‘นิพนธ์’ สอนมวยแก้เกษตร ต้องสร้างความแม่นยำ‘ผลพยากรณ์’

06 เม.ย. 2560 | 08:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

จากที่ภาคการเกษตรทั่วโลกรวมถึงไทยต้องเผชิญความเสี่ยงจากสภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวน ส่งผลถึงผลผลิต และราคาสินค้าที่ผันผวนตลอดเวลา นอกจากนี้ยังส่งผลถึงการพยากรณ์ผลผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดของส่วนราชการไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมามักมีปัญหาผิดพลาดอยู่บ่อยครั้ง และแต่ละหน่วยงานก็มีข้อมูลที่ไม่ตรงกัน เป็นช่องทางให้ผู้ค้าฉวยโอกาสกดราคารับซื้อเพื่อเก็งกำไร โดยผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดคือเกษตรกร

ปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" สัมภาษณ์พิเศษ "รศ.ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร" นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ถึงแนวทาง/วิธีการแก้ไขปัญหาการพยากรณ์ผลลิตทางการเกษตรให้มีความแม่นยำ รวมถึงมุมมองและข้อแนะนำการจัดตั้งตลาดกลางค้าข้าวสารที่กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ

-จี้รื้อฐานข้อมูลใหม่
รศ.ดร. นิพนธ์ กล่าวยอมรับว่า ราคาพืชผลสินค้าเกษตรพยากรณ์ยากมาก กรณีเห็นชัดที่สุด คือโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาลชุดก่อน ถ้าจำกัดการส่งออกในขณะนั้น ปกติแล้วในช่วงระยะสั้นประมาณ 1-2 ฤดูผลิต ราคาข้าวในตลาดโลกก็ควรจะปรับราคาขึ้น แต่ในขณะนั้นใครจะไปรู้อนาคต เพราะจู่ ๆ อินเดียยกเลิกการห้ามส่งออกข้าว ราคาก็ร่วงทันทีเลย

"ดังนั้นอย่าไปส่งสัญญาณผิดให้กับเกษตรกร สิ่งที่ควรทำ คือ การคาดคะเนผลผลิตให้แม่นยำ เพราะแต่ถ้ามีข้อมูลที่น่าเชื่อถือระบบการเก็งกำไรจะใกล้เคียงความเป็นจริง ดังนั้นเรื่องนี้สำคัญมาก รัฐบาลต้องลงทุนเรื่องการคาดคะเนผลผลิตสินค้าเกษตรหลักๆของไทย และต้องใช้เวลาทำงานเรื่องนี้อย่างเดียวไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี จะต้องใช้เทคโนโลยีร่วมกับเจ้าหน้าที่ในภาคสนามตรวจสอบข้อเท็จจริง"

-ชี้วิธีสร้างความแม่นยำ
ทั้งนี้ในการพยากรณ์ผลผลิตสินค้าเกษตรของไทยให้มีความแม่นยำมากขึ้น จะต้องร่วมมือกันอย่างน้อย 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปกติงานพยากรณ์อยู่ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ซึ่งสำนักงานมีความรู้แต่มีบุคลากรไม่เพียงพอ ก็ต้องไปร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร ที่มีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมระดับตำบล และต้องไปร่วมมือกับเจ้าหน้าที่กรมการข้าว เพราะเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรอาจจะมีความรู้ไม่ดีเท่ากับคนกรมการข้าว แต่เจ้าหน้าที่กรมการข้าวมีไม่มาก เพราะเป็นกรมที่เล็ก เจ้าหน้าที่ไม่พอแต่มีความรู้เรื่องข้าว ก็ต้องทำงานแบบบูรณาการ

2.ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สนนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) และกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับเกษตรกร อาจจ้างคล้ายกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) เพื่อให้รายงานในพื้นที่ต่างๆ ว่าปลูกข้าวชนิดใด ปลูกวันไหน เก็บเกี่ยววันไหน เพราะชาวนาไม่ได้ปลูกข้าวชนิดเดียวตลอดชีวิต แต่จะเปลี่ยนไปมา ปีใดข้าวเหนียวราคาดีก็หันไปปลูกข้าวเหนียว หรือบางปีก็ปลูกข้าวหอมมะลิ เป็นต้น และ 3.รัฐบาลต้องลงทุนเพิ่มทั้งภาพถ่ายและการสร้างเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนในการจำแนกชนิดข้าว จะเห็นว่ามีการทำงานควบคู่กันทั้งงานด้านบริหารและงานด้านวิชาการจะมั่วไม่ได้

"ยกตัวอย่างตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าของสหรัฐอเมริกา ออสเตรียและอินเดีย จะลงทุนสร้างระบบพยากรณ์ผลผลิตการเกษตรและความเสียหายที่มีความน่าเชื่อถือป้อนให้แก่ตลาดโดยมีการปรับปรุงการพยากรณ์ทุกๆ เดือน เพราะถ้ามีระบบพยากรณ์ผลผลิต รายงานสต๊อกข้าวทั้งในมือรัฐบาล และเอกชนที่น่าเชื่อถือ ราคาจะไม่ผันผวนมากนัก ซึ่งบทเรียนที่ได้จากความผันผวนของราคาข้าวหอมมะลิของไทยที่ตกต่ำมากสุดในรอบ 9 ปี เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เกิดจากกระบวนการเก็งกำไรของพ่อค้าที่คาดว่าผลผลิตจะออกมามาก แต่ปรากฎว่าผลผลิตไม่ได้มากอย่างที่ตลาดเก็งไว้ล่วงหน้า นี่คือความผิดพลาด"

-ตลาดกลางระวังเสียเงินฟรี
รศ.ดร. นิพนธ์ กล่าวยังกล่าวถึง การจัดตลาดกลางข้าวสารที่กระทรวงพาณิชย์มีแผนจะตัดตั้งเพื่อเพิ่มช่องทางในการต่อรองซื้อขายข้าวให้ชาวนานั้น ประเมินแล้วว่าไม่ง่าย เนื่องจากโรงสีใหญ่ บางโรงทำเป็นตลาดกลางไปเปิดจุดรับซื้อแข่งกับโรงสีภาคกลางแล้ว เรื่องตลาดกลางข้าวสารนี้กระทรวงพาณิชย์ ควรจะอาศัยกลไกลที่มีอยู่แล้ว เช่น โรงสีแห่งมดมีพื้นที่มาก ก็ไปเจรจาขอเช่าพื้นที่ เพราะมีการคมนาคมที่สะดวก และมีการซื้อขายอยู่แล้ว

" แต่ถ้าไปฝืนไปลงทุนเอง ผมว่าเสียเงินฟรี เรื่องนี้เห็นด้วย แต่ต้องมีวิธีการทำให้ฉลาด และวันนี้ที่สำคัญต้องทำให้ทุกคนรู้ข้อมูลเท่าเทียมกัน เพราะถ้าข้อมูลแย่ เกษตรกรจะเสียเปรียบเช่นในอดีตที่ผ่านมา แต่ถ้าช่วงต้นฤดูชาวนาทราบว่ามีสต๊อกข้าวอยู่ในมือเอกชนเท่าไร รัฐบาลเท่าไร เป็นข้าวชนิดไหนบ้าง เช่นข้าวในสต๊อกมีข้าวเหนียวจำนวนมาก ชาวนาอาจจะเลี่ยงไปปลูกข้าวชนิดอื่น หรือปลูกพืชอื่นทดแทนเพื่อลดความเสี่ยงด้านราคา ได้ในอนาคต"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,250 วันที่ 6 - 8 เมษายน พ.ศ. 2560