กระทรวงเกษตรฯยกเครื่องมาตรฐานข้าวทั้งระบบ

01 มิ.ย. 2560 | 03:11 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

กระทรวงเกษตรฯยกเครื่องมาตรฐานข้าวทั้งระบบ ชูเรื่องคุณภาพ มุ่งยกระดับการผลิต และเพิ่มมูลค่า

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันข้าวไทยเป็นที่ต้องการในตลาดโลก โดยปี 2559 ไทยส่งออกข้าวไปยังตลาดต่างประเทศกว่า 9.9 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า ไม่ต่ำกว่า 1.54 แสนล้านบาท ซึ่งส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพสูง มีการส่งออกปีละ 2.37 ล้านตัน มูลค่าข้าวหอมมะลิ 5.4 หมื่นล้านบาท ดังนั้นเพื่อยกระดับมาตรฐานข้าวไทยให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น เป็นไปตามความต้องการของตลาดที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น และสนองต่อนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่กำหนดให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่ความยั่งยืน คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรในการประชุมวันที่ 25 พฤษภาคม 2560 มีมติเห็นชอบมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับข้าวไทยทั้งระบบ รวม 5 ฉบับ โดยเป็นการปรับปรุงมาตรฐานข้าวไทย จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ มาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย ข้าวหอมไทย ข้าวไทย และมาตรฐานฟาร์ม GAP เมล็ดพันธุ์ข้าว และ ประกาศมาตรฐานข้าวสีไทย ขึ้นใหม่ จำนวน 1 ฉบับ

“มาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย จัดทำมาตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งเป็นเวลามากกว่า 14 ปี รวมทั้งมาตรฐานสินค้าข้าวทั้ง 3 ฉบับ (ข้าวหอมมะลิไทย ข้าวหอมไทย และข้าวไทย) ได้ประกาศใช้มานานเกิน 5 ปีแล้ว ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงมาตรฐานให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์และข้อเท็จจริงการซื้อขายข้าวในปัจจุบัน  ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพมาตรฐานการผลิตให้ดีขึ้น และช่วยให้เกษตรกรไม่เสียเปรียบในการซื้อขายข้าว รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศอีกด้วย โดยในการปรับปรุงมาตรฐานครั้งนี้ ได้หารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมการค้าอีกด้วย”นางสาวชุติมา กล่าวและว่า

สาระสำคัญของการปรับปรุงแก้ไขมาตรฐาน คือ การปรับปรุงเกณฑ์ความชื้นและคุณภาพการขัดสีของข้าวเปลือกโดยกำหนดความชื้นและคุณภาพการขัดสีของข้าวเปลือก ซี่งกำหนดความชื้นเป็น 2 ระดับ คือ ความชื้นข้าวเปลือกในการซื้อขาย 15 % และความชื้นข้าวเปลือกในการเก็บรักษา 14 % จากเดิมกำหนดเพียงค่าเดียว ซึ่งจะทำให้เกษตรกรไม่เสียเปรียบ เนื่องจากปัจจุบัน การซื้อขายเป็นข้าวเปลือกสด ซึ่งมีความชื้นมากกว่าข้าวเปลือกแห้ง นอกจากนี้ยังมีการกำหนด % ข้าวเมล็ดแดงหรือข้าวปนให้เข้มข้นขึ้นเหลือเพียงไม่เกิน 1% เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้า รวมทั้งเพิ่มเติมวิธีการทดสอบการปนของข้าวอื่นในข้าวหอมมะลิ โดยวิธีการต้ม เพื่อให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการทดสอบที่ใช้ต้นทุนต่ำลงและปฏิบัติได้ง่าย

ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบปรับปรุงมาตรฐานฟาร์ม GAP เมล็ดพันธุ์ข้าว โดยกำหนดจำนวนเมล็ดพันธุ์ข้าวอื่นที่ปนได้ ให้มีความเข้มงวดเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ข้าว เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในการช่วยลดต้นทุนการผลิต และยกระดับคุณภาพมาตรฐานการผลิตข้าวให้เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ยังได้มีมติเห็นชอบประกาศใช้มาตรฐาน “ข้าวสีไทย” เป็นมาตรฐานของประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก ที่ผ่านมาไทยไม่เคยมีมาตรฐานข้าวสี (Color Rice) มาก่อน โดยครอบคลุมข้าวเจ้าและข้าวเหนียวในกลุ่มที่มีสีม่วง/ม่วงดำ อาทิ ข้าวเหนียวลืมผัว ข้าวไรซ์เบอรี่ และกลุ่มที่มีสีแดง เช่น ข้าวสังข์หยดพัทลุง ข้าวหอมกุหลาบแดง และข้าวทับทิมชุมแพ (กข 69) เป็นต้น การจัดทำมาตรฐานข้าวสีขึ้นมาใหม่ครั้งนี้ เพื่อผลักดันการยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าข้าว ซึ่งข้าวสี ถือเป็นสินค้าใหม่ที่มีศักยภาพสูงหรือเป็นข้าวพรีเมี่ยม ถึงแม้จะมีปริมาณการผลิตไม่มากนัก เพียงปีละ 21,000 ตัน   และมีพื้นที่ปลูกข้าวสีประมาณ 51,000 ไร่ แต่ปัจจุบันได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น และขณะนี้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวสีเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคทั้งตลาดภายในและต่างประเทศที่กำลังขยายตัว โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกาและฮ่องกง ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลัก โดยมาตรฐานฯ ข้าวสีที่จัดทำขึ้นใหม่นี้ มีข้อกำหนดที่สำคัญ อาทิ ต้องมีสีและความยาวข้าวตรงตามพันธุ์ เช่น ข้าวไรซ์เบอรี่ ต้องมีสีม่วงดำ ไม่ใช่สีแดงเข้ม ข้าวต้องมาจากฟาร์มที่ได้รับการรับรองจีเอพี (GAP) เป็นต้น

ด้านนางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวเสริมว่า การปรับปรุงมาตรฐานข้าวทั้ง 4 ฉบับ ทั้งมาตรฐานสินค้าและมาตรฐานฟาร์ม GAP เมล็ดพันธุ์ข้าว รวมทั้งการประกาศใช้มาตรฐานใหม่ 1 ฉบับ คือ มาตรฐานข้าวสี ซึ่งคาดว่าจะลงประกาศใช้โดยลงในราชกิจจานุเบกษาได้ภายในกลางเดือนมิถุนายนนี้ นับว่าเป็นการยกระดับข้าวไทยครบวงจรที่สำคัญ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องในวงการข้าวอย่างแท้จริง อาทิ เกษตรกร จะได้ยกระดับการผลิตข้าว รวมทั้งไม่เสียเปรียบในการซื้อขายข้าว ส่วนผู้บริโภค สามารถมั่นใจในคุณภาพมาตรฐานข้าว รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าข้าวไทยในตลาดโลกด้วย