การบินไทย ฉลาดใช้พลังงาน ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

08 ก.ค. 2560 | 09:30 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

หากผ่านมาทางถนนวิภาวดีรังสิต ตึกหนึ่งที่ตระหง่านเตะตา ก็คือ อาคารสำนักงานใหญ่ของการบินไทย ซึ่งในบริเวณนั้นมีตึกรวมกันอยู่ 13 ตึก อายุเฉลี่ยของตึกคือประมาณ 20 ปี เพราะฉะนั้น ตามหลักบริหารจัดการตึก 20 ปีขึ้นไป ก็จะต้องมีการปรับปรุงกันอยู่เรื่อยๆ ซึ่งก็ต้องบอกว่าอาคารเหล่านี้ได้รับการปรับปรุงอยู่เรื่อยๆ ตามงบประมาณและความเหมาะสม แต่ที่แน่ๆ คือ อาคารเหล่านี้ได้รับการบริหารจัดการให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อเนื่อง

[caption id="attachment_174269" align="aligncenter" width="503"] MP31-3276-1 สถิตย์ เดชกุญชร[/caption]

“สถิตย์ เดชกุญชร” ผู้อำนวยการฝ่ายอาคารและสถานที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บอกว่า การบินไทยทำเรื่องสิ่งแวดล้อม และพลังงาน ตามมาตรฐาน ISO 14001 และ ISO 50001 โดยมีโครงสร้างคณะทำงาน 2 ชุด EMC คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม และอีกชุด คือ EMMC อันนี้ดูแลเรื่องพลังงาน เป็นนโยบายจากผู้บริหารระดับสูง อาคารของการบินไทยทั้งที่ดอนเมือง อู่ตะเภา และสุวรรณภูมิ ใช้นโยบายเดียวกันหมด

ผู้อำนวยการฝ่ายอาคารฯ อธิบายรายละเอียดว่า เรื่องของสิ่งแวดล้อม จะบริหารจัดการทั้ง การใช้นํ้า การบำบัดนํ้าเสีย มีการวัดค่านํ้าทุกเดือน เรื่องไฟฟ้า ทำเรื่องการประหยัดพลังงาน ดูว่าในอาคารสำนักงานจะมีวิธีการประหยัดอย่างไรที่ไม่ต้องใช้เงินเลย นั่นคือให้พนักงานช่วยกันดูแล ปิดนํ้า ปิดไฟ ที่ไม่จำเป็น พร้อมทั้งมีมาตรการจากฝ่ายอาคารฯ ควบคู่ไปด้วยกัน และยังมีระบบการปิด-เปิดไฟอัตโนมัติ (Building Automation System) เข้ามาดูแล โดยการบินไทยมีเป้าหมายให้ลดการใช้พลังจากเดิมลง 10% ทุกปี นับจากปี 2538 เป็นต้นมา

MP31-3276-3 ส่วนการจัดการขยะ มีการแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ขยะทั่วไป ขยะอันตราย และขยะรีไซเคิล ที่ผ่านมาการบินไทยสามารถสร้างรายได้จากการจัดขยะเหล่านี้เป็นหลักหมื่นบาทต่อเดือน ช่วยให้มีรายได้มาเสริมในการจัดกิจกรรมต่างๆ ภายในองค์กร

MP31-3276-4 อีกส่วนที่การบินไทยร่วมดูแลคือ ชุมชนที่เกี่ยวข้อง ด้านหลังสำนักงานการบินไทย จะมีตลาดลุงเพิ่มและตลาดป้าชู ได้มีการสื่อสารให้ช่วยกันทำความสะอาดถนน ท่อระบายนํ้า และการจัดถังขยะโดยขอความร่วมมือจากกรุงเทพมหานคร ส่วนด้านหน้า ได้จับมือกับกลุ่มเซ็นทรัลและเอกชนที่มีอาคารอยู่บนเส้นวิภาวดี-รังสิต รวมกลุ่มกัน เพื่อทำคูคลองให้สะอาด มีการปลูกต้นไม้ ปลูกบัว สร้างทัศนียภาพที่สวยงาม

MP31-3276-5 “สถิตย์” บอกว่า การดูแลบริหารจัดการอาคารเก่า อย่างอาคารที่หลานหลวง ก็ใช้วิธีการใช้ผนังเป็นเปลือกภายนอกห่อหุ้มโครงสร้างหรือตัวอาคารไว้ หรือเรียกว่า Cladding แสงที่มากระทบตึกก็จะไม่โดนอาคารโดยตรง ทำให้ลดปัญหาด้านความร้อนลง ขณะเดียวกัน ก็มีการใช้ระบบ Preventive vsRepair Maintenance System ช่วยจดบันทึกการทำงานของเครื่องจักร ซื้อมาเมื่อไร ทำงานเท่าไร ซ่อมบำรุงกี่ครั้ง แล้วนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ เป็นการป้องกัน (preventive) อย่างสมํ่าเสมอ ก็จะช่วยลดค่าซ่อมบำรุงไปได้มาก

นอกจากระบบบริหารจัดการ ของฝ่ายอาคารเองแล้ว ก็มีกิจกรรมกระตุ้นเพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับพนักงานช่วยกันดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม และลดการใช้พลังงาน เช่น กิจกรรม “การบินไทย ฉลาดใช้พลังงาน ครั้งที่ 7”

MP31-3276-2 ผู้บริหารอาคารการบินไทย ทิ้งท้ายว่า การเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร มีพนักงาน outsource เข้ามาทำงานมากขึ้น ก็ส่งผลกระทบกับการบริหารจัดการด้านพลังงานเหมือนกัน เพราะต้องมาทำความรู้ ความเข้าใจกันใหม่ ต้องมีการจัดอบรมพนักงานที่รับจ้างชั่วคราวทุกครั้งก่อนเข้ารับงาน หรือแม้แต่การปรับเปลี่ยนที่นั่งของพนักงาน ก็มีผลกับพลังงานเช่นกัน เพราะต้องมีการจัดโต๊ะใหม่ จัดสภาพแวดล้อมใหม่ แสงที่ตกกระทบกับโต๊ะทำงานอาจไม่ได้ตำแหน่งที่เหมาะสม ก็ต้องมีการจัดกันใหม่อีก ซึ่งนั่นหมายถึงงบประมาณที่เพิ่มขึ้น

“ห้องๆ หนึ่ง เมื่อเก็บของที่ไม่จำเป็นออก แอร์จะเย็นขึ้น แสงก็จะสว่างขึ้น เพราะของในห้อง จะดูดซับความเย็น ใครที่ชอบเก็บของไว้ในบ้าน พึงระวัง ของที่ไม่ใช่ ขายก็ได้ตังค์ ให้ก็ได้บุญ”

ข้อคิดง่ายๆ กับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา ซึ่งมีผลต่อสิ่งแวดล้อมโลกด้วยเช่นกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,276 วันที่ 6 - 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2560