สภาพัฒน์ชงถก 6 ประเด็นเร่งด่วนขับเคลื่อนอนาคตไทย 3 ก.ค.นี้

28 มิ.ย. 2560 | 23:55 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดจัดการประชุมประจำปี 2560 เรื่อง “ขับเคลื่อนแผนฯ 12 สู่อนาคตประเทศไทย”ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมและแสดงปาฐกถาพิเศษ

ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เผยว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดจัดการประชุมประจำปี 2560 เรื่อง “ขับเคลื่อนแผนฯ 12 สู่อนาคตประเทศไทย”ในวันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม 2560 เวลา 9.00-17.00 น. ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรีเพื่อนำเสนอประเด็นการพัฒนาหลักภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) และแนวทาง/กลไกการขับเคลื่อนสู่ระดับปฏิบัติในมิติต่างๆ เพื่อวางรากฐานที่แข็งแกร่งของประเทศในช่วงระยะ 5 ปีแรกของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ปรเมธี

นอกจากนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคีการพัฒนาจากทุกภาคส่วนของสังคม ได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางและกลไกในการขับเคลื่อนแผนฯ 12 ในมิติต่างๆ นำไปสู่การปฏิบัติและสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับหน่วยงานรับผิดชอบ ทั้งในภาครัฐ เอกชนและสาธารณชนถึงความเชื่อมโยงของกรอบแนวคิดต่างๆของการพัฒนาประเทศไทย และกลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาในบริบทของการบริหารราชการแผ่นดินในปัจจุบัน อาทิ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)และ Thailand 4.0

ทั้งนี้เพื่อให้การขับเคลื่อนในระดับการปฏิบัติเกิดการบูรณาการที่สัมฤทธิ์ผล และมีเป้าหมายตัวชี้วัดที่สอดคล้องกัน อนาคตที่ต้องเผชิญ กำจัดจุดอ่อน แก้ปัญหาให้ตรงจุด พร้อมวางรากฐานการพัฒนาอย่างจริงจังจากสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดสิ่งที่ต้องเผชิญในอนาคต ได้แก่ เทคโนโลยีจะพลิกโฉมในทุกด้าน เกิดเศรษฐกิจและสังคมโลกโฉมใหม่ การดำเนินชีวิตและคุณภาพชีวิตจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ทรัพยากรมีจำกัด กฎเกณฑ์การดูแลสิ่งแวดล้อมเข้มงวด และมี SDGs เป็นเป้าหมายที่ต้องยึดเป็นแนวทางปฏิบัติให้บรรลุผล

โลกมีความเสี่ยงจากภัยรูปแบบใหม่ที่หลากหลายภายใต้โลกไร้พรมแดน มีความเสี่ยงเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร น้ำ และพลังงาน ที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงผันผวน ประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ต้องใช้เทคโนโลยีและกฎระเบียบในการบริหารจัดการเกิดการหลั่งไหลและเคลื่อนย้ายของสินค้า บริการ คน องค์ความรู้และข้อมูลข่าวสารอย่างเสรี การแข่งขันรุนแรงขึ้น ต้องแข่งขันกันด้วยคนคุณภาพ ประสิทธิภาพ สร้างสรรค์และนวัตกรรม ประชาคมอาเซียนและอนุภูมิภาคไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน มีความร่วมมือใกล้ชิดไทยใช้และได้ประโยชน์จากการเป็นประตูสู่เอเชีย

สังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ในปี 2564 สังคมสูงวัยสุดยอดปี 2579 ประชากรไทยจะลดลงตั้งแต่ปี 2570 กลุ่มเด็กและวัยแรงงานลดลง เป็นความเสี่ยงด้านการคลัง การออม ศักยภาพทางเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตในสังคมประชาชนจะเป็นผู้กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยรัฐจะเป็นผู้อำนวยความสะดวก

สศช.

ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาประเทศไทยสู่อนาคตอย่างมีทิศทาง จำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหาและกำจัดจุดอ่อน
ของประเทศอย่างจริงจัง แก้ปัญหาพื้นฐานสำคัญให้ตรงจุด และวางรากฐานการพัฒนาประเทศที่ต้องทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ได้แก่คุณภาพคน ที่ขาดความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่จะสร้างคุณค่าของงาน ขาดวินัย และการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุและผล มีวิกฤติค่านิยมและพฤติกรรมในการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม มีปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ กำลังคน

ขาดแคลนประชากรวัยแรงงาน และเข้าสังคมผู้สูงวัยอย่างรวดเร็ว สังคม มีความเหลื่อมล้ำสูงทั้งรายได้ การเข้าถึงทรัพยากร คุณภาพการบริการทางสังคม และกระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจ ประเทศไทยเป็นเพียงผู้ซื้อและใช้นวัตกรรม การวิจัยและพัฒนามีน้อย ขาดการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องทรัพยากรธรรมชาติใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง ไม่คำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว ภาครัฐ มีขนาดใหญ่ การบริหารจัดการขาดประสิทธิภาพ ขาดความโปร่งใส ขาดการรับผิดรับชอบ และมีปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นวงกว้าง

สำหรับการประชุมประจำปี 2560 ของ สศช. ครั้งนี้ จึงกำหนด 6 ประเด็นการขับเคลื่อนการพัฒนาที่มีความสำคัญเร่งด่วนและมีลำดับความสำคัญสูงในแผนฯ 12 สู่การปฏิบัติ เป็นหัวข้อการประชุมกลุ่มย่อย รวมทั้งกำหนดเป้าหมายที่ควรจะต้องบรรลุใน6 ประเด็นการพัฒนาดังกล่าว ได้แก่

กลุ่มที่ 1 ศักยภาพคนไทยเพื่ออนาคตประเทศไทย ส่งเสริมคนไทยให้สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงและกำหนดเส้นทางชีวิตในอนาคต มีระบบการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้อย่างมีเป้าหมาย สร้างสรรค์ มีส่วนร่วม และนำไปปฏิบัติได้จริง การบริการสุขภาพที่มีคุณภาพทั่วถึงทุกพื้นที่ และพัฒนาระบบสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมภายใต้ระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ

กลุ่มที่ 2 นวัตกรรมนำสู่อนาคตประเทศไทย ส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรม รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพให้ภาคการผลิต การค้า และบริการ สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทุกกลุ่มอย่างยั่งยืน

กลุ่มที่ 3 เกษตรกรยุคใหม่เพื่ออนาคตประเทศไทยเน้นการยกระดับความสามารถในการแข่งขัน โดยการสนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ให้มีการวางแผนอย่างมีระบบ มีองค์ความรู้ สามารถนำนวัตกรรม เทคโนโลยี
มาปรับใช้อย่างเหมาะสม เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

กลุ่มที่ 4 โครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ เพื่ออนาคตประเทศไทยมุ่งเน้นเป้าหมายหลัก 4 ประการ ได้แก่ การขยายขีดความสามารถและพัฒนาคุณภาพการให้บริการ การเชื่อมโยงอนุภูมิภาคและอาเซียนอย่างเป็นระบบ เพื่อการพัฒนาพื้นที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ การพัฒนาระบบบริหารและการประยุกต์ใช้นวัตกรรม และการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพออกไปลงทุนในต่างประเทศ

กลุ่มที่ 5ภาครัฐดิจิทัลเพื่ออนาคตประเทศไทย ยกระดับการบริหารจัดการราชการแผ่นดิน และการบริการประชาชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ติดต่อสื่อสารได้รวดเร็ว และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดและสะท้อนความต้องการต่อบริการของภาครัฐ รวมทั้งตรวจสอบการทำงานของภาครัฐเพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น

กลุ่มที่ 6การพัฒนาพื้นที่ ภาค และเมืองสู่อนาคตประเทศไทย กำหนดแนวทาง กลไก และมาตรการ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ภาคและเมืองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่เศรษฐกิจ สนับสนุนการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค