส์จากจีนปิดโรงงาน

ประการที่ 2 กลุ่มเจ้าของโครงการหรือบริษัท อสังหาริมทรัพย์ในประเทศต้องการใช้เหล็ก
โครงสร้างมากขึ้น เนื่องจากก่อสร้างงานได้รวดเร็วและคุมเวลาก่อสร้างได้ โดยต่อไปหลายโครงการจะหันมาใช้เหล็กโครงสร้างมากขึ้น และช่วยลดการใช้แรงงาน สามารถลดเวลาก่อสร้างได้ 6 เดือนถึง 1 ปี ทำให้ต้นทุนโดยรวมไม่มีการเปลี่ยนแปลงและได้งานออกมารวดเร็วขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น โดยสรุปภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กนับจากนี้ไป
น่าจะสดใสขึ้น!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,311 วันที่ 5 - 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว