ลั่นฆ้องเปิดประมูลปิโตรเลียมใช้ระบบพีเอสซีตอบแทนรัฐ

18 ก.ค. 2560 | 09:40 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

การเปิดประมูลแหล่งสัมปทานเอราวัณและบงกชที่จะหมดอายุสัญญาในปี 2565-2566 ที่จะดำเนินการออกทีโออาร์ได้ในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งปัจจุบันบริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิตฯ เป็นผู้รับสัมปทานแหล่งเอราวัณ จำนวน 4 แปลง (บี10-13) ขณะที่บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เป็นผู้รับสัมปทานแหล่งบงกช 3 แปลง (บี15-17)

โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ(ชธ.) อยู่ระหว่างจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ว่าในแหล่งสัมปทานแต่ละพื้นที่จะเข้าข่ายระบบใดบ้าง ที่จะครอบคลุมไปถึงการเปิดแหล่งสัมปทานในรอบที่ 21 ในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย โดยเกณฑ์ใหม่นี้จะแบ่งเป็น 5 ภาค ประกอบด้วย 1. พื้นที่ ภาคเหนือและภาคกลาง 2. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) 3. พื้นที่ภาคตะวันออก 4. พื้นที่ในฝั่งอ่าวไทย และ5. พื้นที่ในฝั่งอันดามัน ชธ.เตรียมนำเสนอหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อกำหนดรูปแบบการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยว่าจะเป็นรูปแบบใด

ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าว เพื่อให้สอดรับกับพ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ.2560 และพ.ร.บ. ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2560 ที่เปิดทางให้การสำรวจและผลิตไว้ 3 ระบบ ได้แก่ ระบบสัญญาสัมปทาน ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) และระบบสัญญาจ้างบริการ (เอสซี)

++ใช้พีเอสซีส่งรายได้ให้รัฐ
สำหรับแนวโน้มการเปิดประมูลแหล่งเอราวัณและบงกช ที่ทาง ชธ.วางไว้ มีความเป็นไปได้ว่า จะระบบพีเอสซีมาใช้ เนื่องจากเป็นแหล่งปิโตรเลียมที่ยังมีศักยภาพ และยังอยู่ภายใต้การดูแลของภาครัฐ แต่การจัดสรรแปลงปิโตรเลียมของแหล่งเอราวัณจำนวน 4 แปลง และแหล่งบงกชจำนวน 3 แปลง จะต้องผ่านความเห็นชอบจากทาง ครม.กลางเดือนกรกฎาคมนี้ก่อน

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า การกำหนดรูปแบบการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย จะครอบคลุมทั้งการเปิดสำรวจและผลิตสัมปทานที่จะหมดอายุ และการเปิดสำรวจและผลิตสัมปทานรอบใหม่ ภายใต้เกณฑ์ใหม่ที่จะแบ่งเป็น 5 ภาค รวมถึงร่างกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับพีเอสซีและร่างกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับระบบเอสซี จะผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ก่อน

[caption id="attachment_179300" align="aligncenter" width="503"] ลั่นฆ้องเปิดประมูลปิโตรเลียมใช้ระบบพีเอสซีตอบแทนรัฐ ลั่นฆ้องเปิดประมูลปิโตรเลียมใช้ระบบพีเอสซีตอบแทนรัฐ[/caption]

++ยันออกทีโออาร์ส.ค.นี้แน่
โดยร่างกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับระบบพีเอสซี จำนวน 4 ฉบับ กรมจะเสนอ ครม. ภายในกลางเดือนกรกฎาคมนี้ ส่วนร่างกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับระบบเอสซีอีก 2 ฉบับ จะแล้วเสร็จพร้อมกับการร่างหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเปิดประมูล(ทีโออาร์) เพื่อนำเสนอ ครม.พิจารณาอย่างช้าสุดภายในเดือนสิงหาคม 2560 จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการขายทีโออาร์ และคาดว่าจะสามารถเปิดประมูลแหล่งเอราวัณและบงกชภายในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งกระบวนการประมูลสรรหาผู้ชนะจะใช้เวลา 6-7 เดือน และคาดว่าภายในไตรมาสแรกของปี 2561 จะได้รายชื่อผู้ชนะการประมูลทั้ง 2 แหล่ง หลังจากนั้นผู้ชนะการประมูลจะเริ่มเข้าไปดำเนินการ สำรวจแหล่งเอราวัณในปี 2565 และแหล่งบงกชในปี 2566

