วงเงินค้ำประกัน บสย. 8.1 หมื่นล้าน เริ่มปล่อย 11 ส.ค.นี้

10 ส.ค. 2560 | 11:15 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

 

รมว.อุตฯเผยความคืบหน้าวงเงินค้ำประกัน บสย. 8.1 หมื่นล้านเริ่มปล่อย 11 สิงหาคมนี้  คาดเอสเอ็มอีได้สินเชื่อเพิ่ม 2.7 หมื่นราย  เกิดสินเชื่อในสถาบันการเงิน 1.36 แสนล้านบาท  พร้อมมีการจ้างงานเพิ่ม 1.08 แสนคน  เชื่อสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ 3.71 แสนล้านบาท

[caption id="attachment_192877" align="aligncenter" width="503"] นายอุตตม  สวนายน นายอุตตม สวนายน[/caption]

นายอุตตม  สวนายน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้หารือร่วมกับหน่วยงานเศรษฐกิจพร้อมด้วยสถาบันการเงิน อาทิ  สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธนาคารรัฐและเอกชน  เพื่อร่วมมือกันสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินได้อย่างรวดเร็วและจำนวนที่มากขึ้น  โดยได้มีมาตรการใหม่  ได้แก่ การค้ำประกันสินเชื่อของ บสย.ในวงเงินค้ำประกัน 81,000 ล้านบาท ที่จะรับผิดชอบภาระให้ผู้ประกอบการสูงสุดถึง 30% และพร้อมเปิดอนุมัติให้ความช่วยเหลือในวันที่ 11 สิงหาคม 2560

ทั้งนี้  รัฐบาลจะรับภาระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันแทนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใน 4 ปีแรก ด้วยอัตราร้อยละ 1.75 ร้อยละ 1.25 ร้อยละ 0.75 และร้อยละ 0.25 ตามลำดับ และให้สถาบันการเงินร่วมชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกันในปีที่ 2 ถึง 4 ในส่วนที่เหลือ เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่มีภาระการจ่ายค่าธรรมเนียมใน 4 ปีแรก พร้อมทั้งเพิ่มความรับผิดชอบการจ่ายค่าประกันชดเชยจากเดิมที่สูงสุดไม่เกินร้อยละ 23.75 เป็นสูงสุดไม่เกินร้อยละ 30 ของภาระค้ำประกันเฉลี่ย ณ วันสิ้นอายุการค้ำประกัน และอนุมัติงบประมาณชดเชยเพิ่มเติมไม่เกิน 8,302.50 ล้านบาท

“จากมาตรการดังกล่านี้คาดว่าจะช่วยให้เอสเอ็มอีได้รับสินเชื่อเพิ่มประมาณ 27,000 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในสถาบันการเงินประมาณ 136,000 ล้านบาท หรือ 1.68 เท่า เกิดการจ้างงานเพิ่มประมาณ 108,000 คน หรือ 4 คน/ราย พร้อมทั้งสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อีก 371,000 ล้านบาท”

อย่างไรก็ดี  ยังมีสินเชื่อเอสเอ็มอีด้านอุตสาหกรรม  ธุรกิจ  และบริการที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยว  เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและธุรกิจแฟรนไชส์ พร้อมทั้งยกระดับผู้ประกอบการในชุมชน ในการปรับปรุงการดำเนินงานและเสริมสภาพคล่องในการต่อยอดกิจการ ด้วยการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ในวงเงินสินเชื่อ 7,500 ล้านบาท สำหรับบุคคลธรรมดาวงเงินสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท นิติบุคคลวงเงินสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 15 ล้านบาท ในระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 7 ปี สำหรับวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาทแรก ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน สามารถใช้ บสย.ช่วยค้ำประกันได้ ตลอดจนรองรับโครงการสินเชื่อ Factoring ที่ให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ทางการค้าต่างๆ ทั้งนี้การพิจารณาสินเชื่อจะครอบคลุมการให้สินเชื่อทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ ที่จะสนับสนุนให้เกิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งระบบ โดยถือเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนนโยบาย Local Economy ของรัฐบาลในจังหวัดต่างๆ ตลอดจนการยกระดับเป็นชุมชนและสินค้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 4.0

