สงกรานต์คนกรุง ปี’60 คาดเม็ดเงินใช้จ่าย 23,000 ล้านบาท

05 เม.ย. 2560 | 01:20 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สงกรานต์คนกรุง ปี’60 : คาดเม็ดเงินใช้จ่าย 23,000 ล้านบาท ... เทคนิคการตลาดที่โดนใจ ยังดึงกำลังซื้อผู้บริโภคได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2560 คนกรุงเทพฯ มีการจับจ่ายใช้สอยคิดเป็นเม็ดเงิน 23,000 ล้านบาท  ทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงสงกรานต์ปีที่แล้ว อันเป็นผลจากคนกรุงฯ ยังคงกังวลในเรื่องของค่าครองชีพ อีกทั้งคนกรุงฯ บางส่วนได้มีการใช้จ่ายไปแล้วในช่วงปลายปีก่อน จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐที่ออกมา จึงทำให้ยังคงระมัดระวังการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง และอาจจะไม่ได้หนุนธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากเท่าปีก่อน สะท้อนได้จากผลการสำรวจที่พบว่า คนกรุงฯ ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 64 หันมาปรับพฤติกรรมและกิจกรรมต่างๆ ในช่วงสงกรานต์ลง เช่น ลดการกินเลี้ยงสังสรรค์รื่นเริง มาเป็นการกินเลี้ยงเล็กๆ ในกลุ่มครอบครัวหรือเพื่อนฝูง รวมถึงลดการซื้อของขวัญหรือ  ช็อปปิ้งของที่ไม่จำเป็นลง เป็นต้น

นอกจากนี้ ความไม่สะดวกในการเดินทาง สภาพอากาศที่ร้อนและไม่มีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐเช่นเดียวกับปีก่อน จึงทำให้บรรยากาศในการจับจ่ายใช้สอยของคนกรุงฯ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้อาจจะไม่คึกคักมากนัก สอดรับกับรูปแบบของการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ที่ยังคงงดกิจกรรมรื่นเริง เน้นรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไทย เช่น กิจกรรมรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ เป็นต้น

ทั้งนี้ เม็ดเงินค่าใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2560 แยกเป็นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงสังสรรค์ (อาหารและเครื่องดื่ม) 8,800 ล้านบาท ค่าที่พัก/เดินทาง 5,800 ล้านบาท ช็อปปิ้ง 4,400 ล้านบาท ทำบุญไหว้พระ 2,000 ล้านบาท และกิจกรรมอื่นๆ อาทิ ค่าเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ / ดูหนังฟังเพลง/ เล่นน้ำสงกรานต์ 2,000 ล้านบาท รวมเป็นเม็ดเงิน 23,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อน

สงกรานต์ปีนี้คนกรุงฯ กว่าร้อยละ 44.0 วางแผนทำกิจกรรมในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน : รองลงมาคือ กลับบ้านต่างจังหวัด (ร้อยละ 34) และท่องเที่ยว (ร้อยละ 22) โดยกิจกรมหลักที่คนกรุงฯ วางแผนจะทำคือ การนัดเลี้ยงสังสรรค์ พักผ่อนอยู่บ้านและทำบุญตักบาตร ตามลำดับ ทั้งนี้ ในส่วนของการนัดเลี้ยงสังสรรค์ ซึ่งเป็นกิจกรรมยอดนิยมนั้น จากผลการสำรวจจะพบว่า คนกรุงฯ ส่วนใหญ่ยังให้ความนิยมนัดเลี้ยงสังสรรค์ตามร้านอาหารในห้างสรรพสินค้ามากที่สุด รองลงมาคือ ร้านอาหารทั่วไปและสั่งบริการฟู้ดเดลิเวอรี่ (Food Delivery) ตามลำดับ แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ การนัดเลี้ยงสังสรรค์ตามร้านอาหาร (ทั้งร้านอาหารทั่วไปและในห้างสรรพสินค้า) มีสัดส่วนที่ลดลง แต่ไปเพิ่มในส่วนของการสั่งบริการฟู้ดเดลิเวอรี่มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังพบข้อสังเกตว่า ในปีนี้คนกรุงฯ ปรับลดโปรแกรมท่องเที่ยวและหันมาทำกิจกรรมพักผ่อนอยู่กับบ้านมากขึ้น อาทิ ดูหนัง/ ดูทีวี เล่น Social Media ติดตามความเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ รวมถึงการสั่งอาหารและเครื่องดื่มเดลิเวอรี่มารับประทานภายในบ้าน (เนื่องจากสะดวก ง่าย อากาศร้อน ไม่อยากเปียกน้ำ ร้านประจำปิดบริการ ฯลฯ) ซึ่งพฤติกรรมผู้บริโภคในลักษณะนี้ อาจทำให้ภาคธุรกิจต้องหันมาปรับแนวทางการทำตลาด เพื่อดึงกำลังซื้อของคนกลุ่มนี้ให้หันมาจับจ่ายใช้สอยให้ได้ แม้ว่าจะไม่ออกจากบ้าน

