TPIPP ยิ้มรับ EIA ผ่านพร้อมลงนาม PPA ขายไฟฟ้าเพิ่ม 90 MW กับ กฟผ.

27 ก.ค. 2560 | 10:48 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ หรือ TPIPP ผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งที่ใหญ่ที่สุดในไทยที่มุ่งเน้นความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รับข่าวดีโรงไฟฟ้าใหม่ 2โรง ผ่าน EIA แล้ว พร้อมดันกำลังการผลิตติดตั้งรวมเพิ่มเป็น 440 MW จากปัจจุบันอยู่ที่ 150 MW คาดโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะสามารถขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ได้ประมาณต้นเดือนตุลาคม 2560 เร็วกว่าแผนเดิมที่คาดไว้ ช่วยหนุนผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังทำนิวไฮ ตามปริมาณการขายไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

นายวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายโรงงาน ของ TPIPP เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะขนาด 70 MW (TG6) ได้ผ่านการอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงาน EIA) อย่างเป็นทางการจากหน่วยงานภาครัฐเป็นที่เรียบร้อย และคาดว่าจะลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 90 MW กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายในเดือนสิงหาคม 2560 โดยก่อนหน้านี้ โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินและพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 70 MW (TG 7) ได้ผ่านการอนุมัติรายงาน EIA แล้วเช่นกัน

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะขนาด 70 MW (TG 6) ที่จะนำไปรวมกับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งขนาด 30 MW (TG 4) ที่มีอยู่เดิม รวมเป็น 100 MW เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. โดยได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) อัตรา 3.50 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็นเวลา 7 ปี ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 90 MW คาดว่าจะเริ่มผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ (COD) ให้แก่ กฟผ. ได้ประมาณต้นเดือนตุลาคม 2560 ซึ่งจะทำให้สามารถขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะให้กับ กฟผ. ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า 3 ฉบับ (18 MW 55 MW และ 90 MW) รวม 163 MW เต็มตามแผน

ขณะที่ ในส่วนของโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการผลิตในปัจจุบัน ก็สามารถสร้าง New High ทั้งปริมาณการผลิตไฟฟ้าและรายได้ในไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ที่ผ่านมา อันเป็นผลจากการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรของโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมั่นว่าในไตรมาส 3 ก็จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ขึ้นไปอีก

ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินขนาด 150 MW (TG 8) และโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินและพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะขนาด 70 MW (TG 7) ที่จะผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ บมจ.ทีพีไอ โพลีน ซึ่งเป็นบริษัทแม่เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์นั้น คาดว่าจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าในไตรมาส 4 เช่นกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ตามปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นจากโรงไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบ และราคาค่าไฟฟ้าที่จะมีการปรับขึ้น FT งวดเดือน ก.ย.- ธ.ค.2560 อีก 8.87 สต./หน่วย ต่อไป

“หลังจากได้รับอนุมัติรายงาน EIA แล้ว เรามั่นใจว่าจะเริ่ม COD โรงไฟฟ้าใหม่ทั้ง 3 โรงได้ตามที่แจ้งไว้ เนื่องจากกระบวนการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรมีความคืบหน้าตามแผนงาน โดยคาดว่าจะเริ่มทยอยรับรู้รายได้เร็วกว่าแผนที่วางไว้ และสามารถรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าทุกโรงแบบเต็มปีตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลให้ผลการดำเนินงานต่อจากนี้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดดตามปริมาณการขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น” นายวรวิทย์ กล่าว