IMG_2738

สำหรับความคืบหน้ามาตรการทางการเงินภายใต้กองทุนประชารัฐ 38,000 ล้านบาท ที่รวมแล้วขณะนี้มีผู้ประกอบการให้ความสนใจในการขออนุมัติวงเงินกว่า 18,777 ราย ได้รับการอนุมัติแล้วทั้งสิ้นกว่า 3,413 ราย ประกอบด้วย กองทุนพลิกฟื้นกิจการวิสาหกิจขนาดย่อม วงเงิน 1,000 ล้านบาท ที่ให้เอสเอ็มอีกู้ยืมไปใช้ในการพลิกฟื้นกิจการรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้ว 329 ราย เป็นวงเงิน 284 ล้านบาท กองทุนฟื้นฟูกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมวงเงิน 2,000 ล้านบาท  โดย สสว. ที่ให้เงินอุดหนุนร่วมลงทุนแก่เอสเอ็มอีรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท  ได้รับการอนุมัติเงินอุดหนุนแล้ว 589 ราย เป็นวงเงิน 293.19 ล้านบาท  ซึ่งทั้ง 2 กองทุนวงเงินรวม 3,000 ล้านบาทนี้ของ สสว. คาดว่าจะสามารถช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี  และรายย่อยได้อย่างน้อย 5,000 ราย ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างแท้จริง

นายอุตตม กล่าวต่อไปอีกว่า  ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการวงเงินสินเชื่อสูงขึ้น รัฐบาลยังมีโครงการและสินเชื่อจากกองทุนเพื่อสนับสนุนและเปิดโอกาสให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่นๆได้แก่ สินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงิน 15,000 ล้านบาท โดย SME Development Bank เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน ขยาย ปรับปรุงกิจการ อัตราดอกเบี้ย 3% ขณะนี้มีผู้ยื่นคำขอกู้รวมแล้ว 3,338 ราย เป็นวงเงิน 13,725.34 ล้านบาท ได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้ว 2,281 ราย เป็นวงเงิน 8,286 ล้านบาท

ขณะที่กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท  ซึ่งเป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนเติมเต็มให้ SMEs ที่มีศักยภาพในสาขาอุตสาหกรรมตามยุทธศาสตร์ที่แต่ละจังหวัดเป็นผู้กำหนด โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 9 สิงหาคม 2560 ได้มีผู้ยื่นคำขอกู้รวม 2,749 ราย เป็นวงเงิน 14,013 ล้านบาท ได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้ว 214 ราย เป็นวงเงิน 696.11 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่ามาตรการทางการเงินที่ภาครัฐสนับสนุนต่างๆ นั้น กระทรวงฯ และหน่วยงานได้พยายามดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกกลุ่มให้สามารถเข้าถึงบริการและแหล่งเงินทุนได้อย่างเต็มที่เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่นและครบวงจรอย่างมีนัยสำคัญ

ดร.อุตตม กล่าวต่ออีกว่า นอกเหนือจากมาตรการทางการเงิน กระทรวงฯ พร้อมด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ยังมีมาตรการการพัฒนาเอสเอ็มอี  เพื่อลดปัญหาด้านการบริหารจัดการทางการเงิน  โดยจากการหารือกับสมาคมธนาคารไทย ได้เสนอแนวทางในการยกระดับมาตรการในเรื่องการบริหารจัดการทางการเงินต่อเอสเอ็มอี อาทิ การปรับนิยามของเอสเอ็มอีแบ่งตามกลุ่มประเภทธุรกิจ  และยอดขายพร้อมทั้งจัดกลุ่มตลาดเพื่อให้ความรู้ด้านการเงินที่เหมาะสม  โดยยังมีการเสนอให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพิจารณาการภาพรวมการให้ความรู้และการสนับสนุนในการเพิ่มศักยภาพของเอสเอ็มอี  การจัดทำฐานข้อมูลและเก็บข้อมูลเพื่อการจัดการ  การสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการ   เพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านการบริหารการเงินจากธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในรูปแบบพี่ช่วยน้อง เป็นต้น

นายนิธิศ  มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า จากวงเงินค้ำประกัน 81,000 ล้านบาท  บสย. ได้มีการจัดสรรวงเงินดังกล่าวให้กับสถาบันการเงิน 18 แห่ง โดยสถาบันการเงินที่ได้รับวงเงินสูงสุด 5 แห่งจำนวนสถาบันการเงินละ 12,000 บาท ได้แก่ 1.ธนาคารกรุงเทพ  ,2.ธนาคารกรุงไทย  ,3.ธนาคารออมสิน  ,4.ธนาคารไทยพาณิชย์  และ5.ธนาคารกสิกรไทย  ขณะที่ ธพว. ได้รับการจัดสรรอยู่ที่ 7,500 ล้านบาท