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตราการผลิตก๊าซในปี 2561-2562 ยังสามารถรักษาอัตรากำลังการผลิตเดิมไว้ได้ คือแหล่งเอราวัณอยู่ที่ 1.24 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และบงกชที่ 870 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หากการเปิดประมูลชะลอออกไปอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตหลังปี 2563 กำลังการผลิตจะเริ่มลดลง ซึ่งขณะนี้กรมอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับกรมสรรพากร ว่าจะหาแนวทางร่วมกันในการยืดอายุแหล่งผลิตได้อย่างไร เช่น ปกติแล้ว ทางเอกชนจะสามารถนำค่าใช้จ่าย นำค่าเสื่อมจากการลงทุนหลุมผลิตไปหักค่าใช้จ่ายภายใน 5 ปี แต่เมื่ออายุสัมปทานก่อนสิ้นสุดสัญญาเหลือเพียง 3 ปี จะลดระยะเวลา หรือนำช่วงเวลาที่เหลือไปหักค่าใช้จ่ายกับแหล่งผลิตแหล่งอื่นได้หรือไม่

แต่ก็ถือเป็นข่าวดีบ้างที่ทางเชฟรอนยืนยันจะผลิตในอัตราปัจจุบันไปจนถึงปี 2562 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ปตท.สผ.ยืนยันกำลังผลิตเท่าเดิมไปจนถึงปี 2563

++เข้มคุณสมบัติผู้ประมูล
ส่วนความสนใจของนักลงทุนนั้น นายศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ ผู้อำนวยการกอง กองแผนงานเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) กล่าวว่า ขณะนี้มีนักลงทุนตะวันออกกลางและจากจีน รวมทั้งรายเดิม สนใจเข้าร่วมประมูลแหล่งสัมปทานเอราวัณและบงกช โดย กรมจะต้องเข้มงวดคุณสมบัติผู้ที่จะเข้าร่วมประมูล ที่จะต้องมีประสบการณ์ ไม่ใช่พิจารณาเพียงเงินที่จะตอบแทนสู่ภาครัฐเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาถึงการกำหนดอัตราการผลิตขั้นตํ่าที่ผู้ชนะการประมูลจะต้องทำได้ตามสัญญาเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 50-70% หรือประมาณ 1-1.5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อต้องการให้การผลิตกลับมาเร็วที่สุดและต่อเนื่อง เพราะกำลังการผลิตของทั้ง 2 แหล่ง รวมกัน 2.1 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือคิดเป็น 70% ของกำลังการผลิตก๊าซในประเทศ

++ทำไม่ได้ยกเลิกสัญญา
ส่วนกรณีที่ผู้ชนะการประมูลไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ตามสัญญา จะมีบทลงโทษ และเพิกถอนสัญญาได้ ซึ่งในบทปรับจำเป็นต้องอยู่ในอัตราที่เหมาะสม หากปรับมากไป จะเป็นความเสี่ยงของผู้ประกอบการ รวมทั้งแรงจูงใจในการเข้าร่วมประมูล ส่วนกรณีชนะประมูลแล้วทำไม่ได้ และต้องถูกเพิกถอนสัญญา จะเปิดให้รายอื่นเข้ามาดำเนินการแทน เพื่อให้การผลิตกลับมาเร็วที่สุด

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ สะท้อนว่า การเปิดประมูลแหล่งเอราวัณและบงกช รัฐมีข้อมูลเดิมที่ชัดเจนอยู่แล้ว จึงควรจะใช้ระบบพีเอสซี ในการกำหนดผลตอบแทนภาครัฐและจูงใจการลงทุนเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน ในขณะที่การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ 29 แปลง เห็นว่า แหล่งส่วนใหญ่อยู่บนบก ควรใช้ระบบสัมปทานไทยแลนด์ทรีพลัส ถือเป็นระบบที่มีความเหมาะสมกับสภาพธรณีวิทยาของแหล่งปิโตรเลียม และจากที่เปิดสัมปทานมา 20 รอบแล้ว ส่วนใหญ่จะเจาะไม่เจอปิโตรเลียม ดังนั้นการใช้ระบบสัมปทานนับว่ามีความเหมาะสมแล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,279 วันที่ 16 - 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2560