ไขปม‘ซีทีเอช’(จบ) เบื้องหลังล้มไม่เป็นท่า

08 ต.ค. 2560 | 03:06 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ฉบับก่อนทิ้งท้ายไว้เรื่องของ “CTH” ว่าต้องสูญเสียทั้ง “โอกาส” และ “รายได้”

เรื่องของรายได้ คงไม่ต้องสงสัย แต่ “โอกาส” ที่ว่าคืออะไรเพราะเมื่อ“อ้อยเข้าปากช้าง” มีหรือจะปล่อยให้หลุดมือไปได้ง่ายๆ

แท้จริงแล้ว “เมมเบอร์” ที่เข้ามาล้วนผูกขาดเป็นรายปี บางรายก็ 2 ปี 3 ปี ซีทีเอชมีเงินกำอยู่ในมือแน่ๆ เหตุผลเดียวที่ทำให้คนยอมควักเงิน แห่มาสมัครเป็นเมมเบอร์ก็มาจาก “พรีเมียร์ลีกอังกฤษ” นี่แหละ สมกับเป็นคิง ออฟ คอนเทนต์

++ก้าวที่พลาด
งานนี้ “ซีทีเอช” ควักเงินก้อนโตกว่า 7,000 ล้านบาท สั่งนำเข้ากล่องรับสัญญาณล็อตใหญ่จากจีนกว่า 2.5 ล้านกล่อง เพื่อเตรียมขายให้กับเมมเบอร์เต็มที่ และยิ่งมีพาร์ตเนอร์ที่เป็นผู้ประกอบการเคเบิลทีวีทั่วประเทศ คำนวณเบ็ดเสร็จก็กุมบรรดาคอบอลไว้มากโข ซึ่งหากคิดจะรับชมพรีเมียร์ลีกก็ต้องยอมจ่ายเงินซื้อกล่องรับสัญญาณกันแบบยาวๆ

แต่ “โอกาส” ก็หลุดลอยไป เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาการติดตั้ง ที่ไม่ทันใจว่ากันว่า ลูกค้าที่จ่ายเงินจองไปวันนี้ กว่าจะติดตั้งจานได้ต้องรอกันนานเป็นเดือน บางรายฟุตบอลเริ่มคิกออฟไปแล้วก็ยังไม่ได้ดู ยังไม่รวมถึงปัญหาเรื่องของโครงข่ายเน็ตเวิร์ก การอัพเกรดเน็ตเวิร์ก รวมไปถึงปัญหาฟ้าฝนที่ไม่เป็นใจฯลฯ เรียกได้ว่าถูกรุมเร้าทั้งปัจจัยภายใน ภายนอก

“ขายแพ็กเกจได้ 6,000 รายต่อวัน แต่ติดตั้งได้จริงแค่ครึ่งเดียว ยอดขายที่เคยตั้งเป้า 1 แสนรายต่อเดือนก็หายไปกว่าครึ่ง แม้จะแก้ไขทุกรูปแบบ สรรหา จ้างทีมเฉพาะกิจมาดำเนินการก็ไม่สามารถติดตั้งได้ทัน”

3 เดือนแรกจึงมีสมาชิกแค่ 5 แสนราย ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากเมมเบอร์เคเบิลทีวีเดิม และยังมีอีกกว่า 8 แสนรายที่รอคิวติดตั้ง เรียกได้ว่า “หมูหลุดออกจากอวย” แบบเห็นๆ

++กลายเป็นเสือลำบาก
จากเสือติดปีก กลายเป็นเสือลำบาก

จากพันธมิตรเคเบิลท้องถิ่นคงไม่พอ ชั่วโมงนี้ “CTH” จึงเดินหน้าเจรจาหาพาร์ตเนอร์ โดยอาศัยแพลตฟอร์มที่มี และคิง ออฟ คอนเทนต์

ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการสัญญาณดาวเทียมรายใหญ่อย่าง “พีเอสไอ” หรือกลุ่มไอพีทีวี หรือจะเป็น GMMB (ซึ่งซีทีเอชเข้าซื้อกิจการถือหุ้น100%)รวมไปถึงค่ายอาร์เอส ที่ผนึกกันทำกล่อง “ซันบ็อกซ์ลาลีกาสตาร์” ออกขาย

งานนี้แน่นอนว่า “ซีทีเอช” ได้ทั้งตัวช่วยที่จะเพิ่มฐานผู้ชม การติดตั้ง รวมไปถึงเม็ดเงินรายได้ แต่ถามว่า บรรลุเป้าประสงค์ไว้หรือไม่ ตอบเลยว่า “ไม่”

เพราะเม็ดเงินที่เข้ามาก็ยังไม่ตอบโจทย์ และยังไม่สามารถบรรเทาเงินลงทุนที่ต้องจ่ายไป จากเป้าหมายเดิมที่จะคุ้มทุนใน 2 ปี และโกยกำไรในอีก 3 ปีที่เหลืออยู่

นอกจากกลุ่มผู้คลั่งไคล้ฟุตบอลแล้ว ซีทีเอชจึงเริ่มมองหากลุ่มผู้ชมใหม่ แต่สิ่งเหล่านั้นก็ไม่ง่ายดังคิด เพราะทุกครั้งที่ขยับตัว นั่นหมายถึงเม็ดเงินที่ควักใส่ลงไป

คอนเทนต์ซีรีส์ดังทั้งไทย/เทศ ทยอยนำมาเป็นไฮไลต์ แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์

MP34-3301-A ++สู่กระบวนการล้มละลาย
เมื่อบรรลุผลตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ซีทีเอชจึงทยอยยกเลิกการส่งสัญญาณให้กับพาร์ตเนอร์ต่างๆ แม้จะยังไม่หมดสัญญา

จาก “พันธมิตร” จึงกลายมาเป็น “โจทย์”

จาก “รายได้” ก็กลายมาเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องควักชดเชยให้กับสมาชิก

จาก “สมาชิก” ก็กลายมาเป็นผู้ร้องเรียน

ความเดือดร้อนแผ่กระจาย กลายเป็นข้อพิพาท ถึงกับเรียกร้องให้มีการนำเสนอแผนเยียวยา ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกับพาร์ตเนอร์ สมาชิก แต่ยังรวมไปถึงพนักงานที่ถูกจ้างออกในเวลาต่อมา หลังจากที่ซีทีเอช ประกาศยุติการให้บริการส่งสัญญาณ

พร้อมกับตัวเลขค่าใช้จ่าย และหนี้สินสะสมทั้งบมจ.ซีทีเอช และบริษัทในเครืออีกกว่า 10 บริษัทรวมเบ็ดเสร็จกว่า 2 หมื่นล้านบาท

คำถามจึงย้อนกลับมาที่ “วิชัยทองแตง” ว่าจะแก้มันนี่เกมครั้งนี้อย่างไร

“คุณวิชัย กำลังพิจารณาถึงแผนปรับโครงสร้างธุรกิจ พร้อมแผนเยียวยา ซึ่งต้องมีความเหมาะสมและเป็นไปได้ เพราะวันนี้ซีทีเอชเองก็มีปัญหาด้านการเงิน การจะมารีดเลือดกับปูก็คงเป็นการยาก” ผู้ใกล้ชิดนายวิชัย เล่าให้ฟังหลังเกิดวิกฤติอย่างหนักในช่วงเวลานั้น

การยื่นต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอฟื้นฟูกิจการจากหนี้สินกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท จึงเกิดขึ้นในวันที่ 20 ตุลาคม 2559 แต่ที่สุดแล้วศาลมีคำพิพากษาไม่รับแผนฟื้นฟู ที่ซีทีเอชจะขอเปลี่ยนไปทำธุรกิจไฟฟ้าชีวมวล เส้นทางของซีทีเอช จึงก้าวเข้าสู่กระบวนการล้มละลายในกลางปี 2560

“ซีทีเอช”กลายเป็นบทเรียนสำคัญ บ่งชี้ว่าการก้าวสู่สนามธุรกิจโดยมี“เงิน”เป็นตัวตั้ง ผลลัพธ์อาจไม่ใช่“ความสำเร็จ” เสมอไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,302 วันที่ 5 - 7 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว