"มีชัย"เตรียมหารือ"กกต."19 มิ.ย.หวั่นไพรมารี่โหวตกระทบเลือกตั้ง

16 มิ.ย. 2560 | 11:26 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

“มีชัย” ชี้ ไพรมารี่โหวตหวั่นส่งผลกระทบเลือกตั้งครั้งหน้า เล็งถกกกต.หาทางออก 19 มิ.ย.นี้ เชื่อระดับเขตปฏิบัติยาก เหตุพรรคการเมืองเตรียมตัวไม่ทัน

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีทสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ปรับแก้ให้พรรคการเมืองใช้ระบบไพรมารีโหวตก่อส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ... ว่าขณะนี้ กรธ.กำลังดูเนื้อหาของร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองที่สนช.ได้ปรับแก้ไขว่ามีความสมบูรณ์หรือไม่อย่างไร ตนเห็นว่าเรื่องไพรมารี่โหวตที่ สนช.ได้กำหนดว่าให้เลือกผู้สมัคร ส.ส.จากการเลือกของสมาชิกพรรคการเมืองในระดับเขตนั้น เรื่องนี้ถือว่าเข้มกว่าสิ่งที่กรธ.ได้กำหนดไว้ และเป็นสิ่งที่เร็วเกินไปสำหรับพรรคการเมืองด้วย ถ้าพรรคการเมืองทำไม่ได้จะทำอย่างไร

[caption id="attachment_164278" align="aligncenter" width="503"] นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายมีชัย ฤชุพันธุ์[/caption]

นายมีชัย กล่าวต่อว่า มีข้อกังวลว่าสมมติว่าถ้าพรรคการเมืองส่งรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.มาแล้ว ถ้ามีคนโต้แย้งบอกว่ารายชื่อที่ส่งมานั้นยังใช้กระบวนการไม่ครบถ้วน ตรงนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)จะทำอย่างไร จะไม่รับสมัครเขาหรือไม่ หรือถ้าหากมีการเลือกตั้งแล้วและมีคนมาแย้ง ผลจะเป็นอย่างไร ข้อบังคับเหล่านี้ถือว่ามีผลกระทบต่อพรรคการเมืองมากในทางปฏิบัติและที่สำคัญจะต้องดูด้วยว่าพรรคการเมืองจะใช้เวลากี่วันเพื่อทำให้ได้ตามข้อบังคับนี้ สมมติว่าเวลาจะเลือกตั้ง ถ้าหากเป็นกรณียุบสภาแล้วบอกให้เลือกตั้งภายใน 45วัน แล้วจะทำอย่างไร จะใช้เวลาเท่าไรถึงจะทำได้ตามกำหนดเวลาการใช้ข้อบังคับนี้

“ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าจะตั้งกรรมาธิการร่วมหรือไม่ แต่หากจะตั้งก็คงจะแย้งในประเด็นขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ที่ระบบไพรมารี่โหวตจะส่งปัญหากระทบต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าไม่ราบรื่น เนื่องจากพรรคการเมืองอาจมีเวลาเตรียมตัวไม่ทัน โดยจะต้องมีการหารือกับผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ กกต.อีกครั้งในวันที่ 19 มิ.ย. เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับปัญหานี้” นายมีชัย กล่าว

ประธาน กรธ. กล่าวต่อว่า ถ้าหากมองแค่หลักการว่าต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมนั้นก็เป็นเรื่องดี เพราะหากจะลงสมัครในเขตไหนก็ต้องยอมพรรคการเมืองในเขตนั้น แต่ในทางปฏิบัติเรื่องนี้คงไม่ใช่ง่าย พรรคการเมืองขนาดใหญ่และขนาดกลางก็คงจะได้รับผลกระทบจากข้อบังคับนี้ แต่ถ้าหากกำหนดว่าต้องมีสาขาพรรคในทุกจังหวัดแล้วสามารถลงเลือกตั้งได้ทุกเขต ตรงนี้ก็จะมีความเหมาะสมมากกว่า

เมื่อถามว่า ขณะนี้การพิจารณาร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองเข้าสู่วาระ 3 แล้ว ควรจะให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมได้หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ปลดไม่ได้เพราะว่ากำหนดเวลานั้นถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว สิ่งที่ กรธ.จะทำได้ก็คือส่งกฎหมายฉบับหลังๆไปให้ สนช.ช้าหน่อย เพื่อให้พรรคการเมืองได้มีเวลาหารือกันมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามก็ยังอยู่ในกรอบเวลา 240 วัน ที่ กรธ.จะต้องส่งกฎหมายให้ สนช. ส่วนการปลดล็อคพรรคการเมืองนั้นจะต้องดูกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองและร่างพ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ในสภาพสมบูรณ์ก่อน จึงจะรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ตนเชื่อว่าเมื่อกฎหมายพรรคการเมืองออกมาบังคับใช้แล้ว ก็คงต้องมีการปรับกลไกเพื่อให้พรรคการเมือง สามารถทำกิจกรรมตามที่กฎหมายกำหนดได้ แต่จะปรับกลไกมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องถามไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.

เมื่อถามถึง กรณีที่นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมาระบุว่าการทำไพรมารี่โหวตระดับเขตอาจทำให้ ส.ส.แบบแบ่งเขตถูกครอบงำโดยผู้มีอิทธิพลได้ และจะส่งผลทำให้เกิดการเมืองลักษณะแบบตระกูลขึ้นมา นายมีชัย กล่าวว่า คนที่คิดเรื่องนี้ตั้งใจจะแก้ปัญหานี้