“ไทยคม 7-8” เมินเข้าสัมปทาน ชี้! “ดาวเทียมดวงใหม่” ทำตามเงื่อนไข พ.ร.บ.กสทช.

22 ก.ย. 2560 | 09:01 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

“ไทยคม” ยื่น 2 ข้อเสนอ ไปยังกระทรวงดีอี หาทางออกปมปัญหาข้อพิพาท ยืนยัน ไม่นำ “ดาวเทียม 7-8” เข้าสู่ระบบสัมปทาน เปิดใจที่ผ่านมา ทำถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมยื่นข้อเสนอยอมจ่ายค่าเช่าใช้วงจรเพิ่ม ขณะที่ “ดาวเทียม ดวงที่ 4-5-6” ขอบริหารจัดการหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ปี 2564 พร้อมรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด แจงหากสร้างดาวเทียมแห่งชาติในตำแหน่งวงโคจร 119.5 องศาตะวันออก ต้องให้บริษัทร่วมด้วย

นายสุพจน์ ชินวีระพันธุ์ รักษาการหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกลยุทธ์องค์กร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ “ไทยคม” ได้เข้าประชุมและหารือร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี เพื่อหาข้อสรุปเรื่อง “ดาวเทียม ดวงที่ 7-8” ต้องเข้าระบบสัมปทานตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งบริษัทได้ยื่นข้อเสนอด้วยกัน 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ จุดยืนสำหรับ “ดาวเทียม ดวงที่ 7-8” โดยบริษัทเชื่อว่า ไม่อยู่ภายใต้ระบบสัมปทาน เนื่องจากดาวเทียม 1 ดวง มีเพียงกฎระเบียบเดียวเท่านั้น เพราะที่ผ่านมา กระทรวงและ กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) รับทราบข้อมูลมาโดยตลอด ดังนั้น เมื่อ กสทช. จัดตั้งขึ้นมา ผู้ประกอบการต้องไปขอใบอนุญาตและจ่ายค่าธรรมเนียม และข้อเสนอในครั้งนี้ บริษัทได้ยื่นไปแล้วถึง 4 ครั้ง

[caption id="attachment_211439" align="aligncenter" width="451"] สุพจน์ ชินวีระพันธุ์ สุพจน์ ชินวีระพันธุ์[/caption]

อย่างไรก็ตาม ถ้ายอมให้ “ดาวเทียม 7-8” เข้ากลับไปอยู่ภายใต้ระบบสัมปทาน มีผลกระทบต่อบริษัท เนื่องจากดาวเทียมทั้ง 2 ดวงนั้น อยู่ในระบบใบอนุญาต ซึ่งบริษัทได้ทำตามข้อกฎหมาย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 2553 (พ.ร.บ.กสทช. 2553) ที่ออกมาทดแทนกฎหมายเก่า และได้ทำตามระบบสัมปทานทั้งหมดแล้ว

“สมมติ ซีอีโอ (นายไพบูลย์ ภานุวัฒน์วงศ์) ยอมให้เข้าสัมปทาน แต่ผู้ถือหุ้นไม่ยอม เพราะเหตุการณ์นี้เกิดตั้งแต่ ‘ไทยคม’ ได้ยื่นขอใบอนุญาตเมื่อปี 2555 ยิงดาวเทียมเมื่อปี 2557 แต่ 3 ปีผ่านไป กระทรวงกลับมาบอกในวันนี้ให้ดาวเทียมทั้ง 2 เข้าระบบสัมปทาน และถ้าอีก 2 ปีผ่านไป รัฐบาลใหม่มา แล้วบอกว่า ไม่ใช่ ใครรับผิดชอบความเสียหาย เพราะธุรกิจดาวเทียมจุดคุ้มทุนต้องใช้เวลาถึง 10 ปี เราอยากให้ทุกอย่างตัดสินบนข้อเท็จจริง”

นอกจากนี้ บริษัทได้ยื่นข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทนสำหรับ “ดาวเทียม 7 และ 8” โดยจะจ่ายเป็นค่าเช่าใช้วงโคจรเพิ่มเติมให้กับกระทรวงดีอี แต่อาจจะไม่ถึง 22% ตามระบบสัมปทานเดิม และเสนอให้ความจุส่วนหนึ่งกับรัฐบาล ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบทั้งอุตสาหกรรมดาวเทียมทั้งหมด บริษัทเชื่อว่า ข้อเสนอที่ยื่นเข้าไปนั้นค่อนข้างดี เพราะธุรกิจดาวเทียม เมื่อยิงดาวเทียมขึ้นวงโคจร ต้องให้บริการทั้งภูมิภาคธุรกิจถึงจะอยู่รอด

“วันนี้ต่างชาติเข้ามาช่องสัญญาณในประเทศไทย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ขณะที่ผู้ประกอบการไทยต้องจ่ายค่าธรรมเนียมถึง 5% แพงกว่าคู่แข่ง เราอยู่ในสภาพที่ว่า ของที่อยู่จ่ายแพง”

สำหรับข้อเสนอ ข้อที่ 2 คือ ขอเป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์สินทั้งหมดในดาวเทียม ดวงที่ 4-5 และ 6 ทั้งค่าใช้จ่ายในการดูแลทรัพย์สิน สถานีดาวเทียมแคราย จ.นนทบุรี หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2564


MP20-3299-A

“ข้อเสนอทั้งหมด ‘ไทยคม’ อยากให้มีความชัดเจนภายในสิ้นปี 2560 เพราะมีผลกระทบต่อ ‘ไทยคม 9’ ที่ตำแหน่งวงโคจร 119.5 องศาตะวันออก เพื่อวางแผนการสร้างดาวเทียมรองรับลูกค้า ‘ไทยคม 4’ ที่กำลังจะหมดสัญญาสัมปทานลงภายในอีก 4 ปีข้างหน้า”

นายสุพจน์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หลังการเข้าหารือเจรจา แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ทั้ง 2 ฝ่าย มีข้อตกลงกันว่า จะตั้งคณะกรรมการร่วมกัน ทั้งกระทรวง-ไทยคม และ กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องในการจัดสรรใบอนุญาต และแนวโน้มในอนาคต กสทช. มีหน้าที่ในการจองตำแหน่งดาวเทียมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หากการเจรจาไม่สามารถสรุปได้ภายในสิ้นปีนี้ บริษัทมีแผนสำรองไว้เช่นกัน ซึ่งจะต้องดูโอกาสทางธุรกิจ โดยอาจจะไปทำธุรกิจดาวเทียมกับต่างประเทศ รวมถึงการหารายได้ต่อยอด นอกจากการให้บริการดาวเทียม เช่น บริการบรอดแคสติ้งและบริการบรอดแบนด์

ขณะที่ “ดาวเทียมแห่งชาติ” ที่กระทรวงมีแผนจะให้ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท เป็นผู้บริหารจัดการในตำแหน่งวงโคจร 119.5 องศาตะวันออก ซึ่งเป็นตำแหน่งของดาวเทียม “ไทยคม 9” ซึ่งถ้าใช้ตำแหน่งวงโคจรดังกล่าว ต้องให้ “ไทยคม” ร่วมมือด้วย เพราะมีข้อตกลงด้านข้อกฎหมาย

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,299 วันที่ 24-27 ก.ย. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1