จีนโอกาสและความท้าทายของไทยในศตวรรษที่ 21

15 เม.ย. 2560 | 01:17 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เศรษฐกิจโลกเผชิญกับปัญหาที่เรียกว่า “New Normal” หรือ การที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง และเผชิญความไม่แน่นอนต่างๆ ในภูมิรัฐศาสตร์โลก (เศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจ อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ Brix และนโยบายการค้าของสหรัฐฯ) ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจอย่างจีน ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารประเทศมาเน้นการบริโภคภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น ลดการพึ่งพาการส่งออก และ มุ่งการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน โดยไม่เน้นการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนเกินไป ทั้งนี้การดำเนินนโยบายของนายสี จิ่น ผิง ประธานนาธิบดีจีน ผู้ซึ่งนิตยสาร Forbes คัดเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิผลมากที่สุดในปี 2559 ที่ผ่านมา ให้ความสำคัญกับประเด็นในเรื่องของ “โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ” (Economic Globalization) โดยจีนจะยังเปิดประตูการค้าและการลงทุนกับโลก โดยไม่ปิดกั้นต่อการลงทุนจากต่างประเทศและระบบการค้าเสรีรวมทั้งเดินหน้าผลักดันกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ ต่อไป

ไทยเห็นศักยภาพและโอกาสต่างๆ ในประเทศจีน และเห็นว่ามีความร่วมมือในหลายด้านที่ไทยและจีนสามารถผลักดันร่วมกันได้ เช่น ในรูปแบบของการ เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ทั้งนี้ในปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างการดำเนินนโยบายประเทศไทย 4.0 เพื่อให้ไทยก้าวข้ามปัญหาประเทศกับดักรายได้ปานกลาง โดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ส่วนจีนก็มีแผนยุทธศาสตร์ “Made in China 2025” ซึ่งเน้นเทคโนโลยี การผลิตขั้นสูง และสินค้านวัตกรรม เช่น การใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมต่างๆ การพัฒนาอุตสาหกรรมอัจฉริยะ การพัฒนาแพลตฟอร์ม Industrial Cloud และ Big Data เป็นต้น โดยเน้นการแข่งขันด้านคุณภาพ เทคโนโลยีการผลิตระดับสูง และนวัตกรรม แทนที่จะแข่งขันด้านราคาเหมือนที่เคยเป็นมา ซึ่งนโยบายของไทยและจีนถือว่ามีความสอดรับกัน และควรพัฒนาสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ให้แนบแน่นมากยิ่งขึ้น โดยสาขาความร่วมมือที่ไทยมีโอกาสและความเป็นไปได้ในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ อาทิ การพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย คลัสเตอร์อุตสาหกรรม ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานการปรับปรุงห่วงโซ่การผลิต เป็นต้น

นอกจากนี้หากมองไปที่ Mega Trend ใหม่ของโลกแล้ว จะพบว่าประเทศจีนล้วนแล้วแต่เป็นผู้นำ เช่น การเติบโตและขยายตัวของเมือง การซื้อสินค้าออนไลน์ ระบบขนส่งความเร็วสูงและโลจิสติกส์ และเศรษฐกิจสีเขียว เป็นต้น เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ มีผู้บริโภคและมีประชากรวัยหนุ่มสาว  เป็นจำนวนมาก จึงเป็นพลังอำนาจที่สำคัญในเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จึงได้วางยุทธศาสตร์/แผนกิจกรรมในการเจาะตลาดจีน โดยคำนึงถึง Mega Trend ดังกล่าวข้างต้น ผ่านยุทธศาสตร์ ที่สำคัญ อาทิ

1.การขยายตลาดส่งออกโดยเน้นตลาดเมืองรองที่มีศักยภาพของจีน เช่น หนานจิง อู่ฮั่น เซี่ยเหมิน เฉินตู และฉงชิ่ง เป็นต้น 2.การเจาะตลาดผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง เช่น ผู้สูงอายุ คนทำงาน และสินค้าฮาลาล 3.การขยายตลาดโดยช่องทางออนไลน์ ณ นครเซี่ยงไฉ้ คุนหมิง หนานหนิง เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนยุคใหม่นิยมใช้ระบบออนไลน์เป็นสื่อกลางในการซื้อขายสินค้า และ4.การนำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงาน Top Thai Brand, The China ASEAN Expo

ในขณะที่ ผู้ประกอบการไทยก็สามารถใช้ประโยชน์จาก FTA ที่ทำกับประเทศจีน ภายใต้กรอบ ASEAN-China FTA ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2548 ในส่วนของสินค้า กรกฎาคม 2550 ในส่วนของบริการ และกุมภาพันธ์ 2553 ในส่วนของการลงทุน ซึ่งภายใต้ FTA ดังกล่าว ทั้งไทยและจีน ลดภาษีเป็น 0 มากกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด

อนึ่ง จีนเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของไทยในปี 2559 โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึง 2,324,384.51 ล้านบาท แยกเป็นการส่งออก 833,857.71 ล้านบาท โดยมีสินค้าส่งออกที่สำคัญ เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เม็ดพลาสติก และยางพารา เป็นต้น และการนำเข้า 1,490,526.80 ล้านบาท โดยมีสินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และเครื่องจักรกล เป็นต้น ซึ่งในปี 2560 นี้ กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าการค้าไทย-จีน ขยายตัวร้อยละ 4