 ธุรกิจที่ตอบโจทย์แนวทางการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ ... ยังมีโอกาสทำตลาดหรือเพิ่มยอดขายในช่วงสงกรานต์ปีนี้ : อาทิ ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ (E-Commerce) อย่างกลุ่มสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ธุรกิจบันเทิงออนไลน์ (Online Entertainment) ไม่ว่าจะเป็น ดูหนัง/ฟังเพลงออนไลน์ ทีวีออนไลน์ เกมออนไลน์ รวมถึงธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร (Delivery Service) ทั้งร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดและร้านอาหารที่มีบริการส่งถึงที่ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ตอบสนองวิถีคนเมืองที่นิยมความรวดเร็ว สะดวกสบาย ไม่อยากต่อคิวหรือออกจากบ้าน อีกทั้งรูปแบบการให้บริการยังสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้เวลากับสังคมออนไลน์มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น-วัยทำงาน ที่เข้าถึง Social Media อยู่เป็นประจำ ทำให้คาดว่าธุรกิจกลุ่มนี้ น่าจะมีโอกาสทางการตลาดและสามารถเข้าถึงผู้บริโภคในช่วงสรานต์ได้มากขึ้น นอกเหนือจากธุรกิจเดิมที่ได้อานิสงส์ในช่วงสงกรานต์อยู่แล้ว เช่น ร้านอาหารทั่วไป ค้าปลีก ปั๊มน้ำมัน/ แก๊ส ธุรกิจท่องเที่ยว เป็นต้น

เทคนิคการทำตลาดที่โดนใจ ยังสามารถดึงกำลังซื้อคนได้ ... ภายใต้พฤติกรรมคนกรุงฯ ที่เปลี่ยนไปตามภาวะเศรษฐกิจและการใช้ชีวิต : แม้ว่าจะเป็นอีกปีที่ค่อนข้างท้าทายสำหรับผู้ประกอบการในการทำธุรกิจ แต่เทศกาลสงกรานต์ก็ถือเป็นหนึ่งในอีเว้นท์ใหญ่ของปี ที่จะสามารถใช้กระตุ้นยอดขายได้ แต่ผู้ประกอบการอาจจะต้องปรับรูปแบบการทำตลาดและเตรียมความพร้อมของธุรกิจให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันมากขึ้น เช่น

 การจัดกิจกรรมทางการตลาดผ่านกลยุทธ์ลด แลก แจก แถม ยังคงเป็นกลยุทธ์การตลาดที่ใช้กระตุ้นยอดขายและกำลังซื้อผู้บริโภคได้ดี โดยจะเห็นได้จากผลการสำรวจที่ระบุว่า หากมีกลยุทธ์ลดแลกแจกแถม จะทำให้คน   กรุงฯ หันมาตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการของมากที่สุด (ร้อยละ 39) รองลงมาคือ การจัดอีเว้นท์ร่วมสนุก/ชิงรางวัล (ร้อยละ 24) และผ่อนชำระ 0%  (ร้อยละ 18)

 เลือกช่องทางในการสื่อสารไปยังผู้บริโภคเป้าหมายให้ได้มากที่สุด โดยช่องทางที่คนกรุงฯ ส่วนใหญ่ให้การตอบรับที่ดี ยังคงได้แก่ การโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ (ร้อยละ 63) แต่อย่างไรก็ดี จากผลการสำรวจพบว่า การโฆษณาผ่าน Facebook (ร้อยละ 46) และ Application ต่างๆ อาทิ Line Instagram (ร้อยละ 17)  เป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมที่ไต่อันดับมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการควรทำการตลาดผ่านช่องทางนี้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มวัยรุ่น-วัยทำงาน เพราะผู้บริโภคกลุ่มนี้เข้าถึงช่องทางการสื่อสารเหล่านี้อยู่เป็นประจำ

การเตรียมพร้อมธุรกิจในการทำตลาดช่วงสงกรานต์ ช่วงสงกรานต์เป็นช่วงที่บางธุรกิจหยุดกิจการ แต่หากพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยการเตรียมความพร้อมที่จะให้บริการช่วงสงกรานต์ ทั้งพนักงานที่ให้บริการ สต๊อกสินค้าที่พร้อมจะส่ง ช่องทางในการส่งสินค้าและบริการไปถึงมือลูกค้า ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการทำตลาดให้ผู้ประกอบการได้

สร้างการรับรู้แบรนด์ ผ่านคอนเทนต์ที่ดึงดูดความสนใจ ซึ่งอาจจะทำเป็นหนังสั้นผ่านช่องทาง Social Media เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวที่ผูกโยงไปถึงธุรกิจ ซึ่งแม้ว่าการทำการตลาดในลักษณะนี้ อาจจะไม่ได้ผลตอบแทนมาในรูปแบบของรายได้ที่ชัดเจนในช่วงสงกรานต์ แต่จะทำให้เกิดความสนใจและพูดถึงแบรนด์ในวงกว้าง สร้างการจดจำและรับรู้ในหมู่ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ซึ่งน่าจะส่งผลบวกต่อยอดขายของธุรกิจในระยะข้างหน้าได้

kb04041 ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย